สิงโตนอกคอก

สิงโตนอกคอก – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

สิงโตนอกคอก – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ รางวัล S.E.A. Write นับเป็นอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักเขียนผู้สร้างสรรค์งานด้านวรรณกรรม  ในปี 2560 นี้ผู้ที่คว้ารางวัลซีไรต์ไปครองคือหญิงสาววัย 25 ปีอย่าง คุณลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” ซีเคร็ตฉบับนี้จึงขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับนักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์กันค่ะ

เส้นทางสู่การเป็นนักเขียน

“ลี้ใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดสมุทรปราการ พออายุได้ 12 ปีก็ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียนชั้นมัธยมต้นและปลายที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาตรี ภาควิชาภาษารัสเซีย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครอบครัวของลี้เป็นครอบครัวนักอ่านนักเขียน พี่สาวเขียนหนังสือทำมือ เขียนการ์ตูน ตัวลี้เองเริ่มเขียนหนังสือตอนอายุ 12 ปี เพราะช่วงนั้นเริ่มย้ายบ้าน ของเล่นที่มีก็ไม่ได้เอามาหมด พอไม่มีอะไรทำ ก็เลยเริ่มเขียนหนังสือ ผนวกกับช่วงนั้นมีนิยายที่เขียนโดยเยาวชนไทยอย่างเรื่อง หัวขโมยแห่งบารามอส จึงคิดว่าเด็ก ๆ อย่างเราก็เขียนหนังสือได้นี่นา จึงลองเริ่มเขียนนิทานดู

หลังจากเรียนจบ ลี้ทำงานประจำอยู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอยู่ 6 เดือนพร้อมกับเขียนหนังสือไปด้วย ตอนนั้นงานเขียนต่าง ๆ ของลี้เริ่มได้รางวัลพอสมควร และพี่บรรณาธิการรุ่นใหญ่สองท่านที่ทำงานให้ก็ขอต้นฉบับ แต่ด้วยเป็นวัน Pay Day เราจึงต้องปิดงบเงินเดือนก่อน (หัวเราะ) ทำให้ลี้ไม่มีเวลาทำต้นฉบับให้เขา เราเองก็เกรงใจ และด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทำให้ลี้ลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว

ปัจจุบันลี้ทำงานวรรณกรรมจริงจัง และเขียนนิยายแนวชายรักชายควบคู่ไปด้วย โดยผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาก็มีเรื่อง ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่  อรุณสวัสดิ์รักร้าย วันหนึ่งความทรงจำ จะทำให้คุณแตกสลาย และกำลังจะมีผลงานเล่มใหม่เป็นแนวชายรักชายกุ๊กกิ๊กหวานแหววด้วยค่ะ”

เผยตัวตนนางสิงโต

หนังสือเรื่อง “สิงโตนอกคอก” เป็นการรวมเรื่องสั้นแนวแฟนตาซีจำนวน 9 เรื่อง แต่ละเรื่องสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมยุคปัจจุบัน และวิพากษ์มาตราฐานคุณธรรมของมนุษย์ การร้อยเรียงเรื่องราวโดยนำเอาตำนานและเรื่องเล่าที่ผู้อ่านคุ้นเคยมาสร้างตัวละครและฉากที่ไม่ได้อยู่ในบริบทสังคมไทย ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของหญิงสาววัย 25 ปีคนนี้เป็นอย่างไร

“เคยมีคนถามว่าลี้เป็นคนคิดเล็กคิดน้อยไหม ไม่ได้หมายถึงจู้จี้จุกจิกนะ แต่หมายถึงเวลาเห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเอามาคิดต่อ ลี้เองก็คิดว่าตัวเองเป็นแบบนั้น เวลาเห็นอะไรก็ตาม ลี้จะรู้สึกว่าสิ่งๆ นั้นมีเรื่องราวมากมายอยู่เบื้องหลัง แม้ในความเป็นจริงมันจะไม่มี แต่ลี้ก็ชอบจินตนาการ ชอบมโน (หัวเราะ) ลี้เป็นคนไม่ค่อยมองหลักใหญ่ใจความสำคัญ แต่จะมองรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เสียมากกว่า

“ลี้เป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม เวลาไปงานเลี้ยงต่างๆ ก็จะชอบไปอยู่ตามมุมห้องและคอยสังเกตเหตุการณ์ตรงหน้า แต่ไม่กล้าเข้าร่วม อีกอย่างคือลี้เป็นคนคิดบวกต่อโลกและสิ่งรอบข้าง แต่คิดลบกับตัวเอง เพราะฉะนั้นตอนที่รู้ตัวว่าได้รางวัลซีไรต์ นอกจากจะรู้สึกดีใจ จึงรู้สึกเครียดขึ้นมาด้วย เพราะกลัวว่าถ้ามีคนวิพากษ์วิจารณ์เยอะแล้วเราจะหดหู่ กลัวจิตใจตัวเองจะไม่เข้มแข็งพอในยุคที่สังคมรุนแรง

“บางครั้งลี้รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนนอก ลี้คิดว่าเด็กเนิร์ดหลายคนก็อาจเคยรู้สึกแบบนี้ เช่น เวลาเพื่อนๆ ในห้องเรียนเล่นกันสนุกสนาน ก็จะมีคนนั่งอ่านการ์ตูน หรือวาดรูปเงียบๆ อยู่หลังห้อง ซึ่งลี้เองก็เป็นแบบนั้น รู้สึกเหมือนเราอยู่คนละฟองอากาศกับคนอื่น พอโตขึ้นมาอยู่ในวงการวรรณกรรม แทนที่เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ในฟองอากาศเดียวกันกับพี่ ๆ นักเขียนท่านอื่น ๆ แต่กลายเป็นว่างานของเราก็ไม่ได้เป็นไปในแนวเดียวกันกับเขา ลี้ไม่ได้คิดว่าตัวเองแตกต่างแล้วเก่งนะ แต่บางทีเรารู้สึกเหมือนตัวเองไม่ได้อ่านหนังสือยาก ๆ เหมือนพี่ ๆ เขา เลยรู้สึกเหมือนร่วมวงกับใครไม่ค่อยได้”

สิงโตนอกคอก

จากความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก สู่การถ่ายทอดผลงานที่มีสีสันบรรยากาศแตกต่างไปจากเรื่องสั้นแนวสัจนิยมของนักเขียนไทยท่านอื่น ๆ ที่ทางแพรวสำนักพิมพ์เคยพิมพ์ไว้ เรียกได้ว่าเป็นการนอกคอกออกจากขนบของทั้งตัวนักเขียนและสำนักพิมพ์

“ลี้เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสั้นภายในเล่มก่อน ก่อนจะเลือกว่าชื่อเรื่องสั้นไหนที่เหมาะจะมาเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ และสุดท้ายก็เลือกชื่อเรื่อง ‘สิงโตนอกคอก’ ที่มีความหมายเกี่ยวพันถึงหลายๆ เรื่องในเล่ม

“ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะบอกเล่าเรื่องราวของคนที่อยากแตกต่างจากสังคมอยู่ บางทีพวกเขาอาจไม่ได้พยายามทำตัวแปลกแยก แต่สถานการณ์บังคับให้พวกเขาต้องแตกต่าง หรือบางเรื่องอาจเป็นการนอกคอกในแง่ของความรู้สึก อย่างมีเรื่องหนึ่งที่พูดถึงผู้ชายที่อยากจะรักผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นความรักที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่สถานการณ์บีบบังคับให้เขาตัดสินใจผิดไปรักกับอีกคน

ลี้อยากให้เด็กๆ หรือคนที่เคยคิดว่างานวรรณกรรมเข้าถึงยากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ อยากให้สิงโตนอกคอกเป็นเหมือนสะพานที่นำพาให้คนเข้ามาใกล้ชิดวรรณกรรมมากยิ่งขึ้นโดยไม่รู้สึกขัดเขิน ให้เขารู้ว่างานวรรณกรรมไม่ได้ยากอย่างที่คิด เผื่อเขาจะขยับไปอ่านงานของรุ่นพี่ที่ลึกซึ้ง และยากกว่านี้ได้ในอนาคต”


เรื่อง Issara R. ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความที่น่าสนใจ

ความรัก และสุขที่แท้ ข้อคิดจาก วิลล์ สมิธ คนที่ทำให้คุณมีความสุข

ใช้เงินแบบมีความสุข ด้วยลิสต์รายการสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่อยากได้

30 ข้อคิดด้านความมั่งคั่ง ความสำเร็จ และความสุข จากขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

แค่ทำตามกฎของชีวิต 5 ข้อนี้ได้ ความสุขก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

4 กิจกรรมสร้างความสุข ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่อยากดูแก่ ต้องรีบ ขจัดความเครียด

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.