รู้สึกอับอาย

รับมืออย่างไร เมื่อทำพลาดแล้ว รู้สึกอับอาย รับไม่ได้จ้า

บ่อยๆ ที่หลายคนปล่อยโป๊ะ หน้าแตกกลางวง ซึ่งอาจเป็นเรื่องตลกในหมู่เพื่อน แต่ก็มีอีกหลายเหตุการที่เราทำผิดพลาดครั้งใหญ่ จน รู้สึกอับอาย ไม่มีคุณค่า และไม่สามารถเผชิญหน้ากับความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นได้ ท้ายที่สุดจึงจมอยู่กับปัญหาอย่างไม่มีทางออก

เราจะมาพูดกันถึงเรื่อง “ความรู้สึกอับอาย” เสียก่อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญปัญหาด้านจิตใจ ความสัมพันธ์ และโรคทางจิตเวช อธิบายต้นตอแห่งอารมณ์ “รับไม่ได้” นี้ว่า

ในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กเริ่มแสดงความสามารถและต้องการการยอมรับสนับสนุน การเห็นคุณค่าจาก คนสำคัญ ครอบครัว และสังคม

แต่การที่เด็กถูกด่าว่า ตำหนิ ติเตียน ล้อเลียน ทำให้อับอาย หรือมีคนแสดงท่าทีไม่ยอมรับ ดูถูก เหยียดหยาม ถูกบังคับ ควบคุม ข่มขู่ ถูกทำร้าย (Child Abuse) หรือถูกทอดทิ้งและถูกหมางเมิน จนเด็กไม่รู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนเองทำ ตนเองมี หรือตนเองเป็น จะเกิดความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ไม่มั่นใจในตนเอง สงสัยในความสามารถ สงสัยในคุณค่าของตนเอง (Doubt) และ รู้สึกอับอาย (Shame) เหมือนตนเองมีรอยตำหนิที่น่าอับอายอยู่ ในตัว เป็นแผลที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่รู้สึกได้ด้วยใจ

ความรู้สึกอับอายและความสงสัยในตนเองเป็นความรู้สึกที่ฝังลึก เป็นบาดแผลที่กรีดลึกมากในใจ เมื่อเติบโตขึ้นมีเหตุการณ์ ที่สะกิดว่าเขาไม่มีความสามารถ ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีค่า หรือ มีเหตุการณ์ที่ต้องลุ้นการได้รับการยอมรับ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ เขาจะรู้สึกเจ็บปวดรวดเร็วมาก รู้สึกกังวลมาก จิตตกง่าย ไร้เรี่ยวแรง ในการสู้ชีวิต และมักมองแง่ลบก่อนว่า คนอื่นจะเห็นความไม่ดี ความน่าเกลียด เห็นรอยตำหนิ เห็นความไม่น่ารักของเขา เห็นเขาไม่มีค่า

เนื่องจากมีความเชื่อลึกๆ ว่า เขาเป็นของมีตำหนิ ไม่ดี ไม่มี คุณค่า ไม่น่ารัก และสารพัดที่จะรู้สึกด้านลบกับตนเอง

แนวทางการดูแลตัวเองเมื่อรู้สึกอับอาย

1 . ความเมตตาต่อตนเอง (Self-compassion)

– เปลี่ยนความรู้สึกอับอายเป็นการมอบความรักและเมตตาตนเอง

– หมั่นเติมพลังความรัก ความรู้สึกอบอุ่นให้ตนเองในทุกวัน เช่น การยิ้มให้กับตนเอง การกอดตนเอง การหมั่นดูแลและ ให้สิ่งดี ๆ กับตนเอง

2. มีสติรู้ทันความรู้สึกนึกคิดในการมองที่มีต่อตนเอง (Self- awareness)

– รู้ทัน”การตำหนิติเตียนตนเอง” (Self-criticism) และหยุดทันที

– รู้ทัน”ความคิดว่าตนเองยังไม่ดีพอ” (Inadequate) และหยุด ทันที

– รู้ทัน”การพยายามพิสูจน์ตนเองว่าดีพอต่อผู้อื่น” และหยุด ทันที -รู้ทัน”การมักมองเห็นตนเองในแง่ลบ” และหยุดทันที

3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อตนเองโดยการ

– หมั่นรู้ใจตนเองมากขึ้น

– หมั่นรู้จักตนเองมากขึ้น

– หมั่นยอมรับธรรมชาติของตนเอง

– หมั่นรู้จักข้อดี ศักยภาพในตนเอง และพัฒนาให้ดีขึ้น

– หมั่นยอมรับและแก้ไขข้อเสียของตนเอง

– หมั่นพูดถึงตนเองในแง่ดี

4. หมั่นรู้ทัน “การอยากได้การยอมรับจากคนอื่น”

เพื่อเป็น ข้อพิสูจน์ว่า “เราดีพอ” และหยุด “พิสูจน์ตนเองเพื่อให้คนอื่นยอมรับ” แต่ลุกขึ้น “ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่า” ด้วยความรู้สึกของตนเองจริงๆ ไมใช่เพื่อให้คนอื่นยอมรับเรา เพราะการคอยพิสูจน์ตนเองด้วยการวัดเรตติ้งความพึงพอใจจาก คนอื่นไม่เคยทำให้รู้สึกดีพอได้อย่างแท้จริง เหมือนหลุมที่ถมเท่าไร ก็ไม่เต็ม

5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คนอื่นจะช่วยลดการมโนว่าคนอื่นจะรู้สึกแย่กับเรา

ลองทำตามหลัก 5 ข้อนี้ ค่อยๆ ปรับใจไป เรื่องหนักแค่ไหนเราก็รับได้ รักตัวเองได้…

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต

บทความอื่นที่น่าสนใจ

หลักการวิ่ง 7 ข้อ เพื่อผลลัพธ์สุดปัง! หุ่นสวย หัวใจแข็งแรง

บอกต่อวิธีชะลอวัย 1. เร่งเมแทบอลิซึม 2. เร่งขับพิษ เพื่อสุขภาพดี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.