ผู้หญิงไทยเสี่ยงโรค ‘ ช็อกโกแลตซีสต์ ’ ไม่หายขาด อาจเป็นซ้ำ ควรรักษาต่อเนื่อง

สูตินรีแพทย์ห่วงผู้หญิงไทยเสี่ยงโรค ‘ ช็อกโกแลตซีสต์ ’

สูตินรีแพทย์เจ้าของเพจดัง ร่วมวงเสวนา ‘Expert Treat Expert Talk’ ออกโรงเตือนผู้หญิงไทยจำนวนมาก มีโอกาสเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ  ช็อกโกแลตซีสต์ ถ้ามีสัญญาณอันตราย เช่น อาการปวดท้องน้อยอย่างต่อเนื่อง รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ระบุเป็นภาวะเรื้อรังเสี่ยงเกิดซ้ำได้อีกแม้ผ่าตัดแล้ว พร้อมเปิดตัว Endo Diary แอปพลิเคชันบันทึกช่วยจำสำหรับผู้ป่วย เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้น

ทำความรู้จัก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

‘โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่’ เป็นโรคที่ผู้หญิงไทยเป็นกันไม่น้อยและวิตกกังวลเกี่ยวกับการรักษา ‘Expert Treat Expert Talk’ งานเสวนาทาง Facebook Live ได้รับเกียรติจากสูตินรีแพทย์ชื่อดัง 3 ท่าน มาร่วมพูดคุย ประกอบด้วย นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพจ ‘Olarik Musigavong’ (https://www.facebook.com/olarik.musigavong) นพ.อรัณ ไตรตานนท์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าของเพจ ‘อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน’ (https://www.facebook.com/tritanonarun/) และ พญ.กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี เพจ Doctor ออ, Woman expert (https://m.facebook.com/Dr.Korapin/) โดยมีคุณ “บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” เป็นผู้ดำเนินรายการ

นพ.อรัณ ไตรตานนท์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนต้องหมั่นสังเกตตัวเองเสมอ เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ที่พบมักมีความเข้าใจผิด คิดว่าการที่ประจำเดือนไม่มาเป็นเรื่องไม่ดี หรือเมื่อไม่มีอาการปวดแล้วก็มักจะไม่มาพบแพทย์ตามนัด แต่จริงๆ การไม่มีประจำเดือนที่เกิดจากการรับประทานยาเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้ และแม้ว่าจะไม่มีอาการปวดแล้วก็ควรจะมาพบแพทย์ตามนัด เนื่องจากอาจมีโรคแทรกซ้อนอยู่ ขอย้ำว่าโรคนี้ป้องกันอาการรุนแรงได้ด้วยการทานยา ให้รีบมารักษาแต่เนิ่นๆ หากปล่อยไปอาจเกิดโรคอื่นตามมา เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฯลฯ

การรักษา

สำหรับยาหลักๆ ที่แพทย์ใช้รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็คือ กลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) โดยทั่วไปอยู่ในรูปของยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนบางชนิด ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความเข้าใจผิดว่าเมื่อทานยาฮอร์โมนแล้วจะมีบุตรยากหรือยาไปกระตุ้นเซลล์จนเกิดเป็นเนื้องอก แต่จากรายงานผลศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

“กรณีคนไข้เข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่แล้ว 90% ดีขึ้น แต่หลายครั้งรอยโรคยังอยู่ แต่คนไข้กลับเลิกกินยา ทำให้ถุงน้ำรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ ยังมีโอกาสโตได้อีก ข้อแนะนำคือไม่ควรที่จะหยุดทานยาหรือมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ”

ช็อกโกแลตซีสต์ ปวดท้อง ปวดท้องประจำเดือน

ที่น่ากังวล

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สถิติจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำกว่า 10% ดังนั้น ผู้หญิงสังเกตตัวเองได้จากอาการปวดท้องน้อย รู้สึกเจ็บลึกๆ เวลามีเพศสัมพันธ์ หรือมีบุตรยาก ควรรับการตรวจภายในประจำทุกปีเพื่อดูปากมดลูกและรังไข่ เพราะการไม่มีอาการมิได้หมายถึงไม่ได้เป็นโรค บางคนมีอาการตั้งแต่วัยรุ่นแต่กว่าจะมาหาหมอ 7-10 ปี จะมีผลเสียและอาการที่รุนแรงตามมา

“หากตรวจพบช็อกโกแลตซีสต์ระยะแรก มีขนาดเล็ก เช่น 1 เซนติเมตร อาจรักษาด้วยการทานยาได้ ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องเจ็บตัว แต่คนไข้จำนวนไม่น้อยพอมีอาการดีขึ้น กินยาแล้วหรือผ่าตัดแล้วก็จะหายไป จริงๆ ควรมาพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัดเพราะสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้”

พญ.กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี อธิบายว่า ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นพิษต่อรังไข่สามารถซ่อนอยู่ได้หลายจุด บางกรณีอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์ก็อาจไม่พบ เช่น ไปฝังด้านหลังมดลูก การพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็วเป็นเรื่องสำคัญ และสามารถรักษาด้วยยาซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปมาก ทั้งยาคุมกำเนิด ยาโปรเจสติน เช่น ไดอิโนเจส (dienogest) ยังไม่มีการวิจัยที่สรุปได้ว่าการกินยารักษาโรคนี้จะทำให้เกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงมดลูก ถ้าใช้ในความดูแลของแพทย์

“โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง แม้จะท้องหรือคลอดบุตรแล้วก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ไม่เข้าสู่วัยทองหรือหมดประจำเดือนก็จะยังไม่หาย โรคนี้รักษาด้วยยาเป็นหลัก บางกรณีอาจต้องรักษาโดยการส่องกล้องผ่าตัด”

ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เชื่อว่าเกิดจากเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งเลือดประจำเดือนเหล่านี้มี ‘เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก’ อยู่ด้วย แล้วมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกไปฝังผิดที่ที่อวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดโรคขึ้น เช่น ฝังที่รังไข่จนเกิดเป็นซีสต์สีดำคล้ำคล้ายช็อกโกแลตมักเรียกกันว่า ‘ถุงน้ำช็อกโกแลต’ หรือ ‘ช็อกโกแลตซีสต์’ ซึ่งทำให้คนไข้ปวดบริเวณท้องน้อยและมีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน Endo Diary TH ได้ทั้ง App Store และ Google Play ซึ่งสามารถช่วยเตือนการรับประทานยา ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรค ตลอดจนช่วยบันทึกอาการสำคัญต่างๆ อาทิ อาการปวด อารมณ์เป็นอย่างไร เลือดประจำเดือนเป็นอย่างไร มีลิ่มเลือดปนในประจำเดือนหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ชวนทำความรู้จัก ที่มาของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด : มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น

สังเกต อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง สัญญาณเตือนสุขภาพคุณผู้หญิง

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.