วิธีสร้าง ความเพียรในการปฏิบัติธรรม คำแนะนำดีๆ จาก ท่านว.วชิรเมธี
คำแนะนำดีๆ จาก ท่านว.วชิรเมธี
หลายคนรู้สึกว่า ชีวิตผ่านความยากลำบากแค่ไหน ก็สู้อุตส่าห์ฝ่าฟันมาได้ทุกเรื่อง แต่ทำไมกับการปฏิบัติธรรม…กลับไม่มีความเพียรเอาเสียเลย…ใครกำลังเป็นแบบนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี มีคำแนะนำเรื่องการสร้าง ความเพียรในการปฏิบัติธรรม มาฝากค่ะ
ตอบ: คำว่า “ความเพียร” ในที่นี้คงหมายถึงความเพียรในการกระตุ้นตัวเองให้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ความเพียรในความหมายทั่วไปซึ่งได้แก่ความขยันหมั่นเพียร
การเพียรในการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นง่ายมากสำหรับคนที่มีความ “ตั้งใจอันแน่วแน่” การที่คุณยังไม่ค่อยมีความเพียรมากพอ นั่นอาจเป็นไปได้ว่า คุณยังมีความตั้งใจไม่มากพอ จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเคยทำความเพียรเพื่อขัดเกลากิเลสมาระดับหนึ่ง ขอแลกเปลี่ยนให้ทราบว่าความเพียรนั้นเป็นสัดส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกันกับความตั้งใจอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ถ้าเรามีความตั้งใจในการที่จะบรรลุธรรมอย่างเต็มที่ ความเพียรก็จะเกิดตามมาโดยไม่ยาก
คำถามก็คือ คุณมีความตั้งใจมากแค่ไหนที่อยากจะบรรลุธรรม ประการต่อมา หากคุณบอกว่าเพียรพยายามแล้ว แต่ทำไมไม่ค่อยประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเพราะว่าเวลาปฏิบัติธรรมคุณอาจยังไม่ได้ทดลองทำความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะหากคุณทดลองทำอย่างเต็มที่แล้ว จะมีช่วงหนึ่งที่คุณจะลำบากแทบล้มประดาตาย
บางทีอาจต้องร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้ม อาบเสื้อผ้าอาภรณ์จนเปียกชุ่มเพราะเจ็บปวด ทรมาน แต่หากคุณไม่ยอมเลิกราและสามารถผ่านช่วงนั้นไปได้ คุณจะมีความสุขมาก ความสุขนี้อาจมีมากจนทำให้คุณต้องร้องไห้ออกมาดังๆ และด้วยความสุขที่เกิดตามมาหลังจากผ่านความทุกข์มาได้นี้เอง จะเป็นกำลังใจให้คุณไม่ระย่อต่อการปฏิบัติ จากนั้นคุณจะมุ่งมั่นบากบั่นปฏิบัติต่อไป เพราะคุณรู้ดีอยู่แล้วว่าพอความลำบากหายไปก็จะได้ความสุขเป็นกำไรตอบแทน (แม้ไม่ต้องการ แต่เป็นของแถมที่เป็นไปเองตามเหตุและปัจจัย)
ประการถัดไป หากคุณยังไม่อาจเร่งตนเองให้ระดมความเพียรได้สำเร็จ อาจเป็นเพราะว่าคุณยังไม่พบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น พอไม่พบความก้าวหน้าก็เลยไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม
ประการต่อมา อาจเป็นไปได้ว่าเพราะคุณยังไม่รู้วิธีที่จะเอาชนะกิเลสที่คอยขัดขวางการทำความเพียร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิเลสที่เรียกว่า “ความง่วงเหงาหาวนอน” กิเลสตัวนี้นักปฏิบัติธรรมตัวจริงล้วนเจอกันมาแล้วทั้งนั้น
ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นพระภิกษุไม่กี่พรรษา ได้ออกตระเวนปฏิบัติไปหลายที่หลายแห่งทั้งในสำนักปฏิบัติธรรมและในป่าเขา ก็ได้พบมากับตัวเองว่าเวลาความง่วงเกิดขึ้นนั้นมันหนักหนาสาหัสจริงๆบางวันความง่วงท่วมทับดังหนึ่งก้อนเมฆใหญ่มืดทะมึนอยู่เหนือผืนฟ้ามันบดบังแสงตะวันเสียจนมองไม่เห็นอะไร ในโมงยามเช่นนั้นต่อให้ลุกเดินจงกรมอย่างไร ก็สลัดความง่วงออกจากหัวไม่ได้ ผู้เขียนเคยง่วงถึงขนาดเดินอยู่แท้ๆ จิตก็ยัง “ผลุบ” หลับทั้งๆ ที่ยืน
วิธีแก้ก็คือ ผู้เขียนพาตนเองลงไปเดินจงกรมบนถนนลูกรังที่มีแต่ก้อนลูกรังแหลมๆ เพื่อให้ลูกรังทิ่มเท้า จะได้ “ตื่น” แต่เมื่อวิธีนี้ไม่ได้ผล ผู้เขียนก็ใช้วิธีเดินจงกรมเร็วๆ แต่พอไม่ได้ผล ก็เลยลองเดินจงกรมถอยหลัง แต่ก็ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สุดท้ายจึงตัดสินใจออกไปเดินจงกรมใต้ต้นมะพร้าว (ซึ่งในสำนักแห่งนั้นมีหลายร้อยต้น และมีกาบและลูกมะพร้าวหล่นทุกวัน หล่นทุกชั่วโมง) แล้วตั้งปฏิญาณกับตัวเองว่าถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้มันตายเสีย
ระหว่างทางจงกรมใต้ต้นมะพร้าว ก็มีลูกมะพร้าวและกาบมะพร้าวหล่นเฉียดหัวอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อตั้งปฏิญาณแล้ว ผู้เขียนก็ไม่เลิก ทนเดินอยู่อย่างนั้น จนในที่สุดความง่วงก็หายเป็นปลิดทิ้ง วันต่อมาความง่วงก็ไม่เข้ามารบกวนอีกเลย จากนั้นเป็นเวลาอีกแรมเดือน การปฏิบัติก็คืบหน้าตลอด กิเลสที่ผ่านเข้ามาขณะปฏิบัติธรรมนั้น เราอย่าไปมองว่าเขาเป็นศัตรู กิเลสทุกชนิดคือครูของนักปฏิบัติธรรม เมื่อกิเลสเกิดขึ้นขณะปฏิบัติ จงขอบใจ เพราะเรากำลังจะได้รับบทเรียนที่ยิ่งใหญ่่ของชีวิตถ้าเราไม่ยอมเสียอย่างเดียว ไม่เร็วก็ช้าต้องเห็นความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา
ที่มา : นิตยสาร Secret
ภาพ : www.pexels.com
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่
บทความน่าสนใจ
สวดมนต์ ทำไมและสวดอย่างไรไม่เป็น “มนต์คาถา” ท่านว.วชิรเมธี มีคำตอบ
วัดป่าเชิงเลน ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 สถานปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบกลางกรุง
เณรตรัย สามเณรน้อยแห่งวัดบวรฯ มีจิตศรัทธาปฏิบัติธรรมที่ วัดป่าธรรมคีรี
นิพพานที่ได้เห็น ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติธรรมจากแดนไกล
เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