ความดันและไขมันในเลือดสูง หากป่วยแล้วและยังรู้สึกว่า ยาที่หมอให้อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เราหายดี
ลองปรับเปลี่ยน อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น จนแทบไม่ต้องใช้ยาเลยทีเดียว
ไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูงถ้ามีการดูแลสุขภาพของตัวเองโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งในด้านของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการคลายเครียด จะสามารถลดการใช้ยาลดไขมันจนกระทั่งงดยาได้
แต่ต้องอาศัยเวลา เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรม การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นหลัก รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารจากผักพื้นบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยลดไขมันในเลือดสูงได้
ลองทำดู คุณทำได้
1. จำกัดอาหารประเภทไขมันให้เหลือเพียงวันละ 10 เปอร์เซ็นต์ของแคลอรีทั้งหมด ในทางปฏิบัติก็คือให้กินอาหารประเภททอด ผัด กะทิ เพียง 1 จาน หรือกินแบบไทยคือ กินเป็นสำรับและล้อมวงกินกันหลายคน
2. เพิ่มสารเส้นใยในอาหาร กินข้าวกล้อง กินผักพื้นบ้านที่มีสารเส้นใยสูง ๆ เช่น มะเขือพวง มะระขึ้นก สะเดา ลูกฉิ่ง โดยนำมากินกับน้ำพริกวันละประมาณ 200 กรัม
3. กินกระเทียมวันละ 10 – 15 กลีบ โดยกินแบบสด ๆ กับยำ หรือแกล้มกับน้ำพริก และเลือกกินเวลาเย็น เพราะมีข้อสังเกตว่าการกินกระเทียมในช่วงเวลาเย็นสามารถลดไขมันได้ดี
4. กินปลาและสัตว์น้ำแทนเนื้อสัตว์บกประมาณ 3 เดือน ช่วยลดไขมันในเลือดลง
5. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
6. คลายเครียดด้วยการทำสมาธิ ดนตรีบำบัด การฝึกหายใจ หรือ โยคะ
ความดันเลือดสูง
โรคความดันเลือดสูงที่พบบ่อย มักจะเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนมากมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการปวดหัว เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย จำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ มิฉะนั้นความดันโลหิตสูง จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น โรคหัวใจโต เส้นโลหิตเปราะ โรคไต และอัมพาตเนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก
การใช้ผักพื้นบ้านและสมุนไพรในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยังไม่มีผลงานวิจัยที่เด่นชัดว่าสามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ จึงควรต้องได้รับการควบคุมดูแลจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ในตำรายาไทยจะเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคโดยนำพืชผักสมุนไพรมาใช้ปรุงเป็นอาหาร และควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอจากแพทย์แผนปัจจุบัน
ลองทำดู คุณทำได้
1. ลดไขมันในเลือดไปพร้อม ๆ กัน โดยเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ
2. การคลายเครียดด้วยดนตรีบำบัด การฝึกหายใจ หรือฤๅษีดัดตน
3. แนะนำให้กินผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะเป็นประจำ เช่น กระชาย ยอดกระเจี๊ยบ ตะไคร้ พลูดาว หรือการต้มน้ำตะไคร้ดื่ม แทนชา
ตัวอย่างอาหารที่แนะนำให้ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง และโรคหัวใจ เช่น แกงเลียงผักรวม น้ำพริกมะเขือ ยำใบบัวบก
ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 571
บทความอื่นที่น่าสนใจ