กรดไหลย้อน

บ.ก.ขอตอบ : 11 วิธีกินให้อร่อย แก้ปัญหา โรคกรดไหลย้อน

บ.ก.ขอตอบ 11 วิธีกินให้อร่อย แก้ปัญหา โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน นับเป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ เรามาดูกันว่า บ.ก. ชีวจิตมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เพื่อสู้กับโรคนี้อย่างไร

ถาม

มีปัญหา โรคกรดไหลย้อน หรือ heartburn น่ะค่ะ ไม่หายสักที จะมีวิธีแก้ปัญหา และอาหารที่ช่วยแก้ปัญหากรดไหลย้อน มีไหมคะ มีอะไรบ้าง

ตอบ

“กรดไหลย้อน” หรือบางคนเรียกว่า heartburn เป็นปัญหาสุขภาพคลาสสิกของคนสมัยนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการกินอาหารรสจัด กินอาหารเย็นดึกเกินไป และอาหารที่กินก็เป็นอาหารประเภทที่ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานในการย่อยอย่างมาก เช่น ของหวาน ของทอด เนื้อแดงทั้งหลาย

เรื่องนี้ คุณหมอประมวล จารุตระกูลชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำชีวจิตโฮมคลินิก อธิบายไว้ในนิตยสารชีวจิต คอลัมน์เรื่องพิเศษ ว่า กรดไหลย้อนเป็นโรคที่พบบ่อยมากกับคนทำงานในปัจจุบัน เกิดจากกรดในน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนผ่านหูรูดส่วนปลายของกระเพาะอาหารขึ้นไปบริเวณหลอดลมในปอด หลอดอาหาร ลำคอ กล่องเสียง ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวของอวัยวะที่กรดไหลผ่าน

หากปล่อยไว้ เพราะคิดว่าทนได้ อาการอักเสบก็จะลุกลามหรือรุนแรง อาจก่อเป็นโรคมะเร็งทางเดินอาหาร ลำคอ กล่องเสียงได้ โดยบ.ก.มีเพื่อนบางคนที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน จะรู้ว่าทรมานมาก บางวันบ.ก.เผลอกินส้มตำเป็นอาหารเย็น และดันเอ็นจอยกับรสแซ่บของเมนูยอดฮิตนี้ จึงมีอาการแสบร้อนกลางอกบ้าง ซึ่งบอกได้เลยว่า ไม่ธรรมดา โชคดีที่เป็นคนหลับง่าย สถานการณ์ไหนๆ ก็ไม่มีทางรบกวนการนอนหลับ ประกอบกับรู้ว่า อาการนี้มาจากไหน ก็รีบหยุดพฤติกรรมนั้นโดยเด็ดขาด

โดยสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน มี 3 ประการ ได้แก่

  1. พฤติกรรมการกิน ดังที่บ.ก.บอกไปแล้ว รวมทั้งการติดกาแฟ น้ำอัดลม สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ชอบสวมเสื้อผ้ารัดรูป โดยเฉพาะที่รัดหน้าท้อง หรือการออกกำลังกายที่เกร็งหน้าท้องเกินไป
  3. หูรูดหลอดอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ โดยคุณหมอประมวลเล่าว่า ในบางรายอาจเกิดจาก หลอดอาหารส่วนปลายเลื่อนต่ำกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมหย่อน
โรคกรดไหลย้อน, กรดไหลย้อน, อาการกรดไหลย้อน, ป้องกันกรดไหลย้อน, รักษากรดไหลย้อน
พฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตผิดๆ ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

และโรคกรดไหลย้อนมี 3 ระดับความรุนแรงได้แก่

  1. ระดับไม่รุนแรง ระยะนี้จะไม่แสดงอาการมากนัก มีเพียงแค่อาการจุกแน่นหน้าอกกลืนลำบาก เรอมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวเป็นครั้งคราวเนื่องจากกรดไหลย้อนไปที่หลอดอาหารเฉพาะเวลาที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
  2. ระดับปานกลาง ระยะนี้จะเกิดอาการมากและบ่อยขึ้น ในบางคนอาจมีอาการตลอดเวลา สาเหตุมาจากกรดไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารตลอดเวลา
  3. ระดับรุนแรง เมื่อเป็นในระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอ เสียงแหบ โดยเฉพาะตอนตื่นนอน

