ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณ
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ พระมหากรุณาธิคุณด้านคุณภาพชีวิต การอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี การพัฒนา
“แม้พ่อหลวงจากไป แต่ความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีจากพระองค์ท่านจะยังคงอยู่ในหัวใจคนไทยไปตลอดกาล” เช่นเดียวกับพระราชกรณียกิจ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอีกมากมายที่ก่อร่างสร้างประเทศให้ยังคงปรากฏแก่สายตาจนถึงทุกวันนี้
นิตยสารชีวจิต ขอร้อยเรียงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อประชาชนผ่านตัวอักษร เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
พระมหากรุณาธิคุณ : ด้านคุณภาพชีวิต
ไม่ว่าพสกนิกรจะอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารแสนห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่กำลังเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงอยู่มุมหนึ่งมุมใดของประเทศไทย น้ำพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงแผ่ไพศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก่อเกิดเป็นหลายโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ดังต่อไปนี้
โครงการพระดาบส “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส
สังคมไทยยังมีผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาอยู่มาก จนกลายเป็นภาระของสังคมและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มีคุณภาพ แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงห่วงใยในคุณภาพชีวิตของราษฎร จึงเกิดเป็นโครงการพระดาบสขึ้นมา
โรงเรียน ตชด. แสงแห่งปัญญาในพื้นที่ห่างไกล
อีกหนึ่งน้ำพระราชหฤทัยด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาจากการที่พระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระราชหฤทัย ในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่รอยต่อประเทศเพื่อนบ้านและถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้นํามาทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อจัดตั้งโรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดําเนินเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนทุกแห่งด้วยพระองค์เอง โดยโรงเรียนแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการคือ โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนบํารุงที่ 1 หรือโรงเรียน ตชด. ที่อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
การเรียนการสอนของโรงเรียน ตชด.นั้น นอกจากจะฝึกฝนความรู้เชิงวิชาการแล้ว ยังฝึกฝน “วิชาชีวิต” ซึ่งนําการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามแนวพระราชดําริมาประกอบ เช่น การทําเกษตผสมผสาน การส่งเสริมสหกรณ์ และส่งเสริมการฝึกอาชีพเพื่อให้นักเรียนมีทั้งความรู้และภูมิปัญญาสามารถอยู่ร่วมกับท้องถิ่นและธรรมชาติ หาเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืนและพอเพียงอีกด้วย