รักษาธาลัสซีเมีย หายขาดได้แล้ว จริงหรือ
ข่าวดีในแวดวงการแพทย์และสุขภาพบ้านเรา หลังจากทีมแพทย์รพ.รามาธิบดีสามารถใช้วิธีตัดต่อยีนส์เพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดเป็นครั้งแรกของโลก มาดูกันเลยว่าวิธี รักษาธาลัสซีเมีย มีอะไรอัพเดท
อ้างอิงข่าวจาก : เดลินิวส์

ความหวังของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็กและอาจารย์แพทย์สาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา และกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการหน้าหนึ่งวันนี้ ของนสพ.เดลินิวส์ ถึงกรณีการศึกษาวิจัยพบาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก ว่า
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีกาสน้อยมากที่จะรักษาให้หายขาดได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยราวๆ 2-3 แสนคน การรักษาต้องถ่ายเลือด และให้ยาขับเหล็กตลอดชีวิต ซึ่งทำมานานกว่า 60 ปี แต่มีวิธีการอีกวิธีการหนึ่งที่ได้ผลดี คือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งก็ทำมากว่า 30 ปีเช่นกัน ทำมาเยอะและประสบความสำเร็จรักษาผู้ป่วยหายขาดได้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์หายขาด
แต่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์นั้นเป็นการใช้สเต็มเซลล์ของคนอื่น เช่น พี่น้อง หรือ คนอื่นๆ เลย จะต้องอาศัยความเข้ากันได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบการเข้ากันได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
แต่ความยากในการใช้สเต็มเซลล์ของคนอื่นมารักษาคือต้องใช้ยาขนาดสูง ต้องใช้ยากดภูมิ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ล่าสุดทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศหลายสถาบัน อาทิ สหรัฐอเมริกา 4 สถาบัน ฝรั่งเศส 1 สถาบัน และประเทศไทยอีก 1 สถาบัน ในภาษาวิจัยเรียก มัลติเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะงานวิจัยที่ทำแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จทุกที่แสดงว่ามีความแม่นยำ
ทั้งนี้ได้มีความร่วมมือกันมาประมาณ 5-6 ปี ศึกษาการรักษาผู้ป่วยด้วยการนำสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยมาตัดต่อยีนส์ ซึ่งเป็นยีนส์ใหม่ที่ได้จากการสร้างขี้นมาในหลอดทดลอง
โดยมีการทดลองในผู้ป่วย 22 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 4 ราย และในจำนวนคนไทยนี้มี 3 คน ที่ทำการทดลองทุกกระบวนการในประเทศไทย ยกเว้นเรื่องการตัดต่อยีนส์ที่ยังต้องทำในต่างประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จ และเป็นการประสบความสำเร็จครั้งแรกของโลก
และนายแพทย์สุรเดช มีการเปิดเผยผ่าน แฟนเพจเฟซบุ๊ก Rama Lounge ว่า
“การใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อแม่ของผู้ป่วยนำมาทดลองรักษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ความยากคือการตัดต่อยีน ซึ่งเราก็ทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเราเป็น 1 ใน 8 แห่งทั่วโลกที่ทำการรักษาในรูปแบบนี้ น่ายินดีที่ผลการรักษาคนไข้ทั้งสามเป็นไปอย่างที่ยอดเยี่ยมโดยที่พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการถ่ายเลือดอีก ทั้งที่ต้องเคยถ่ายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้สามารถไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือเล่นกีฬาได้ และตอนนี้ก็มีชีวิตที่ปกติสุข”
เปิดโอกาสการรักษาโรคเรื้อรังร้ายแรง
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เนื่องจากเป็นการวิที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยอยู่แล้ว ตนจึงไม่ทราบ แต่คิดว่าหากนำเข้ามาใช้รักษาในเมืองไทยคิดว่าคงเยอะ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจะมีโอกาสขยายไปยังการรักษาโรคที่เกิดจากพันธุกรรมอื่นๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง

ตอนนี้ก็มีการตัดต่อยีนส์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวไปฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ปัญหาในประเทศไทยที่ทำไม่ได้เพราะไม่มีทุนวิจัยจริงจัง หากจะทำให้สำเร็จต้องทำให้เป็นเรื่องระดับชาติ หากต้องการเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ต้องลงทุนมาก ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาบอกว่าการวิจัยขึ้นหิ้งนั้นไม่ใช่ แต่เป็นการศึกษาที่รากฐานที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจ
ชมวิดีโอแถลงข่าวได้ที่นี่
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว “ค้นพบวิธีการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก” วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
Posted by Rama Lounge on Wednesday, May 2, 2018
นับเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการแพทย์ ที่จุดประกายความหวังแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย โรคทางพันธุกรรมที่คุกคามสุขภาพของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากเป็นอันดับต้นๆ