เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรม ให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
คำหนึ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “ชีวิตชีวา”
บางคนมีแต่ชีวิต แต่ไม่มีชีวา หรือบางโรงเรียนเข้าไปเรียนแล้วมีแต่ชีวิต แต่ไม่มีชีวา เด็กไม่มีความสุข ไม่มีความเบิกบานแจ่มใส ไม่มีความพึงพอใจ ต่างจากบางโรงเรียนที่เข้าไปเรียนแล้วมีชีวิตชีวา เด็กร่าเริง เบิกบาน ตื่นตัว ไม่ซึม แล้วก็มีอัจฉริยภาพ มีความฉลาดด้วย
หลักสูตรปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน บางหลักสูตรเข้าไปแล้ว โอ้โห! จิตตื่น กายก็ตื่น มีชีวิตชีวา สีหน้าแววตาแจ่มใส เบิกบาน มีความพึงพอใจ มีความสงบร่มเย็น กระฉับกระเฉง แต่บางหลักสูตรเข้าไปแล้วโยคีกลับตาลอย ๆ เหม่อ ๆ ไม่มีแววเลย
เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวาอยู่ที่การ “ปฏิบัติให้เหมือนไม่ได้ปฏิบัติ”
ถ้าปฏิบัติเหมือนปฏิบัติก็คล้ายกับว่าเรามีคำว่า “ต้อง” จิตของเราจะถูกบีบเข้าไปในกรอบทันที ทำให้อึดอัด นานเข้า ๆ เพียงแค่นึกถึงการปฏิบัติขึ้นมาก็รู้สึกเข็ดขยาด เริ่มทุกข์ เริ่มหนาวสะท้าน แค่นึกว่าจะต้องไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็เริ่มรู้สึกถูกบีบคั้นแล้ว แค่ได้ยินคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็ไม่เอาแล้ว
อันที่จริงธรรมะนี้ควรเป็นเรื่องที่แค่นึกถึงก็มีความสุขแล้ว แค่นึกถึงว่าจะได้เดินจงกรมก็มีความสุขแล้ว เพราะว่าจิตจำสภาวะได้ว่าเดินคราใดก็ผ่อนคลาย โปร่งเบาสบาย ไม่หนักอก ไม่หนักใจ ไม่มีภาระ เป็นอิสระ ฟรีฟอร์ม ตอนจะนั่งสมาธิก็เช่นกัน
ธรรมะแท้ ๆ เป็นอย่างนี้ แค่นึกถึง ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ความสุขก็เกิดขึ้นทางใจแล้ว เพราะธรรมะที่แท้ไม่เคยมีข้อจำกัด ลองไม่ต้องจำกัดดูสิ จิตใจของเราจะรู้สึกกว้างขวางเป็นอิสระมากเลย
การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องนั้นควรเน้นที่การใช้ชีวิตจริง ๆ เป็นนิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทำแล้วต้องมีความสงบร่มเย็น และไม่ใช่ทำเพราะถูกกิเลสตัณหาผลักดัน บีบคั้น หรือบงการจิตใจ แต่ทำเพราะมีเข้าใจอย่างถ่องแท้ในกิจนั้น ๆ
ดังนั้นในการมาภาวนา มาเจริญสติ มาปฏิบัติธรรม เราจึงควรจะมีความเข้าใจ แล้วทำอย่างเต็มที่ จะได้ไม่ต้องกลับมาทำแบบนี้อีกในชาติต่อ ๆ ไป
ชีวิตควรจะเป็นเช่นนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรม
ที่มา ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
4 วิธีการอันไม่บริสุทธิ์ในการปฏิบัติธรรม โดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