ทาลัสซีเมีย

ทาลัสซีเมีย หยุดได้ด้วยการปั่นจักรยาน

ปั่นจักรยานหยุด ทาลัสซีเมีย

 คุณปูเป้ -ชุจิตา จิตสำราญในวัย 35 ปี เธอนิยามตัวเองสั้นๆ ว่า “ซูเปอร์วูแมนรักสุขภาพ” ค่ะ เพราะทั้งปั่นจักรยานกว่า 100 กิโลเมตร เดินขึ้นเทือกเขาหิมาลัย วิ่งเทรล…ผู้หญิงตัวเล็กคนนี้ก็พิชิตมาหมดแล้ว!

พาหะทาลัสซีเมีย…จุดเปลี่ยนชีวิต

ก่อนที่จะแปลงร่างเป็นซูเปอร์วูแมนสุดสตรองพร้อมจักรยานคู่ใจ คุณปูเป้เท้าความให้เราฟังว่า เมื่อครั้งวัยเยาว์สุขภาพของเธอกลับไม่ค่อยแข็งแรงนัก และไม่นานมานี้ยังตรวจพบว่าตัวเองมีภาวะ พาหะทาลัสซีเมีย อีกด้วย

“ตอนปูเป้อายุประมาณ 2 ขวบ เคยเป็นปอดบวม และมีหนองในปอด หมอก็เลยต้องคว้านเนื้อบางส่วนออก ทำให้ปอดแหว่ง ผิดรูป ประกอบกับตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่าเรามีภาวะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย หรือโลหิตจาง

“ทำให้สร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ความสามารถในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายจึงน้อยลงตามไปด้วยปูเป้ก็เลยเหนื่อยง่าย ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็หอบ และอ่อนเพลียมากกว่าคนปกติค่ะ”

สาวสวยตาคมอธิบายให้ฟังต่อว่าแม้พาหะธาลัสซีเมียจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่เพื่อความไม่ประมาท คุณหมอจึงแนะนำให้เธอหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานไว้เป็นเกราะป้องกันร่างกาย

“พอคุณหมอพูดจบ ปูเป้ก็คิดเลยว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว จะมัวสนุกสนานกับชีวิต เป็นมนุษย์ออฟฟิศที่วันๆเอาแต่ทำงาน ตกเย็นไปเที่ยว กินเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว”

ไม่เพียงแต่ปัญหาสุขภาพที่กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนความคิดเท่านั้น เพราะคุณปูเป้ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอต้องหันมาดูแลร่างกายอย่างจริงจัง นั่นคือการเป็น “ผู้ให้”

“ปูเป้บริจาคร่างกายให้สภากาชาดไทย ทำให้เราหวนกลับมาคิดว่า เราต้องส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่คนอื่น ต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อที่ผู้รับจะได้ใช้ประโยชน์จากอวัยวะ จากร่างกายของเราได้มากที่สุด”

ทาลัสซีเมีย
คุณปูเป้ – ชุจิตา จิตสำราญ

มือใหม่หัดออกกำลังกาย สู่จอมเก๋าบ้าพลัง

          อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปนัก ที่มือใหม่ในการดูแลสุขภาพอย่างคุณปูเป้ จะหันมาออกกำลังกายเป็นนิจ…เธอเผยกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองในครั้งนั้นว่า

“ใช้ใจล้วนๆ ค่ะ (ยิ้ม) เมื่อก่อนปูเป้ออกกำลังกายแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของชีวิต วิ่ง 200 -300 เมตร ก็เหนื่อย กลับบ้านนอนแล้ว แต่หลังจากตัดสินใจที่จะดูแลตัวเองให้ดี ก็เลยตั้งกฎเหล็กว่าต้องไปออกกำลังกายให้ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี และพยายามหากีฬาหรือการออกกำลังกายที่เราสนุกไปกับมัน”

