ทำไมต้อง โรคเบาหวาน
หากเอ่ยถามถึงที่มาที่ไปของ โรคเบาหวาน หลายคนเข้าใจผิด และคิดว่าสาเหตุเกิดจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งความจริงตัวน้ำตาลไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคนี้ หากแต่การกินน้ำตาลมากไปนั้นเป็นผลทำให้เกิดโรคอ้วน แล้วนำมาซึ่งโรคเบาหวานได้นั่นเอง อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้บอกเล่าถึงสาเหตุของโรคที่ไม่ใช่โรคอย่างเบาหวานไว้ว่า
“เบาหวาน” หรือ DIABETES MELLITUS หรือเรียกสั้นๆ ทางภาษาแพทย์ว่า DM นี้ เป็นโรคซับซ้อน (COMPLEX) ที่ว่าซับซ้อนนี้หมายความว่า จะมีอาการต่างๆ หลายอาการมารวมกัน สาเหตุประการแรกนั้นเกิดจากตับอ่อนทำงานไม่ได้ตามปกติ คือไม่สามารถจะขับฮอร์โมนอินซูลินออกมา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของเราได้ สาเหตุประการที่สองก็คือ ถ้าหากว่าตับอ่อนสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆ ซึ่งเป็นผู้รับฮอร์โมนอินซูลิน ไม่ยอมรับอินซูลินเข้าไปในเซลล์ ปริมาณน้ำตาลในเลือดของเราก็ไม่มีอะไรมาควบคุม ปริมาณน้ำตาลจึงขึ้นสูง หรือขึ้นๆ ลงๆ ได้ตามชอบใจ
เบาหวานยังสามารถแบ่งเป็นชนิดหรือ TYPE ได้เป็น 4 TYPE ได้แก่
1. ชนิดที่หนึ่งหรือ TYPE I คือ เบาหวาน ซึ่งต้องใช้อินซูลินหรือให้อินซูลินเป็นประจำ หรือเบาหวาน ซึ่งมีอาการมาตั้งแต่เด็ก หรือเบาหวานซึ่งจะทำให้สารคีโตน (KETONE) ในร่างกายสูงขึ้น และทำให้เกิดอาการกรดในร่างกายสูง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
2. ชนิดที่สอง TYPE II คือเบาหวานที่ไม่ต้องใช้อินซูลินเป็นประจำ หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “เบาหวานในผู้ใหญ่” เนื่องจากพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อีกทั้งส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่น้ำหนักมากเกินควร
3. ชนิดที่สาม TYPE III มักจะเกิดกับสตรีซึ่งกำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้วอาการ DM จะหายไป แต่ก็มีบางคน DM กลับเกิดขึ้นมา กลายเป็นประเภท TYPE II ได้
4. ชนิดที่ 4 TYPE IV จะเป็นชนิดนอกเหนือไปจาก 3 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว มักจะเกิดโรคเกี่ยวกับตับอ่อนโดยเฉพาะ หรือเกิดจากอาการที่เกี่ยวกับฮอร์โมนผิดปกติ หรือเกิดจากการแพ้ยาหรือกินยาผิดขนาดนานเกินไป หรือเกิดจากความพิการทางยีน (GENE)
ของแถมจากโรคเบาหวาน อาการร่วมของคนที่เป็นเบาหวานหรือ DM มักจะมีอาการสำคัญอื่นๆ ประจำตัวร่วมด้วย คือ
1. ความดันโลหิตสูง ข้อนี้ไม่น่าสงสัย ผู้ที่เป็น DM มักจะมีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ความดันโลหิตจึงสูงตามไปด้วย
2. มีอาการทางโรคหัวใจ เมื่อมีความดันโลหิตสูงบวกกับอาการน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีอาการเพลียประจำตัว การเต้นของหัวใจผิดปกติ หลายคนที่เป็น DM มักจะคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ
3. ปวดข้อและกล้ามเนื้อ หรือมีอาการของ ARTHRITIS ซึ่งก็คือข้อต่ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ บางคนอักเสบรุนแรงมาก ข้อต่อบวมอักเสบจนเดินไม่ได้
4. อาการปวดทั้งตัว (FIBROMYALGIA) ปวดแบบนี้ไม่ใช่ปวดตามข้ออย่างเดียว แต่ปวดไปทั้งตัว ปวดกล้ามเนื้อ และปวดหัว บางครั้งมีอาเจียนด้วย
แม้จะกินยาหรือฉีดยาแก้อาการเบาหวานแล้ว แพทย์ก็มักจะให้ยาอื่นๆ ควบไปด้วย เพื่อแก้อาการนั้นๆ ซึ่งยาต่างๆ ก็อาจส่งผลข้างเคียงขึ้นมาได้