เขมาเขมสรณทีปิกคาถา (แปล)
เขมาเขมสรณทีปิกคาถา เป็นพระสูตรที่สอนให้ชาวพุทธไม่หลงงมงาย
พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ แห่งวัดป่าปาลเดชธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า คนสมัยโบราณยึดถือธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ภูเขา หรือแม้กระทั่งผีสางนางไม้เป็นที่พึ่งทางใจ ความเชื่ออย่างนี้เราเรียกว่าศาสนาผี ศาสนาธรรมชาติ ไม่ใช่ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธมองว่าที่พึ่งดังกล่าวนี้เป็นเพียงที่พึ่งชั่วคราว ไม่มั่นคง ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ หรือที่พึ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดปัญญาที่ถูกต้อง ความเชื่อที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนานั้นต้องเป็นความเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญญา คือเห็นความจริงของสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ไม่หลงงมงาย เช่น ความเชื่อในอริยสัจ 4 ดังปรากฏอยู่ในบทสวดเขมาเขมสรณทีปิกคาถา
(หันทะ มะยัง เขมาเขมะสะระณะทีปิกะคาถาโย ภะณามะ เส)
เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงสรณะอันเกษมและไม่เกษมเถิด
พะหุง เว สะระณัง ยันติ ปัพพะตานิ วะนานิ จะ
อารามะรุกขะเจตะยานิ มะนุสสา ภะยะตัชชิตา
มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง
ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้างเป็นสรณะ
เนตัง โข สะระณัง เขมัง เนตัง สะระณะมุตตะมัง
เนตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะ ทุกขา ปะมุจจะติ
นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย, นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต
จัตตาริ อะริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว
เห็นอริยสัจคือความจริงอันประเสริฐสี่ด้วยปัญญาอันชอบ
ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง
อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง
คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงพ้นทุกข์เสียได้
และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐเครื่องถึงความระงับทุกข์
เอตัง โข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง
เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ
นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้