HOW TO เลือกซื้อแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และ วิธีทิ้งหน้ากากอนามัย ในช่วงโควิด 19
ในสภาวะที่โรคระบาดอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ยังมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แอลกอฮอล์หน้ากากอนามัย ก็ยังจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเรา ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด วันนี้เราจึงรวบรวมวิธีซื้อแอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย และ วิธีทิ้งหน้ากากอนามัย เพื่อให้ทุกคนได้เลือกอย่างถูกต้อง และปลอดภัยต่อสุขภาพ (อ่านเพิ่มเติม เช็กอาการ COVID-19 ด้วยตัวเอง )
วิธีเลือกซื้อแอลกอฮอล์เจล
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้แนะนำ 3 วิธี เลือกซื้อแอลกอฮอล์เจลที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ป้องกันความเสี่ยงจากโควิด-19 โดยสามารถตรวจสอบฉลาก ภาชนะบรรจุ และเลขจดแจ้ง ส่วนการเก็บรักษาขอให้ระวัง อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟง่าย อาจเป็นอันตรายได้
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายวิธีไว้ดังนี้
1. ตรวจสอบฉลาก ต้องมีข้อความแสดงให้เห็นชัดเจน ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์และชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์ ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ คำเตือน เลขที่ใบรับจดแจ้ง
2. ต้องบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ เมื่อเปิดใช้จะมีกลิ่นเฉพาะของแอลกอฮอล์ และไม่เกิดการแยกชั้น เปลี่ยนสี จับเป็นก้อน หรือตกตะกอน
3. ตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” ซึ่งในรายละเอียดการจดแจ้งเครื่องสำอางต้องแสดงเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย รูปแบบใช้แล้วไม่ล้างออก หรือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
วิธีเลือกซื้อหน้ากากอนามัย
ผู้ที่ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ควรเป็นผู้ป่วยที่มีน้ำมูก ไอ หรือจาม และคนที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น ขับรถแท็กซี่ ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานบนรถสาธารณะ หรืออยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เป็นต้น บุคคลที่ไม่ที่มีอาการป่วย แพทย์แนะนำให้เลือกป้องกันตัวเองได้ด้วยหน้ากากผ้า
แต่สำหรับประชาชนที่ต้องการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อใช้หรือบริจาคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทาง อ.ย. ได้แนะให้ประชาชนดูที่ฉลากหรือเอกสารระบุมาตรฐานต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์ (Medical Grade) หากซื้อจากผู้ขายในประเทศให้ขอหนังสือรับรองการผลิตหรือนำเข้าจากผู้ขายด้วย
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แนะนำวิธีการเลือกซื้อสินค้าหน้ากากอนามัย ให้สังเกตข้อมูลบนฉลาก เอกสารกำกับ หรือคู่มือการใช้ที่ออกโดยผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- หน้ากากอนามัย ตัวสินค้าต้องระบุ ชื่อ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์, Surgical mask, Medical mask บอกวัตถุประสงค์การใช้ เพื่อกรองหรือฆ่าเชื้อโรค เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย กันละอองฝอยจากการไอ จาม
- หน้ากาก N95 ตัวสินค้าต้องระบุ ชื่อ หน้ากาก N95 ทางการแพทย์, Surgical N95, N95 respirator, Medical respirator, Surgical respirator, Healthcare respirator, Medical protective respirator และระบุประเภทและมาตรฐานของหน้ากาก และหน่วยงานที่ให้การรับรอง/อนุญาต ตามแหล่งที่มา ดังนี้-สหรัฐอเมริกา: N95 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว ASTM F1862 รับรองโดย NIOSH-จีน: KN95 อ้างอิงตามมาตรฐาน GB 19083 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว YY/T 0691-2008 รับรองโดย NMPA-สหภาพยุโรป: FFP2, FFP3 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว EN 14683, ISO 22609 รับรองโดย EU Notified Bodies-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์: N95/P2 และอาจแสดงร่วมกับรหัสมาตรฐานการทดสอบการป้องกันการซึมผ่านของของเหลว AS4381 รับรองโดย TGA
ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรจึงจะถูกต้อง
แม้หน้ากากอนามัยจะกลายเป็นสิ่งของจำเป็นของคนยุค โควิด 19 ในที่นี้ขอกล่าวถึง “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบมาตรฐาน” ที่ถูกออกแบบให้ใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (การใช้ซ้ำยิ่งจะทำให้เสี่ยงต่อเชื้อโรคเพิ่มขึ้น) สามารถใส่ต่อเนื่องได้นานทั้งวัน หรือจนกว่าจะปนเปื้อน แต่ในขณะเดียวกันด้วยจำนวนของการใช้งานท่ามกลางโรคระบาด เจ้าหน้ากากอนามัย ก็ได้กลายเป็นขยะติดเชื้อ เพราะหน้ากากอนามัยใช้แล้วมีสารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะปนเปื้อนอยู่ เราจึงควรเรียนรู้การทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น และไม่ให้ปัญหาหน้ากากอนามัยใช้แล้วตกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
1. ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ให้สะอาดก่อนถอดหน้ากากอนามัย
2. ใช้มือทั้งสองข้างจับที่เชือกคล้องหู แล้วดึงหน้ากากอนามัย โดยดันออกไปด้านหน้าเป็นแนวตรง หากเป็นไปได้ให้ระวังไม่ใช้มือสัมผัสด้านหน้าของหน้ากากอนามัย
3. พับครึ่ง เก็บส่วนที่สัมผัสร่างกายให้อยู่ด้านใน
4. จากนั้นพับครึ่งอีก 2 ทบ ให้เชือกทั้ง 2 ฝั่งอยู่ด้านเดียวกัน แล้วใช้เชือกพันรอบหน้ากาก มัดให้แน่น
5. ใส่ถุงแยกจากขยะชิ้นอื่น แล้วมัดปากถุงให้แน่น เขียนว่า ขยะติดเชื้อ
6. ทิ้งหน้ากากอนามัยลงถังขยะติดเชื้อ หรือทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด
7. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือโดยทันทีหลังจากทำการทิ้งเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ทุกคนยังสามารถช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยให้น้อยลงได้ ด้วยการใช้ให้เหมาะสม หรือใช้หน้ากากทางเลือก เช่น หน้ากากผ้า ที่ทำจากผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ หรือผ้าสาลู เพราะผ้าเหล่านี้เมื่อซักจะยิ่งเล็กลง ใยผ้าจะออกมาเหลือประมาณ 1 ไมครอน เล็กกว่าไวรัสโควิด-19 ที่มีขนาด 5 ไมครอน ซึ่งช่วยป้องกันได้ 54-59 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม หน้ากากผ้าอาจเกิดความชื้นได้ง่าย แนะนำว่า ให้เปลี่ยนหน้ากากบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้ชื้นแฉะ และเมื่อถอดหน้ากาก เพื่อนำไปซักทำความสะอาด ต้องระวังการติดเชื้อจากการสัมผัสผิวนอกของหน้ากาก ที่สำคัญ ควรล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสหน้ากากหรือใบหน้า ทั้งนี้หน้ากากผ้า นับว่าช่วยป้องกันโควิด 19 ได้ระดับหนึ่ง และยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ จึงสามารถช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งได้อีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมอนามัย, สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –