3 ต้อ ! ต้อกระจก – ต้อลม – ต้อเนื้อ โรคร้ายจากแสงยูวี
คุณทราบกันหรือไม่ว่า นอกจากการรับรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดโรค ต้อ ชนิดต่าง ๆ แล้ว การรับรังสียูวีในคราวเดียวก็ส่งผลร้ายต่อดวงตาด้วย โดยหากรับรังสียูวีต่อเนื่อง 6 – 10 ชั่วโมง จะทำให้เกิดแผลเล็ก ๆ ที่กระจกตาทำให้ตามัว และมีอาการปวดตามาก รวมถึงน้ำตาไหล ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบในกลุ่มผู้เล่นสกี หรือทำงานเชื่อมโลหะโดยไม่สวมแว่นตาสำหรับป้องกันแสงยูวีโดยเฉพาะ
ข้อมูลจากบทความเรื่อง “โทษของแสงยูวีต่อดวงตา” ของ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสกาวรัตน์ คุณาวิศรุต ในหนังสือ ตาดีได้ ตาร้ายไม่เสีย สรุปว่า หากคุณเข้าข่ายเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ดวงตาของคุณก็มีความเสี่ยงจะได้รับอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (Ultraviolet) มากกว่าคนทั่วไปแล้ว
โดยกล่าวถึงผลร้ายที่ดวงตาต้องเผชิญจากการรับรังสียูวีว่า เนื่องจากรังสียูวีซึ่งเป็นรังสีคลื่นสั้นที่มีความเข้มข้นสูง เมื่อเนื้อเยื่อในร่างกายดูดซึมรังสียูวีเข้าไป จะทำให้โมเลกุลในเซลล์ถูกทำลายและเกิดเสื่อมสภาพเร็วขึ้น รวมถึงอาจนำไปสู่การเกิดโรคต้อชนิดต่าง ๆ ในดวงตาอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้การประกอบอาชีพที่ต้องอยู่กลางแจ้งหรือทำงานในที่สูง เช่น นักบินหรือนักไต่เขา รวมถึงทำงานใกล้อุปกรณ์ที่ก่อรังสียูวี ทำให้ดวงตามีโอกาสรับรังสียูวีมากกว่าปกติ
นอกจากนี้กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่ผิวหนังไวต่อรังสียูวีจากแสงแดด หรือผู้เป็นโรคจอตาเสื่อมซึ่งเซลล์การมองเห็นในดวงตาจะเสื่อมเร็วขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวี อีกทั้งผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มโฟโตเซนซิไทเซอร์ (Photosensitizer) ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) หรือยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ซึ่งตัวยามักเข้าไปจับอยู่ที่เลนส์ตาและดูดแสงยูวีเพิ่มขึ้น ล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยงทั้งสิ้น
โดยโรคดวงตาที่มีผลมาจากรังสียูวีมีดังนี้
- ต้อกระจก
คุณหมอสกาวรัตน์อธิบายว่า “ต้อกระจก” เกิดจากการรับแสงยูวีสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาการคือ มีฝ้าขาวอมเหลืองที่เกิดจากโปรตีนชั้นกลางของเลนส์ตาเปลี่ยนสภาพไป และลุกลามเข้าสู่กึ่งกลางเลนส์ตาทำให้ตามัวลง - ต้อเนื้อและต้อลม
คุณหมอสกาวรัตน์อธิบายว่า เมื่ออยู่ท่ามกลางแสงแดดที่มีรังสียูวีเป็นประจำ อาจทำให้เกิดความเสื่อมที่เยื่อบุตา เกิดเป็นตุ่มสีเหลืองบริเวณใกล้ตาดำ เรียกว่า “ต้อลม” ซึ่งต่อมาเมื่อเยื่อบุตาถูกสิ่งระคายเคือง เช่น ลม ฝุ่นละออง รวมถึงแสงแดดจ้าที่มีรังสียูวีซ้ำ ตุ่มสีเหลืองดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นเนื้อยื่นเข้าไปในตาดำ เรียกว่า “ต้อเนื้อ” นั่นเอง
CHECKLIST!
