อาหารสรรพคุณร้อนเย็น ตามหลักแพทย์แผนจีน
หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องอาหารร้อนเย็น หรือ อาหารสรรพคุณร้อนเย็น ตามหลักแพทย์แผนจีน พอจะบอกคร่าวๆ ได้ว่า อาหารประเภทไหนทำให้ร่างกายร้อน และอาหารประเภทไหนทำให้ร่างกายเย็น แต่ใครจะรู้ว่า เวลาไหนเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับอาหารร้อน – เย็น คุณหมอส้มจึงหาคำตอบมาให้ค่ะ
คนจีนถือว่าเด็กผู้ชายเป็นตัวแทนของหยางในหยาง คือ มีความร้อนมากกว่าบุคคลทั่วไป และมักขี้ร้อน ส่วนผู้หญิงสูงอายุเป็นตัวแทนของหยินในหยิน คือ มีความเย็นมากกว่าบุคคลทั่วไป และมักขี้หนาว
“You are what you eat.” หรือ “กินอะไรก็ได้อย่างนั้น” เป็นประโยคของฝรั่งที่ได้ยินกันบ่อยๆ แต่ทราบไหมว่า ทางการแพทย์แผนจีนก็มีความเชื่อแบบเดียวกันนี้มานานมากแล้ว
คนจีนนิยมใช้ วิธีปรับอาหารตามความร้อนและเย็นในร่างกาย เพื่อรักษาความสมดุล จะได้ไม่เจ็บไม่ป่วย เมื่อปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่แม้กระทั่งคนจีนทั่วไปก็ทราบว่าต้องกินอย่างไร ไม่ต้องให้หมอจีนบอกก็ได้ ลองไปถามอาม่าอากงดูสิคะ ท่านจะบอกได้ว่ากินอย่างนี้ดีต่อ อาการและโรคอะไร
แต่น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้เวลาผู้ใหญ่บอกให้กินอะไร ลูกหลานมักต่อต้าน เพราะคิดว่าเป็นความเชื่อโบราณที่ไม่มีหลักวิทยาศาสตร์รองรับ ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้องค์ความรู้เหล่านี้ค่อยๆ จางหายไปจากสังคม
หลายคนคงมีข้อสงสัยมากมายว่า การกินอาหารเพื่อปรับความร้อนและเย็นดีต่อสุขภาพจริงหรือเปล่า แต่ละคนต้องกินอย่างไร ควรเป็นอาหารสรรพคุณร้อนหรือเย็นมากกว่า คุณหมอส้มจึงสรุปคร่าวๆ มาให้รู้ค่ะ
ก่อนอื่นขอปูพื้นฐานสิ่งที่การแพทย์แผนจีนอธิบายถึงสุขภาพของคนแต่ละคน แต่ละเพศ และแต่ละวัย เป็นภาพรวมก่อน
มีการเปรียบเทียบว่า ในสิ่งหนึ่งๆ จะมีทั้งธาตุหยินและหยาง ร่างกายของคนเราจึงประกอบด้วยหยินและหยาง
หยิน คือ ความเย็น เนื้อเยื่อ กระดูก เลือด น้ำหล่อเลี้ยงในร่างกาย รวมถึงส่วนกายเนื้อที่เราเห็นและจับต้องได้
หยาง คือ ความร้อน พลังงานที่ขับเคลื่อนเลือดและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงาน เราจะรู้สึกถึงพลังงาน แต่ไม่สามารถจับต้องได้
เมื่อเปรียบเทียบผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายจะมีหยางมากกว่า ส่วนผู้หญิงจะมีหยินมากกว่า
เมื่อเปรียบเทียบเด็กกับคนแก่ เด็กจะมีหยางมากกว่า จึงชอบวิ่งเล่นไปมา ไม่อยากอยู่นิ่ง ขณะที่คนแก่จะมีหยินมากกว่า ทำให้ขยับตัวช้าๆ ค่อยๆ ไป และอยู่นิ่งเป็นหลัก
คนจีนถือว่าเด็กผู้ชายเป็นตัวแทนของหยางในหยาง คือมีความร้อนมากกว่าบุคคลทั่วไป และมักขี้ร้อน ส่วนผู้หญิงสูงอายุเป็นตัวแทนของหยินในหยิน คือ มีความเย็นมากกว่าบุคคลทั่วไป และมักขี้หนาว
