พ่อแม่ (อย่า) รังแกฉัน
พ่อแม่ (อย่า) รังแกฉัน
ถาม : ดิฉันกับสามีมีลูกสาวคนเดียว รักและตามใจลูกสาวมาก ผลคือตอนนี้ลูกสาวเอาแต่ใจตนเอง ใช้เงินฟุ่มเฟือย โตแล้วแต่ไม่มีงานทําเป็นหลักแหล่ง สอนอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง ดิฉันกลัวว่าถ้าดิฉันและสามีตายไป ลูกสาวจะเอาตัวไม่รอด เลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ตอนนี้เป็นห่วงลูกและทุกข์มาก ทําอย่างไรดีคะ
ตอบ : การมีลูกคนเดียวทําให้พ่อแม่ประมาทในการเลี้ยงลูก เพราะคํานึงเพียงแต่ว่าต้องมอบความรักและตามใจลูกเพียงคนเดียว ดังนั้นจึงเฝ้าปรนเปรออํานวยความสะดวก ประคบประหงมจนขาดสติ เพราะแรงจูงใจของบิดามารดา คือการรู้สึกว่าตนต้องมอบความรัก ความปรารถนาดี และสิ่งต่าง ๆ มากมายให้ลูก โดยลืมไปว่า เด็ก ๆ นั้นความจริงยังไม่มีความปรารถนาจะอยากได้อะไรมาปรนเปรอทั้งสิ้น เด็กต้องการเพียงความอบอุ่น ความเอ็นดู ความเอาใจใส่ ความไว้วางใจ และความรักจากพ่อแม่เท่านั้น
ถ้าจะตําหนิก็ต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่ที่เติมเต็มความปรารถนาของตัวเองโดยการปรนเปรอแก่ลูก ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นเครื่องล่อความปรารถนาและความต้องการของลูก จากเดิมลูกต้องการเพียงความอบอุ่น ความรัก และความเอ็นดู แต่กลับได้วัตถุแทน เมื่อจิตของลูกถูกปลูกฝังด้วยอํานาจของวัตถุไปแล้วก็ยากที่จะถอนความฟุ่มเฟือยของเขาได้
การที่ลูกไม่ยอมเชื่อฟังพ่อแม่ก็เพราะลูกเชื่อว่า ไม่ว่าเขาจะทําตัวแบบไหนพ่อแม่ก็จะไม่ทิ้งเขาให้เดือดร้อนหรือลําบากแน่ เพราะความคุ้นชินที่เคยได้รับจากพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรมีกติกาหรือข้อตกลงให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะแก้นิสัยของลูกไม่ได้ ก็ย่อมแน่นอนว่าถ้าพ่อแม่ยังไม่สามารถสร้างนิสัยให้ลูกรับผิดชอบได้ ยังตามใจลูก และยังไม่เปิดทางให้ลูกได้รู้จักความทุกข์และความลําบาก ก็ยากที่จะให้ลูกสร้างเนื้อสร้างตัวและเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต ดังนั้น พ่อแม่ต้องตระหนักเสมอว่าเราตามใจลูกมานานมากแล้ว จากนี้ไปต้องเลิกตามใจ ต้องให้เขารับผิดชอบ และเปิดทางให้เขาได้เติบโตด้วยตัวของเขาเอง
การทุกข์เพราะห่วงลูกเป็นวิสัยธรรมดาของพ่อแม่ หากพ่อแม่ไร้ความรัก ความเอ็นดู ความห่วงใยหรือความปรานีต่อลูก ย่อมได้ชื่อว่ามิใช่มารดาบิดาผู้ให้กําเนิดโดยสมบูรณ์ แต่การเป็นห่วงมากก็จะก่อทุกข์ให้แก่ตัวพ่อแม่เอง เป็นการสร้างตราบาปให้แก่ลูกโดยไม่รู้ตัว เท่ากับว่าแรกเกิดพ่อแม่ปฏิบัติตนผิดต่อลูกเพราะมอบความรักที่ไม่บริสุทธิ์จากการให้วัตถุ ก่อนจะตายจากลูกก็สร้างตราบาปฝากไว้โดยที่ลูกเองไม่ได้มีเจตนา ทําให้พ่อแม่ลําบากใจแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติผิดในขั้นต้นของพ่อแม่นั่นเอง ส่วนลูกนั้น ถ้าหากพ่อแม่พยายามเต็มที่แล้วในการชักนําหรือดึงลูกให้เดินบนทางที่ถูกที่ควร แต่ลูกยังไม่สํานึก ก็เป็นอันว่าเขาสร้างปัญญาไว้เพียงเท่านั้น พ่อแม่ก็ไม่จําเป็นต้องกังวลอีก ต่อเมื่อเขาได้เผชิญกับปัญหาเองนั่นแหละเขาจึงจะสํานึกได้ เขาจะโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเขาเอง เพราะทั้งหมดคือผลลัพธ์อันเกิดจากการกระทําของเขา
พระมหาธนาธิป : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา
ที่มา : คอลัมน์ Dhamma Daily นิตยสาร Secret
บทความที่น่าสนใจ
อย่าเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ด้วยการทำร้ายคนที่ตนรัก ธรรมะสำหรับพ่อแม่
ปัญหาธรรมประจำวันนี้: ลูก ไม่อยากเข้าวัด ฟังเทศน์ พ่อแม่ควรทำอย่างไร