บทขอขมากรรม บทสวดขออโหสิกรรมก่อนนอนทุกคืน พร้อมคำถามเกี่ยวกับการอโหสิกรรม
วิธีสวด บทขอขมากรรม นี้ ให้อธิษฐานหน้าพระพุทธรูป หรือสวดก่อนนอน หรือจะ แผ่เมตตา ท่องก่อนหรือหลังนั่งสมาธิก็ได้ค่ะ
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง
สัพพัง อะปะรารัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต
หากข้าพเจ้า จงใจหรือประมาทพลาดพลั้งล่วงเกิน บิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงผู้มีพระคุณ และท่านเจ้ากรรมนายเวร จะด้วยกาย วาจา ใจ ก็ดี ขอได้โปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย
หากข้าพเจ้ามีเจ้าของในตัวติดมา ขออนุญาตมีคู่มีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไปขอถอนคำอธิษฐาน คำสาบานที่จะติดตามคู่ในอดีต ขอให้ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน ข้าพเจ้าจะประพฤติตนในทางที่ถูกที่ชอบที่ควร
ขอบุญบารมีในอดีตกาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจงส่งผลให้ข้าพเจ้า และครอบครัวตลอดจนบริวารที่เกี่ยวข้องจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ สติปัญญา ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อุปสรรใด ๆ โรคภัยใด ๆ ขอให้มลายสิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้ามีความสว่างทั้งทางโลก ทางธรรม ตั้งแต่บัดนี้ ตราบเข้าสู่พระนิพพานเทอญ
หากมีผู้ใดเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับข้าพเจ้าไม่ว่าจะชาติใด ภพใดก็ตาม ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้ ขอถอนความพยาบาทความอาฆาตและคำสาปแช่งในทุกชาติ ทุกภพ
ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากคำสาปแช่งของปวงชน ของเจ้ากรรมนายเวร ขอให้พ้นนรกภูมิ พบแสงสว่างทั้งทางโลก ทางธรรมเทอญ.
การขออโหสิกรรม ต่างจากการขอโทษอย่างไร
ถาม : การขออโหสิกรรม ต่างจากการขอโทษอย่างไรคะ
พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ พระวิปัสสนาจารย์ที่เน้นสอนด้านการปฏิบัติ โดยสอนที่พุทธิกสมาคมฯ ได้ตอบปัญหาเรื่อง “การขออโหสิกรรม” นี้ไว้ว่า
ตอบ : ไม่ต่างกัน ความหมายเหมือนขอโทษนั่นแหละ แต่สาระของคำนี้คือ เมื่อเราพลาดพลั้งทำไม่ดีลงไปและสำนึกได้ แล้วจะทำอย่างไรให้อีกฝ่ายเขาให้อภัยหรือยกโทษให้
เราจะต้องกล้ารับผิดชอบต่อการกระทำที่ตัวเองเคยทำมาทั้งหมด ไม่ว่ากับใครที่ไหน ด้วยการแสดงออกทางกาย วาจาหรือจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อขอขมาบรรดาทุกสรรพสิ่งที่เราได้ล่วงเกินในสังสารวัฏ โดยบอกเขาว่า เราจะไม่ทำผิดอีกแล้วขอเป็นชาติสุดท้าย และจะอยู่ในเส้นทางของคุณงามความดีจากนี้เป็นต้นไป
ถาม : คนส่วนมากเวลาเกิดอะไรขึ้นในชีวิต มักคิดว่าเป็นเพราะเจ้ากรรมนายเวร ดังนั้นถ้าเราขออโหสิกรรมเขาแล้ว เท่ากับขอโทษแล้ว ถือว่าจบได้ไหมคะ
ตอบ : ก็ต้องลองถามเขาดูนะ อย่ามาถามอาจารย์…สมมุติเราไปตบหน้านาย ข. แล้วมาถามอาจารย์ว่านาย ข.จะยกโทษให้หนูไหม อาจารย์คงตอบให้ไม่ได้หรอก (หัวเราะ)
สาระไม่ได้อยู่ที่ว่าเขายกโทษให้หรือไม่ยกโทษให้ สาระคือเราได้ขออโหสิขอโทษเขาแล้ว เราได้ทำในสิ่งที่สมควรทำคือขอขมา คุณธรรมที่เกิดขึ้นในใจบ่งบอกว่าสิ่งที่กระทำล่วงไปนั้นไม่ดี แต่ดันทำไปแล้ว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ณ ปัจจุบันคือ“ขอโทษ” ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะยกโทษให้ไหม อย่างน้อยเราก็ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ไม่เกี่ยวว่าเขาจะต้องยกโทษให้ตามที่เราต้องการหรือเปล่า ถ้าเรายกมือขอโทษปุ๊บ เขายังเบือนหน้าหนี ไม่ให้อภัย ก็เรื่องของเขา ถึงอย่างไรเราก็ได้ขออภัยแล้ว
ถาม : แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรคะว่าคุณเจ้ากรรมนายเวรของเราเขาอโหสิกรรมให้เราแล้ว
ตอบ : ไม่มีทาง ถ้าเขาไม่ให้ ยังไงเขาก็ไม่ให้ หากอยากหนีจากเจ้ากรรมนายเวร มีวิธีเดียวคือข้ามฝั่ง มึงจะอยู่สร้างกรรมแค้นอาฆาตกูตรงนี้ก็เรื่องของมึง แต่กูขอขมาแล้ว พระพุทธ-องค์กล่าวไว้ว่า เมื่อเราได้ทำตามหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ก็ต้องเดิน-ทาง คือภาวนาต่อ แล้วข้ามฝั่งไปเลย ทีนี้เขาจะตามไม่ทันเพราะว่าอานุภาพของกรรมบางส่วน พอเราข้ามฝั่งเป็นอริย-บุคคล กรรมบางอย่างก็ไม่มีผลแล้ว เหมือนอย่างหมาล่าเนื้อมันวิ่งไล่เรามา ถ้าเรายังอยู่ฝั่งนี้ต้องโดนรุมสกรัมแน่นอน แต่เมื่อว่ายฝ่าน้ำเชี่ยวหนีไปอีกฝั่งหนึ่งได้ หมาก็ได้แต่เห่าอยู่อีกฝั่งไม่มีกำลังข้ามตาม
แต่ส่วนใหญ่ในมิติต่างๆ ภพภูมิต่างๆ ถ้าเราภาวนาจนสามารถส่งคลื่นจิตถึงเขาให้เขารับรู้ รับทราบได้ ส่วนมากเขาจะให้อภัย เพราะเขารับทราบว่าเราได้กราบขออโหสิกรรมทั้งกาย วาจา ใจแล้ว มีส่วนน้อยมากที่กำกันแน่น กัดไม่ปล่อย แรงอาฆาตพยาบาทสูงจนผูกโกรธผูกเจ็บไปทุกภพชาติ
ฝากจากพระอาจารย์นวลจันทร์
ให้อภัยก็ได้บุญ (นะจ๊ะ)
บุญแปลว่าชำระ ดังนั้นเมื่อเราสามารถชำระความแค้น ความผูกโกรธ อาฆาต อโหสิ ยกโทษให้ได้ ย่อมถือว่าเราได้ชำระอกุศลหรือความรู้สึกไม่ดีไปจากจิตใจ บุญก็จะเกิดจากตรงนี้เอง
บทความน่าสนใจ