หรือพูดไปสักระยะหนึ่งแล้วเสียงค่อย ๆ แหบลง และมีอาการหอบ โดยหาสาเหตุไม่พบ ทั้งนี้เพราะกรดไหลย้อนขึ้นไปถึงกล่องเสียง หลอดลมและในบางรายอาจเกิดอาการปอดอักเสบจากกรดในน้ำย่อยร่วมด้วย

11 วิธีกินให้อร่อย แก้ปัญหากรดไหลย้อน

  1. งดอาหารมื้อเย็นหรือกินผลไม้ทดแทน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระเพาะอาหารสร้างน้ำย่อยออกมามากเกินไป หรือควรกินอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  2. งดเครื่องดื่มที่มีแก๊ส เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ฯลฯ อาหารมัน หวาน เผ็ด และอาหารประเภทปิ้ง ย่าง ทอด เพราะเป็นอาหารที่กระตุ้นการสร้างน้ำย่อย
  3. งดกินผักและผลไม้ที่มีกรดมาก เช่น ส้ม มะนาว มะเขือเทศ ฯลฯ
  4. เคี้ยวอาหารอย่างช้า ๆ ให้ละเอียด เพื่อช่วยให้กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักเกินไป
  5. กินแซนด์วิช โดยนำขนมปังโฮลวีตไปปิ้งพอเกรียม หั่นหอมหัวใหญ่เป็นชิ้นบาง ๆยัดเป็นไส้ขนมปัง กินเป็นอาหารเช้า
  6. กินสลัดผัก แนะนำให้เติมกระเทียมดิบ แครอตดิบ และเซเลอรี่ดิบลงไปมาก ๆ รวมถึงควรกินผักที่มีใยอาหารมาก ๆ เช่น คะน้า บรอกโคลี ผักบุ้ง ตำลึง สะเดา
  7. ดื่มน้ำเต้าหู้หรือกินกล้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการขณะเกิดขึ้นได้
  8. ควรดื่มน้ำขิง เพราะเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยย่อย โดยนำขิงแก่ที่ปอกเปลือกหั่นเป็นแว่นต้มในน้ำร้อนจนเดือด กรองเฉพาะน้ำดื่ม
  9. ดื่มน้ำสับปะรด น้ำว่านหางจระเข้ หรือชามะละกอ เพื่อลดกรดและสมานแผลในกระเพาะอาหาร
  10. ดื่มน้ำแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ผสมน้ำผึ้ง โดยนำน้ำส้มแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ปริมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำร้อนครึ่งแก้ว คนให้เข้ากัน จิบตลอดวัน
  11. กินขมิ้นชันครั้งละ 2 เม็ด 2 มื้อ หลังอาหาร เช้า – เย็น
ดื่มน้ำเต้าหู้, โรคกรดไหลย้อน, กรดไหลย้อน, แก้กรดไหลย้อน, แก้ปัญหากรดไหลย้อน
ดื่มน้ำเต้าหู้ บรรเทาอาการกรดไหลย้อน

หากบางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย บ.ก.นำวิธีแก้อาการดังกล่าว สูตรของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตมาฝากค่ะ

  1. ดื่มน้ำผึ้งแท้หรือน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทรายแดง 2 ช้อนโต๊ะ (สำหรับเด็กใช้ 1 ช้อนโต๊ะ) ผสมน้ำร้อน คนให้เข้ากัน ดื่มอุ่น ๆ
  2. ดื่มชาจีนหรือชาฝรั่งอุ่น ๆ
  3. ดื่มน้ำขิง ใช้ขิงแก่หั่นหนา ประมาณ 1 – 2 นิ้ว ทุบให้แหลก ต้มกับน้ำเดือด ดื่มอุ่น ๆ
  4. นวดนิ้วมือ นวดง่ามนิ้วมือระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ นวดแรง ๆ ข้างละ 5 ครั้ง

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เดินเร็ว วันละนิด ชีวิตยืนยาว

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.