และเพราะสาวสวยคนนี้ชอบท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ เธอจึงเลือกวิธีเรียกเหงื่อด้วยการปั่นจักรยานนั่นเอง

“ปูเป้ตัดสินใจซื้อจักรยานมาคันนึง พอปั่นแล้วสนุกก็เริ่มออกทริปต่างจังหวัดกับกลุ่มเพื่อนบ้าง เดือนละ 1-2 ครั้ง นอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว ก็ได้ชมธรรมชาติ ได้ผ่อนคลายจิตใจจากความเหนื่อยล้าในการทำงาน แถมยังได้มิตรภาพใหม่ๆ จากกลุ่มคนที่รักสุขภาพเหมือนกัน

“ส่วนเรื่องวิ่ง แรกๆ ปูเป้จะตั้งเป้าหมายน้อยๆ ก่อน คือวิ่งให้ได้วันละ 1 กิโลเมตรขยับเป็น 2 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร จนทุกวันนี้วิ่งได้วันละ10 กิโลเมตร แต่ปูเป้จะเลือกวิ่งออกกำลังกายแค่วันละ 3 กิโลเมตร เพราะเป็นระยะทางที่พอดีกับร่างกายของเราที่สุด”

ผลของการฝึกซ้อมดังกล่าว ทำให้ร่างกายของคุณปูเป้แข็งแรงขึ้นมาก อาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายก็หายเป็นปลิดทิ้ง จนปัจจุบันนี้ เธอกลายเป็นนักวิ่งที่มีเหรียญรางวัลคล้องคอนับไม่ถ้วน แถมยังมีพลังเหลือเฟือไว้ปั่นจักรยาน ที่ไบค์เลนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทางถึง 24 กิโลเมตร ทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์อีกด้วย

ทาลัสซีเมีย
คุณปูเป้ – ชุจิตา จิตสำราญ

 

เส้นทางสุขภาพสุดหฤโหด สไตล์ซูเปอร์วูแมน

          ความอึดเกินร้อยของสาวร่างเล็กยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะการจะเป็น “ซูเปอร์วูแมนสุขภาพเลิศ” ทั้งที มันก็ต้องมีสุดยอดวีรกรรมกันหน่อย จริงไหมคะ

“ปูเป้เพิ่งลงแข่งขันทวิกีฬา ที่หัวหินมาค่ะ ถือเป็นสนามที่โหดมากกก เพราะต้องวิ่ง 2.5 กิโลเมตร ต่อด้วยปั่นจักรยาน 25 กิโลเมตร แล้วปิดท้ายด้วยวิ่งอีก 5 กิโลเมตร ภายในเวลาแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง

“ก่อนลงแข่ง 3-4 เดือน ปูเป้ต้องฝึกซ้อมทั้งวิ่งและปั่นจักรยานพอวันแข่งจริง เหนื่อยมากกก ใจจะขาดให้ได้ (หัวเราะ) แต่พอได้ยินเสียงเชียร์สองข้างทาง แล้วนึกภาพตอนเข้าเส้นชัย เราก็มีแรงฮึด จนทำสำเร็จ ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงเองนะ” คุณปูเป้ยืดอกอย่างภาคภูมิใจก่อนจะเล่าวีรกรรมสุดหฤโหดของเธอต่อว่า

“อีกหนึ่งสนามที่ปูเป้ภาคภูมิใจมากคือ การปั่นจักรยานเส้นทานสัตหีบ ภูตาหลวง ความท้าทายคือตลอดเส้นทางจะมีเนินขึ้นๆ ลงๆ และเราต้องปั่นให้ครบ 119 กิโลเมตร ภายในเวลาที่กำหนดคือ ออกสตาร์ทตั้งแต่ 8 โมงเช้า ต้องเข้าเส้นชัยไม่เกิน 5 โมงเย็นบางคนร่างกายไม่แข็งแรงพอ เป็นลมก็มี อาเจียนก็มี แต่ปูเป้ถึเข้าเส้นชัยตั้งแต่ 4 โมงเย็น ดีใจมาก”

ไม่เพียงแต่เส้นทางของคนรักสุขภาพภายในประเทศเท่านั้น  …“เนปาล” ดินแดนแห่งการเดินท่องเที่ยวผจญภัย หรือที่เรียกกันว่า เทรคกิ้ง (Trekking)เธอคนนี้ก็พิชิตยอดเขามาแล้วเสียด้วย

“หลังจากหมั่นออกกำลังกาย จนมั่นใจว่าร่างกายและจิตใจของตัวเองแข็งแรงมากพอ ปูเป้ก็ตัดสินใจไปเดินเที่ยวผจญภัยตามป่าเขาที่ท้าทายขึ้น อย่างเส้นทาง Langtang Trekking ในประเทศเนปาล ที่ต้องเดินทางชันขึ้นหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย สูงถึง 4600 เมตร ระยะทางไปกลับ 100 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 10 วัน

“ยิ่งเดินสูงมากขึ้นเท่าไหร่ อากาศก็ยิ่งหนาว ออกซิเจนก็ยิ่งน้อยลง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียมาก แต่เพราะปูเป้ออกกำลังกาย จนร่างกายแข็งแรงมาก ทำให้เราเดินได้สบายบรื๋อ”

ซูเปอร์วูแมนยิ้มกว้าง ก่อนจะเผยว่า ความอิ่มเอมใจของเธอ แท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงการเข้าเส้นชัย หรือการคว้าเหรียญรางวัลใดๆ ได้สำเร็จ แต่เป็นเพราะการก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายได้สำเร็จต่างหากล่ะ

ทาลัสซีเมีย
คุณปูเป้ – ชุจิตา จิตสำราญ 

กินคลีน เคล็ดลับเพิ่มพลัง

          เพราะการออกกำลังกาย หรือฝึกซ้อมเพื่อฟิตร่างกายก่อนลงสนามแข่งใดๆ ต้องใช้พลังงานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่น้อย คุณปูเป้จึงต้องดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน

“ปูเป้กินอาหารคลีนเป็นหลักมื้อเช้าจะกินมูสลี่ กับนมอัลมอนด์ หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่กับปลานึ่ง แกล้มด้วยผักสด ถ้าอยากกินปลาทอด ก็จะทอดโดยใช้น้ำมันมะกอก วันไหนไม่ค่อยมีเวลาก็จะกินขนมปังทาเนยถั่ว โรยผลไม้ลงไปอีกหน่อย ก็อร่อยและได้ประโยชน์แล้ว

“มื้อกลางวัน ชอบกินก๋วยเตี๋ยว หรือเลือกเมนูที่มีผักเยอะๆ ไว้ก่อน ส่วนมื้อเย็น ถ้าไม่เป็นเมนูปลา ก็จะกินข้าวไรซ์เบอร์รี่ กับผักสดหรือลวกจิ้มน้ำพริกค่ะ”

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การดื่มน้ำก็ถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้การออกกำลังกายของสาวคนนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ปูเป้จะดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเปล่าธรรมดาที่อยู่ในอุณหภูมิห้อง เพราะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดลดการบาดเจ็บของข้อต่อ และกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกายได้ ทำให้กล้ามเนื้อไม่ตึง หดเกร็ง หรือเป็นตะคริว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสมดุลให้กับระบบประสาทและสมองอีกด้วย ทำให้รู้สึกสดชื่น แจ่มใสมากขึ้นค่ะ”

ซูเปอร์วูแมนรักสุขภาพพูดจบ ก็ขอตัวไปปั่นจักรยานสักรอบสองรอบ …เห็นลีลาของเธอแล้วต้องยกนิ้วให้จริงๆ ค่ะ

ภาพ : ธรรมนาถ อินทร์ปรุง

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 434 เขียนโดย ธัญชนิต คงสมพงษ์

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.