หลวงพ่อชา

ฝึกปล่อยวาง ด้วยคำสอน หลวงพ่อชา สุภทฺโท

ฝึกปล่อยวาง ด้วยคำสอน หลวงพ่อชา สุภทฺโท

หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) เป็นพระวิปัสสนาจารย์ ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งชาวไทยและต่างชาติ นั่นเป็นเพราะคำสอนของท่านตรงใจคนและท่านยังนำธรรมอันลึกซึ้งมาเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยวางทุกข์และสุข

เราจึงคัดเลือก คำสอนหลวงพ่อชา ที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้มา 10 ข้อเพื่อให้คุณผู้อ่านได้น้อมนำมาปฏิบัติ

1. เมื่อเราทำบุญ แต่ยังไม่ละบาป ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมาถูก้นกะละมังเหมือนกัน แต่มันถูกข้างนอก ไม่ถูกข้างใน น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังได้

2. โยม ไม้อันที่อาตมาถืออยู่นี่นะ มันสั้น หรือว่ามันยาว โยม ไม้อันนี้ธรรมชาติแท้ๆ ของมันมีแค่นี้ เท่านี้…มันไม่สั้น และก็ไม่ยาว โยม ความต้องการที่จะให้ไม้นี้มันสั้นเข้า หรือยาวออก นั่นแหละ “ทุกข์”  ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าเรายอมตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ ยอมที่ไหน ทุกข์ก็ไม่เกิดที่นั่น

3. สุขและทุกข์นี้ ก็เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่ง ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน เพราะทั้งหัวงูและหางงู มันก็อยู่ในงูตัวเดียวกันคือ ตัณหา ความลุ่มหลงนั่นเอง

4. หน้าที่ของเรานั้นทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของเขาถ้าเราดำเนินชีวิต โดยมีการปล่อยวางเช่นนี้แล้วทุกข์ก็ไม่รุมล้อมเรา

5. ถ้าไฟมันไหม้ ก็อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา ถ้าน้ำมันท่วม ก็อย่าให้มันท่วมหัวใจเรา ให้มันท่วมแต่บ้าน ให้มันไหม้แต่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกกายของเรา ส่วนจิตใจของเรานั้น ให้มันปล่อยวาง

6. โลกนี้เป็นของพอดี แต่เรามีความโลภทะเยอทะยานไปเอง ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักภาษาของโลก ไม่รู้จักความหมายของโลกว่า มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติของมันอยู่ทุกวินาที ว่าเมื่อมันเกิดแล้วมันก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เมื่อเจ็บแล้วมันก็ตาย

7. ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งที่มี “พิษ” อยู่ในตัวมันนั่นเอง

8. เราอยากได้กระโถนใบนี้ เรายกมันขึ้นมา มีความรู้สึกว่ามันหนักเพิ่มขึ้นมา มันมีเหตุ หนักมันจะเกิดเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะเราไปยกมัน ถ้าเราไม่ยกมัน มันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่ยก มันก็เบา อะไรเป็นเหตุผล ดูเท่านี้ก็รู้แล้ว ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน ถ้าเราไปยึดอะไร อันนั้นแหละเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ถ้าเรา “ปล่อย” มันก็ไม่มีทุกข์

9. เราเห็นแล้วว่า ถ้วยใบนี้ เอาไว้ที่ไหน มันก็ต้องแตก จานนี่ เอาไว้ที่ไหน ก็ต้องแตก แต่เราก็ต้องสอนเด็กว่า ล้างให้มันสะอาด เก็บไว้ให้ดี เราก็ต้องสอนเด็กอย่างนี้ ตามสมมุติอย่างนี้ เพื่อเราจะใช้ถ้วยนี้นานๆ อันนี้เรา รู้จักธรรมะ เอาธรรมะมาปฏิบัติ

ถ้าเห็นว่า อันนี้มันจะแตกอยู่แล้ว เราบอก เออ ช่างมันเถอะลูก กินแล้วก็ไม่ต้องล้างมันหรอก จะตกก็ช่างมันเถอะ ไม่ใช่ของเราหรอก เอาทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้ มันจะแตกอยู่แล้ว อย่างนี้ก็เป็นคนโง่ไป

ถ้าเราเป็น “ผู้รู้สมมุติ” อันนี้ เมื่อมันเจ็บไข้ ก็หาหยูกยาให้มันกิน เมื่อมันร้อน ก็อาบน้ำให้มัน เมื่อมันเย็น ก็หาความอบอุ่นให้มัน เมื่อมันหิว ก็หาข้าวให้มันกินแต่ให้เรารู้ว่า ให้ข้าวมันกิน มันก็จะตายอยู่ แต่ในเวลานี้ ยังไม่ถึงคราวจะตาย เหมือนถ้วยใบนี้ ยังไม่แตก ก็รักษาถ้วยใบนี้ให้มัน “เกิดประโยชน์” เสียก่อน

10. สมมุติว่าวันนี้ โยมหาเงินได้ 100 บาท ธรรมชาติของมันแค่ 100 บาท จะอยากให้ได้มากกว่านั้น ก็ไม่ได้ จะอยากให้ได้น้อยกว่านั้น ก็ไม่ได้ หาได้ 50 บาท ธรรมชาติของเขาก็แค่นั้น หาไม่ได้เลย ธรรมชาติของมันก็เท่ากับหา   ไม่ได้เลย ยอมตามธรรมชาติที่มันเป็นทุกอย่าง ทุกแห่ง ทุกข์ก็ไม่เกิด ธรรมะอย่างนี้ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ ใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติเมื่อไร ที่ไหน ทุกข์ก็ไม่เกิดเมื่อนั้น ที่นั่น


ข้อมูลจาก: รวมคำสอนหลวงพ่อชาเว็บไซต์ fungdham.com และ หนังสือ “กุญแจภาวนาและตามดูจิต”

ภาพจาก :  pantip


บทความที่น่าสนใจ

เพราะ  ปล่อยวาง  ได้จึงจากโลกไปด้วยใจที่ดี เรื่องเล่าจากพระไพศาล วิสาโล

ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ ก็จงรู้จักการ “ ปล่อยวาง ”

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : รู้สึกแค้น มาก จะทำอย่างไร ให้ใจปล่อยวาง

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.