วินิจฉัย โรคหัวใจ เพื่อคนไข้ปลอดภัย ประหยัดงบ
ผม (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) ขออธิบายให้ทุกคนเข้าใจถึงสัจธรรมในวิชาตรวจ โรคหัวใจ แบบแจ่มแจ้ง 3 ข้อดังนี้
ข้อที่ 1
การวินิจฉัยว่าใครเป็น โรคหัวใจขาดเลือด (IHD) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (CAD) ซึ่งเป็นโรคเดียวกันนี้ไม่ใช่การวินิจฉัยโรคแบบโรคมะเร็งที่มุ่งแต่จะฟันธงทันที โชะเด๊ะ ว่า “เป็นโรค” หรือ “ไม่เป็นโรค” แล้วจบข่าว ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะจากสถิติการผ่าศพคนที่เสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติพบว่า ผู้ใหญ่ที่แม้ไม่มีอาการ อะไรเลยส่วนใหญ่เกือบทุกคนเป็นโรคนี้กันเรียบร้อยแล้ว คือ ผนังหลอดเลือดหัวใจมีตุ่มไขมัน พอกมากบ้างน้อยบ้าง เพียงแต่ว่าที่เป็นหนักถึงขั้นการไหลของเลือดติดขัดนั้นมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นผลวิจัยของฝรั่ง
ปัจจุบันสถิติของคนไทยก็ไม่ได้แตกต่างจากฝรั่งในเรื่องนี้ เผลอๆ จะแซงหน้าฝรั่งในเวลาอีกไม่ช้าไม่นาน เพราะงานวิจัยในคนไทยทุกชิ้นให้ผลสรุปตรงกันว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาด เลือดในคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมเองเคยศึกษาสถิติใน คนอายุเกิน 40 ปีที่ไม่ได้ป่วยเป็นอะไรเลยจำนวนสามพันกว่าคน พบว่า 56 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคไขมันในเลือดสูงถึงเกณฑ์ที่แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยารักษา คือ เรียกว่าแค่ดูไขมันในเลือดก็เอาปูนกาหัว ได้แล้วว่า 56 เปอร์เซ็นต์ ขอโทษ…จะไม่ได้ตายดี ไม่ต้องไป ตรวจวินิจฉัยอะไรให้ยุ่งยากเลย
ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้จึงไม่ใช่เพื่อที่จะบอกว่าใคร “เป็นโรค” หรือใคร “ไม่เป็นโรค” แต่วินิจฉัยเพื่อที่จะบอกว่า ใครเป็นโรคหนักถึงขั้นที่ควรจะคัดกรองเอาไปลงไม้ลงมือรักษาด้วยวิธีที่รุกล้ำ รุนแรง หมายถึงด้วยการทำบอลลูนใส่สเต็นท์ (Stent) หรือผ่าตัด บายพาส เพราะถ้าจะแค่วินิจฉัยว่าใคร “เป็น” โรคนี้บ้างนั้น ดูจาก โหงวเฮ้งประกอบกับประเมินจากลักษณะการกินการอยู่ก็วินิจฉัย ได้ด้วยความแม่นยำพอควรแล้ว แม้แต่ตัวคนไข้ก็วินิจฉัยตัวเองได้ ไม่ต้องไปเสียเวลาตรวจอะไรเป็นพิเศษดอก
แต่ที่หมอพยายามตรวจวินิจฉัยทุกวันนี้เป็นการตรวจเพื่อจัดความเสี่ยงของคนที่เป็นโรคแล้วว่า ใครเป็นมากถึงขั้นที่ควรจะเอาไปรักษาก่อนที่โรคจะสำแดงเดชบ้าง คือพูดง่ายๆ ว่าตรวจเพื่อคัดกรอง คนที่เป็นโรคระดับ “มาก”