การออกกำลังกายที่มี แรงกระแทก ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การกระโดดเชือก หรือการเต้นแอโรบิก ซึ่งหลายคนบอกว่า ไม่เอา! เพราะกลัวข้อจะเสื่อม ขณะที่คนอีกกลุ่มบอกว่า ยิ่งทำ ยิ่งดีต่อข้อ สรุปแล้วแรงกระแทกจะดีมั้ย เรามาหาคำตอบกัน
บทความหนึ่งใน Harvard Health Publishing ของโรงเรียนแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School : HMS) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การศึกษาและงานวิจัยจำนวนมากแสดง ให้เห็นว่าการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก มีแรงกระแทก ไม่เพียงช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างกระดูกได้อีกด้วย
เมื่อเกิดแรงกระแทก
การที่มีน้ำหนักกดลงหรือกระแทกลงบนกระดูกหรือข้อต่อต่าง ๆ โดยตรง ในระดับที่แตกต่างกันจะเป็นการสร้างความเครียดให้กับกระดูก หรือทำให้เกิดความเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นภายในเนื้อเยื่อกระดูก สิ่งที่ตามมาคือจะเกิดการกระตุ้นการสะสมของแคลเซียมภายในกระดูกมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก จึงถือว่าเป็นกระบวนการเพิ่มมวลกระดูก นอกจากนี้ยังเกิดการยับยั้งการสลายของกระดูกจากเซลล์ในเนื้อเยื่อกระดูกด้วย เพื่อเร่งซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อกระดูกนั่นเอง
ผลลัพธ์ที่ได้คือ กระดูกแข็งแรงขึ้น หนาขึ้น และมวลกระดูก มีความหนาแน่นขึ้น ยิ่งแรงกระแทกสูงยิ่งได้ผลดีต่อกระดูกมาก เรื่องระดับของแรงกระเทกนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง Long-term Effect of Exercise on Bone Mineral Density and Body Composition in Post-menopausal Ex-elite Athletes: A Retrospective Study ซึ่งตีพิมพ์ใน European Journal of Clinical Nutrition ค.ศ. 2012 พบว่า
จากการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) ของนักกีฬาหญิงทั้งในกรีฑาประเภทลู่ ประเภทลาน นักวอลเลย์บอล นักบาสเกตบอล นักรักบี้ นักฟุตบอล ศิลปะการต่อสู้ประเภท ต่าง ๆ เช่น ยูโด เปรียบเทียบกับนักว่ายน้ำ นักพายเรือ นักปั่นจักรยาน พบว่านักกีฬาหญิง กลุ่มแรกมีค่า BMD สูงกว่ากลุ่มหลังอย่างเห็นได้ชัด และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้อีกด้วย
นั่นแสดงให้เห็นว่า แรงกระแทกมีผลต่อการเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูก แต่อาจแตกต่างไปตามระดับ ความหนัก-เบาของแรงกระแทก ความถี่ในการออกกำลังกาย และสภาพร่างกายแต่ละคน
ในบรรดาการออกกำลังกายซึ่งมีแรงกระแทก จัดได้ว่า “การเดิน การวิ่ง และการกระโดด” เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันและทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากอยากได้ผลดีก็จำเป็นต้องเดิน วิ่ง และ กระโดดให้ถูกวิธีด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา