กินเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสุขภาวะ ผู้สูงวัย
ในแต่ละช่วงอายุคน ความต้องการด้านสารอาหารของร่างกายมีความแตกต่างกัน วัยเด็กร่างกายต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและสร้างสติปัญญา วัยผู้ใหญ่เน้นสารอาหารที่สามารถเสริมสร้างกำลังกายและกำลังสมอง แต่สำหรับใน ผู้สูงวัย สารอาหารที่ร่างกายต้องการโดยส่วนมากแล้วเน้นเพื่อการคุ้มกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บเป็นส่วนมาก การรับประทานอาหารของแต่ละช่วงอายุจึงมีความแตกต่างกัน รวมทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารของแต่ละวัยก็มีความแตกต่างด้วยเช่นกัน
วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายของผู้สูงอายุ มีปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือภาวะโภชนาการและวิถีดำเนินชีวิต ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ ของสังคม ความสำคัญของหลักโภชนาการที่ถูกต้องจึงยังเป็นเรื่องที่ไม่เข้าถึงมากนัก ผู้สูงอายุส่วนมากมีพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่ถูกหลักโภชนาการและสุขลักษณะ ส่งผลให้ร่างกายที่มีภูมิต้านทานอ่อนแออยู่แล้วนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายขึ้นอีก
จะเห็นได้ว่าการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและสุขอนามัยมีความสำคัญ เน้นคำนึงถึงความต้องการสารอาหารของร่างกาย มีความหลากหลายและสมดุลพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปจนการทำงานของระบบร่างกายผิดปกติหรือต้องไม่น้อยเกินเกิดภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนี้การออกกำลังกาย การผ่อนคลายทางจิตใจรวมทั้งการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นผลด้านเสียก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการมีสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุอีกด้วย
โรคที่พบในผู้สูงอายุมีมาจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอาหารและโภชนาการ เนื่องจากระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของผู้สูงอายุได้มีการเปลี่ยนแปลง อวัยวะแต่ละส่วนมีการทำงานด้อยลงไป รวมทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่น การรับรู้รสและกลิ่นของอาหารได้ไม่ดี ทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลงไป ประกอบกับปัญหาเรื่องเหงือกและฟันและระบบการย่อย การดูดซึมได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงมักจะมีปัญหาสุขภาพต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ถ้าได้รับสารอาหารมากไปหรือไม่เพียงพออาจมีภาวะแทรกซ้อนของโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น โรคข้อกระดูกเสื่อม โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ถ้าผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเกี่ยงข้องเอาใจใส่ดูแล แนะนำเกี่ยวกับการบริโภค
ทั้งนี้จะเห็นได้วว่าส่วนใหญ่โรคที่พบในผู้สูงอายุที่กล่าวมา สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง ไม่มีความอยากอาหาร ระบบการย่อยและดูดซึมเสื่อมสภาพ และอารมณ์ที่ผันแปร ว้าเหว่ วิตกกังวล ทำให้ความอยากรับประทานอาหารลดลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ นำไปสู่ความจำเป็นของความต้องการผู้ดูแล และความสำคัญของโภชนาการ ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ต้องรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วน ได้รับปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ คือมีความต้องการพลังงานและสารอาหารชนิดอื่น ๆ เหมือนบุคคลทั่วไป
ดังนั้นผู้สูงอายุต้องหันมาดูแลสุขภาพของตนเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกต้องเพื่อต้านทานโรค เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งเสมอ การรักษาด้วยยาถึงแม้ว่าจะช่วยบำบัดโรค แต่อาหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง หายเร็ว มีระยะพักฟื้นสั้น และรักษาโรคได้ โดยเฉพาะอาหารที่ใช้เครื่องเทศที่มีสรรพคุณทางยาจะช่วยให้ร่างกายมีความต้านทานสูง ทำให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเอง และในการทำงานมาขึ้น มีอายุยืนยาว และที่สำคัญทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ปัจจัยทางด้านโภชนาการที่มีอิทธิพลต่อภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี หรือก่อให้เกิดปัญหากับตัวผู้สูงอายุได้ และยังส่งผลถึงคุณภาพชีวิตโดยตรง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสถานภาพส่วนบุคคลที่มีพฤติกรรมการกินอาหารในแต่ละวันที่มีผลต่อชีวิต บ่อยครั้งที่รับประทานอาหารเข้าไป เพื่อให้อิ่มท้องหรือรับประทานเพราะความอร่อย จะไม่ได้นึกถึงว่าจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ จนเมื่อเจ็บป่วยถึงจะหันมาสนใจและปรับปรุงพฤติกรรมการกิน
หลักการทั่วไปสำหรับเลือกและเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ
ทีนี้เราลองมาดูหลักในการเลือกอาหาร รวมถึงการเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุกันค่ะ
ควรเลือกอาหารที่มีในท้องถิ่น ออกตามฤดูกาลเพราะจะทำให้ได้รับสารอาหารสูงสุด ไม่มีสารเคมีที่ใช้บังคับให้ออกนอกฤดู และควรเป็นอาหารที่ผู้สูงอายุชอบรับประทาน เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุรับประทานได้มากขึ้น เลือกอาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือกึ่งของเหลว เพื่อให้กลืนง่าย ไม่ติดคอ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นมถั่วเหลือง เป็นต้น
เลือกอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เพื่อให้เคี้ยว และย่อยง่าย เช่น ข้าวหุงนิ่ม ๆ ปลา ไข่ เต้าหู้ ผักต้ม เป็นต้น ดื่มน้ำผลไม้คั้นสดแทนผลไม้สดได้ อาจใช้การปั่นทั้งลูก เพื่อให้ได้ใยอาหาร ควรนำไขมันหรือเส้นใยที่เหนียวออกก่อนประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรใช้การฉีก สับ ปั่น บด หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก เพื่อช่วยให้การเคี้ยวและการกลืนง่ายขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก เนื้อสัตว์ เป็นต้น
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะเหนียว เคี้ยวยากหรืออาหารที่สามารถติดตามซอกฟันได้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ร้อน แห้ง รสเค็ม รสเผ็ด รสเปรี้ยวหรือเป็นกรด เพื่อลดความระคายเคืองหรือความเจ็บปวดในช่องปาก
แนวทางการบริโภคอาหารสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป
อาหารประเภทข้าว แป้ง ก๋วยเตี๋ยว ควรบริโภคแต่พอควร และน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว เช่น บริโภคให้น้อยลงมื้อละ 1 ทัพพี ควรลดอาหารประเภทน้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน เพื่อป้องกันโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง
อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นุ่ม เคี้ยวง่าย อาจสับหรือเคี่ยวให้เปื่อย เนื้อปลา เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีลักษณะนุ่มเคี้ยวง่าย ย่อยและดูดซึมได้ดี
อาหารประเภทไขมัน ควรลดอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารที่มันจัด อาหารทอด แกงกะทิต่าง ๆ ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิคในการปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย หลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์
สำหรับอาหารประเภทผักและผลไม้ ผู้สูงอายุควรเลือก ควรกินผักหลาย ๆ ชนิดสลับกัน ควรเป็นผักที่นึ่งหรือต้มจนสุก ไม่ควรบริโภคผักสด เนื่องจากย่อยยาก เกิดแก๊สท้องอืดท้องเฟ้อได้ ผลไม้ควรกินทุกวันเพื่อให้ได้วิตามินซีและใยอาหาร และควรเป็นผลไม้เนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอกล้วยสุก ถ้าผู้สูงอายุเป็นโรคเบาหวานหรือน้ำหนักตัวมาก ไม่ควรกินผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ลำไยทุเรียน ขนุนเป็นต้น
อย่างไรก็ตา ต้องไม่ลืมว่าปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงอายุที่เรารักจะชะลอหรือป้องกันได้จากการดูแลเอาใจใส่ พร้อมทั้งคำแนะนำของลูกหลานและผู้ดูแล นั่นเพราะเรื่องการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุมีความต้องการอาหารเช่นเดียวกับวัยอื่น ๆ การรับประทานอาหารต้องครบ 5 หมู่ทุกวัน แต่แตกต่างกันในด้านปริมาณอาหารที่ลดลง และลักษณะของอาหาร การเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับวัย ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณร่วมกับการพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค อีกทั้งยังสามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