เช็กอาการด้วยตัวเอง นี่เราติดโควิด ( COVID-19 ) หรือยังนะ…
ชวน เช็กอาการด้วยตัวเอง รับมือ Covid-19 ไวรัสตัวร้ายที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น หลายคนถามตัวเองอยู่เสมอเมื่อมีอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ไอบ้าง จามบ้าง ประสาทจะเสีย กลัวถูก COVID-19 เล่นงาน นี่เราติดโควิดแล้วหรือยัง …. แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร วันนี้เราเอาวิธีการสังเกตอาการตัวเองมาฝากกันค่ะ
Covid-19 คืออะไร
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ว่า ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจนว่ามาจากที่ใด แต่เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และในภายหลังถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” (COVID-19)
อาการที่พบบ่อย
- มีไข้ มีอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีอาการทางเดินหายใจข้อใดข้อหนึ่ง อาจจะมีเพียงอาการเดียว หรือมากกว่านั้น ได้แก่ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย มีอาการปอดอักเสบ
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- ปวดเหมื่อยกล้ามเนื้อ
อาการอื่น ๆ ที่พบ
ปวดหัว
ท้องเสีย
คลื่นไส้ อาเจียน
สูญเสียการได้กลิ่นและรับรสชั่วคราว
ตาแดง
มีผื่นขึ้น
บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
- เด็กเล็ก (แต่อาจไม่พบอาการรุนแรงเท่าผู้สูงอายุ)
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง
- คนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือกินยากดภูมิต้านทานโรคอยู่
- คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก (คนที่อ้วนมาก)
- ผู้ที่เดินทางไปในประเทศเสี่ยงติดเชื้อ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อิตาลี อิหร่าน ฯลฯ
- ผู้ที่ต้องทำงาน หรือรักษาผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ลูกเรือสายการบินต่าง ๆ เป็นต้น
หากมีอาการหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องทำยังไง?
ต้องรีบเข้ารับการตรวจสอบโรคอย่างละเอียด ให้ข้อมูลที่แน่ชัดโดยไม่บิดเบือน
หากไปในพื้นที่เสี่ยงมา ให้ทำการกักตัวเป็นเวลาอย่างต่ำ 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อ
วิธีการป้องกัน Covid-19
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ เจ็บคอ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ( อ่านเพิ่มเติม วิธีการเลือกซื้อหน้ากากอนามัย )
- ระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด และอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่ รวมถึงสิ่งที่มีคนจับบ่อยครั้ง เช่น ที่จับบน BTS, MRT, กลอนประตูต่าง ๆ ราวบันไดเลื่อน ฯลฯ
- ล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาที ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% (ไม่ผสมน้ำ)
- พยายามอย่าเอามือสัมผัสหน้า งดจับตา จมูก ปากขณะที่ไม่ได้ล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิด สัมผัสสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน
- รับประทานอาหารสุก สะอาด ไม่ทานอาหารที่ทำจากสัตว์หายาก
- สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยตรง ควรใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันเชื้อในละอองฝอยจากเสมหะหรือสารคัดหลั่งเข้าตา
ถ้ารู้ถึงอาการที่พบแล้ว หากมีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบเช็คตัวเอง หรือกักตัว พยายามไม่ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือบุคคลกลุ่มเสี่ยง สวมแมสทุกครั้งที่อยู่ข้างนอก หมั่นล้างมือเป็นประจำนะคะ เราจะผ่านโควิดไปด้วยกันค่ะ
……………………………………………………………………………….
ที่มา : http://www.tosh.or.th/covid-19/index.php/covid-19-3
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ลลิตา ศรีหาบุญมา
———————————
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เรื่องหัวใจ ดูแลให้ดีช่วงโควิด 19
เสริมภูมิ ให้ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19…ด้วยพืช ผัก ผลไม้และเครื่องเทศ