ตัวอย่างที่คุณหมอส้มยกมา หมายถึงบุคคลทั่วไปที่แข็งแรงดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่หากบุคคลเหล่านี้มีความเด่นในธาตุไหนมาก จะยิ่งทำให้เจ็บป่วยด้านนั้นง่าย เหมือนกับว่าเวลาปกติร่างกายมีธาตุนี้อยู่เยอะ อยู่มาวันหนึ่งเมื่อธาตุลดน้อยลงจึงทำให้ป่วยตามมา
เช่น เด็กผู้ชายที่ขี้ร้อนมากๆ มักป่วยด้วยโรคหรืออาการเกี่ยวกับความร้อนง่าย เช่น เป็นไข้ ติดเชื้อต่างๆ หากเป็นผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนจะเริ่มมีอาการหยินขาด ทำให้ร่างกายมีความร้อนเกิน ส่งผลให้เกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ แบบวัยทองขึ้นมา ส่วนผู้ชายที่หยางเริ่มน้อยลง จะทำให้มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือวัยทองเช่นกัน
คุณหมอส้มว่า ตอนนี้น่าจะพอเดากันได้นะคะว่า หลักใหญ่ของการกินอาหารตามสรรพคุณ คือ ถ้าร่างกายมีธาตุไหนเด่นแล้วไม่อยากให้อ่อนลง ก็ให้กินอาหารเพื่อเสริมธาตุนั้น เช่น เด็กๆ ควรกินอาหารสรรพคุณอุ่นหรือร้อน เพื่อให้เติบโตดี ส่วนผู้ชายที่กลัวร่างกายเสื่อม ควรกินอาหารสรรพคุณร้อนเช่นกัน แต่สำหรับผู้หญิงใกล้วัยทอง คุณหมอส้ม จะแนะนำให้กินอาหารสรรพคุณเย็นถึงเย็นจัดเตรียมไว้ก่อนค่ะ
มากล่าวถึง สรรพคุณร้อนและเย็นของอาหาร บ้าง ผู้อ่านบางท่านอาจยังงงๆ คิดว่าส้มแนะนำให้กินอาหารแช่เย็น แล้วอย่างนี้จะดีต่อสุขภาพจริงหรือ อันที่จริง สรรพคุณของอาหารไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิเลย ค่ะ แต่หมายถึงเมื่อเรากินอาหารนั้นเข้าไปร่างกายจะมีความเย็นหรือร้อนเพิ่มขึ้น
คุณหมอส้ม ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ นะคะ กาแฟมีสรรพคุณอุ่นถึงร้อนแม้ว่าเราจะดื่มกาแฟเย็นหรือกาแฟปั่น แต่หลังจากนั้นจะรู้สึกตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และร่างกายตื่นตัว เหล่านี้เป็นอาการของการที่มีความร้อนในตัวมากขึ้น ทางแพทย์แผนจีนจึงเรียกว่าอาหารเสริมหยางหรือเสริมความร้อนนั่นเอง (แต่ชีวจิตไม่แนะนำให้ดื่มกาแฟนะคะ)
ตัวอย่างสรรพคุณของอาหาร
อาหารสรรพคุณเย็น : ผักต่างๆ โดยเฉพาะผักใบเขียวเข้มปลา ผลไม้ เช่น แตงโม ชมพู่ ฝรั่ง สาลี่ แอ๊ปเปิ้ล มังคุด
อาหารสรรพคุณร้อน : เครื่องเทศต่างๆ เช่น ขิง ข่า
อย่าลืมว่าทางการแพทย์แผนจีนเชื่อในหลักความสมดุลไม่ควรเสริมมากไปหรือน้อยไป ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ดังนั้นควรกินแต่พอดี และลองสังเกตร่างกายของตนเองให้มากขึ้นและบ่อยขึ้นกันหน่อย เพราะบอกอะไรได้อีกมากมาย
จาก คอลัมน์เปิดบ้านชีวจิตโฮม นิตยสารชีวจิต ฉบับ 334
บทความน่าสนใจอื่นๆ