โรคพิษสุนัขบ้า โรคระบาดที่ต้องเร่งควบคุม
แม้ทุกคนจะทราบกันดี ว่า โรคพิษสุนัขบ้า ที่เรารู้จักกันนี้ มักจะมาในหน้าร้อน แต่ปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น จากข่าวการระบาดหนักของโรคทางภาคอีสาน และการนิ่งนอนใจของเจ้าของสัตว์เลี้ยง อาจนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิต จึงควรสังเกตพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงของตนให้ดี
จากข่าวของ เดลินิวส์ “หมออึ้ง!คนชะล่าใจไม่ยอมรักษาพิษสุนัขบ้า ชี้ติดเชื้อตายอย่างเดียว” มีเนื้อหาที่น่าสนใจที่ชีวจิตขอยกมาดังนี้
วันที่ 4 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2560 สุนัข แมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว และเริ่มปี 2561 เดือนเดียวพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว ทำให้เรายังคงพบผู้ป่วยโรคนี้อยู่ในพื้นที่ที่มีพบสัตว์ป่วยโรคนี้ ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วย เกิดจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน ส่วนใหญ่มาจากการชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น
เพราะเหตุนี้เราจึงหันมาสังเกตระแวดระวังสัตว์เลี้ยงของเรา รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงในชุมชนของเราให้ดี
เราจะสังเกตอาการของสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร อ่านหน้าต่อไป
พิษสุนัขบ้า เชื้อร้ายที่สังเกตภายนอกได้
สำหรับพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่หากสัตว์เลี้ยงติดเชื้อเข้า จะสามารถสังเกตอาการและความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมได้ โดยขอยกข้อมูลจาก สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการอย่างไร ?
พบได้ 2 แบบคือ
1. แบบดุร้าย มีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่น ๆ ถ้าผูกโซ่หรือกักขังไว้ในกรง จะกัดโซ่ กรง หรือสิ่งของที่อยู่ใกล้อย่างดุร้าย บางครั้งสุนัขจะกัดจนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผล มีเลือดออก เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด
2. แบบเซื่องซึม มีอาการปากอ้าหุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่และลิ้นห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักจะเอามือล้วงแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม สุนัขจะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวจะกินปัสสาวะของตัวเอง ไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมาก ดังนั้น หากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน
คนที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการอย่างไร
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า คนเราจะสามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ทางใดบ้าง
คนเป็นโรคนี้เนื่องจากได้รับเชื้อพิษสุนัจบ้าจากสัตว์ที่เป็นโรค คนสามารถติดโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางคือ
1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน โดยคนนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคนี้ได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา
ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้วจะมีอาการอย่างไร
ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด
พิษสุนัขบ้า ติดเชื้อแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง
สำหรับวิธีรับมือกับพิษสุนัขบ้า ชีวจิต ขอหยิบยกข้อมูลจาก สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้ากัด
1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
2. ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน
3. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีน
4. ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าคือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก ส่วนในกรณีที่ถูกเลียผิวหนังที่ไม่มีแผลหรือเพียงแต่อุ้มสุนัขไม่สามารถจะติดโรคได้
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อไปที่ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2252-0161-4
น้องตูบบ้านใครมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เข้าข่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า อยู่ในพื้นที่ที่โรคระบาด ไม่ควรนิ่งนอนใจ อันตรายถึงชีวิตนะคะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พิษสุนัขบ้า ระบาด ! กรมควบคุมโรคออกเตือน