- คุณอายุ 60 ปีขึ้นไป ใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้ง หรือมีอาชีพเป็นนักบินหรือนักไต่เขา และไม่สวมแว่นตาที่ป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดเป็นประจำ
- คุณทำงานใกล้เครื่องมือที่ก่อรังสียูวี เช่น เครื่องฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล ตะเกียงปรอท หลอดไส้ หรือเครื่องเลเซอร์ต่าง ๆ
- คุณมีโรคประจำตัวที่ผิวหนังไวต่อรังสียูวีในแสงแดด หรือเป็นโรคจอตาเสื่อม (Retinitis Pigmentosa)
- คุณใช้ยาในกลุ่มโฟโตเซนซิไทเซอร์ (Photosensitizer) ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) หรือยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) เป็นประจำ
วิธีเลือกแว่นกันแดดป้องกันโรคต้อ
สำหรับการปกป้องดวงตาจากรังสียูวี คุณหมอจุฑาไลแนะนำว่า ก่อนออกแดดทุกครั้งควรสวมหมวกหรือแว่นตากันแดดเพื่อป้องกันแสง ก็จะสามารถลดความรุนแรงของรังสียูวีที่มีผลต่อดวงตาได้
เนื่องจาก “แว่นตากันแดด” มีความจำเป็นในการปกป้องดวงตาจากรังสียูวี วันนี้จึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกแว่นตากันแดดเพื่อปกป้องสายตาจากแสงยูวี จากบทความของ นายแพทย์ธีรวีร์ หงษ์หยก ในหนังสือ ตาดีได้ ตาร้ายไม่เสีย มาฝากดังนี้ค่ะ
- เลนส์ ควรเลือกเลนส์ที่มีความสามารถในการป้องกันรังสียูวีสูงสุด นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้แว่นกันแดดที่มีการฉาบแต่งสี แต่ไม่มีการป้องกันรังสียูวี เนื่องจากแว่นลักษณะดังกล่าวจะยิ่งทำให้รูม่านตาขยายและทำให้รังสียูวีเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้นอีกด้วย
- กรอบแว่น ควรเลือกกรอบแว่นที่มีความกว้างของเลนส์มาก เนื่องจากสามารถกันแสงได้มากกว่าแว่นกันแดดขนาดเล็ก ซึ่งอาจมีแสงเล็ดลอดผ่านด้านบนและล่างของกรอบแว่นเข้าสู่ดวงตาได้ นอกจากนี้ควรเลือกกรอบแว่นที่มีความแข็งแรง เพื่อจะช่วยปกป้องดวงตาจากอุบัติเหตุที่มีวัตถุกระแทกดวงตาได้
- ความรู้สึกสบาย ควรสวมแว่นที่ใส่สบายและรู้สึกชื่นชอบ เพื่อทำให้รู้สึกอยากสวมใส่ทุกครั้งที่ออกแดด
- ปรับแต่งให้เหมาะสมกับค่าสายตาของผู้สวมใส่ เนื่องจากบางคนมีปัญหาสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง แว่นกันแดดก็ควรปรับแต่งค่าสายตาตามผู้สวมใส่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ
- มีความสามารถในการลดหรือตัดแสง แว่นดังกล่าวมีเลนส์พิเศษที่เรียกว่า เลนส์โพลาไรซ์ (Polarized Lens) ที่สามารถลดแสงสะท้อนแนวราบที่รบกวนสายตา เช่น แสงสะท้อนจากผิวน้ำ พื้นถนน กระจกรถคันที่สวนมาได้
10 อาหารปกป้องดวงตาจากแสงแดด
นอกจากอาหาร 5 กลุ่มที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา ซึ่งได้กล่าวไปข้างต้น คุณศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ได้เขียนไว้ในหนังสือ อาหารบำบัดโรค (ฉบับปรับปรุง) ว่าอาหารแคโรทีนอยด์ที่มี “ ลูทีนและซีแซนทิน” ปริมาณมาก สามารถช่วย
ปกป้องจุดรับภาพและจอประสาทตาจากรังสียูวีในแสงแดด อีกทั้งช่วยกรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นตัวการทำลายเซลล์จอประสาทตาอีกด้วย
โดย 10 อันดับของอาหารที่มีลูทีนและซีแซนทิน มีดังนี้
ผัก/ผลไม้ | ปริมาณลูทีนและซีแซนทิน (มิลลิกรัม) |
คะน้าสุก 1/2 ถ้วย | 10.3 |
ผักโขมดิบ 1/2 ถ้วย | 6.7 |
ผักโขมสุก 1/2 ถ้วย | 6.3 |
ข้าวโพดเหลืองสุก 1 ฝัก | 2.3 |
บรอกโคลีสุก 1/2 ถ้วยตวง | 1.7 |
บรอกโคลีดิบ 1/2 ถ้วยตวง | 1.1 |
เมล็ดถั่วลันเตากระป๋อง 1/2 ถ้วย | 1.1 |
ผักแขนงสุก 1/2 ถ้วยตวง | 1.0 |
ข้าวโพดกระป๋อง 1/2 ถ้วยตวง | 0.7 |
ส้ม 1 ผลกลาง | 0.2 |
เรื่อง ศุภรา ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้