ยังอยู่ในช่วงเทศกาลแห่งความรัก เลยอยากชวนคุณมาคุยเรื่องหวานๆ กันหน่อย นั่นคือเรื่อง “น้ำตาล” ค่ะ แต่ไม่ได้ให้ความสุขไปเสียทั้งหมด กินมากไปคุณอาจได้ของแถมเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมาด้วย
ชีวจิตอยากให้คุณผู้อ่านมีทั้งความสุข และยังต้องสุขภาพแข็งแรงตลอดไปด้วย จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนลุกขึ้นมาปฏิวัติพฤติกรรมการกินหวานกันเสียใหม่ กินอย่างไรให้อร่อยและได้สุขภาพ มีวิธีการดังนี้
เข้าใจน้ำตาล…หวานแบบมีที่มา
นํ้าตาลคือคาร์โบไฮเดรตหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด จัดเป็น “พลังงานสูญเปล่า” เนื่องจากให้แต่พลังงานอย่างเดียวแต่ไม่ให้สารอาหารชนิดอื่นกล่าวคือนํ้าตาล 1 กรัมให้พลังงานทั้งหมด 4 กิโลแคลอรี
เพื่อไขข้อข้องใจชนิดน้ำตาลให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ศาสตราจารย์ศราวุติ จิตรภักดิ์ภาควิชาชีวเคมีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ฟังดังนี้
เราสามารถแบ่งน้ำตาลได้ตามลักษณะทางเคมีคือ
นํ้าตาลโมเลกุลเชิงเดี่ยว(Monosaccharaides) ได้แก่กลูโคส (Glucose)ฟรักโทส (Fructose)และกาแลคโทส(Galactose)
นํ้าตาลโมเลกุลเชิงคู่ (Disaccharides) ได้แก่ซูโครส (sucrose)หรือนํ้าตาลทรายน้ำตาลมอลโตส (Maltose) และน้ำตาลแลกโตส(Lactose) เป็นต้น
น้ำตาลกลูโคส…เจ้าแห่งพลังงาน
น้ำตาลกลูโคสหรือบางทีอาจเรียกว่า น้ำตาลเดกซ์โทรส (Dextrose) เป็นน้ำตาลโมเลกุลเชิงเดี่ยวมีความหวานสัมพัทธ์เท่ากับ 70-80 เป็นความหวานระดับปานกลาง
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต อธิบายไว้ในบทความ น้ำตาลไม่หวาน 2 ยิ่งหวานยิ่งป่วยมาก ในคอลัมน์ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2544 ว่า
น้ำตาลกลูโคสนี้คือน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar)ที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมได้เร็วที่สุด มีความสำคัญมากต่อชีวิตเพราะเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ในร่างกาย และทำให้มีพลังวังชาและเรี่ยวแรงทำงาน
น้ำตาลกลูโคสพบในอาหาธรรมชาติ ได้แก่ ผลไม้และอาหารประเภทแป้ง

วงจรกลูโคส
ย่อยอย่างไรได้สุขภาพ
หนังสือ กูแน่ ของ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง สำนักพิมพ์คลินิกบ้านและสวน อธิบายการย่อยแป้งเป็นน้ำตาลกลูโคส สรุปว่า
เมื่อเรากินแป้ง เอนไซม์ไทยาลิน (Ptyalin) จะเป็นตัวตั้งต้น (Catalyst) ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีในปาก โดยย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลกลูโคส จากนั้น อาหารต่างๆจะถูกส่งลงไปที่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เข้าสู่ลำไส้เล็ก
อาจารย์ศราวุฒิอธิบายต่อว่า
บริเวณลำไส้เล็กจะผลิตเอนไซม์มอลเทส(Maltase)เพื่อย่อยแป้งหรือน้ำตาลมอลโตสให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คือ น้ำตาลกลูโคส 2 โมเลกุล จากนั้นจะดูดซึมน้ำตาลกลูโคสบริเวณเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ก่อนลำเลียงเข้าสู่หลอดเลือดฝอย จากนั้นส่งต่อไปที่หลอดเลือดดำพอร์ทัล (Portal Vain)
น้ำตาลกลูโคสบางส่วนถูกใช้เป็นพลังงาน บางส่วนนำไปสร้างสารอื่นๆ ที่เหลือจะถูกเก็บไว้ในรูปสารเคมี 2 ประเภทคือ ไกลโคเจน (Glycogen) สะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ และกรดไขมันสะสมไว้ในเซลล์ไขมันทั่วร่างกาย
เมื่อร่างกายต้องการพลังงาน เช่นอยู่ในภาวะอดอาหารหรือระหว่างออกกำลังกายตับจะเปลี่ยนไกลโคเจนเป็นน้ำตาลกลูโคสแล้วลำเลียงเข้าสู่กระแสเลือด และส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ส่วนไกลโคเจนในกล้ามเนื้อจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงภายในกล้ามเนื้อนั้นๆเอง
อาจารย์ศราวุฒิ อธิบายต่อว่า แต่ในทางตรงกันข้าม หากเรากินน้ำตาลกลูโคสมากเกินไปและไม่ออกกำลังกาย จะยิ่งทำให้มีกลูโคสส่วนเกินที่จะเปลี่ยนเป็นไกลโคเจนหรือไขมันไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ทำให้เกิดภาวะไขมันเกาะตับ หรือเป็นโรคอ้วนตามมา
นอกจากนี้ การมีระดับน้ำตาลกลูโคสที่สูงเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ในกาตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินซึ่งจะหลั่งจากเซลล์ตับอ่อน ฮอร์โมนอินซูลินหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด โดยสั่งการให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมันดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดมาเก็บไว้เป็นพลังงาน จึงสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
ดังนั้นเมื่อเซลล์ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินแล้วในระยะยาวจะทำเกิดโรคเบาหวานในที่สุด
How to Eat
คุณธิษณา จรรยาชัยเลิศ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ อธิบายว่า เนื่องจากเราไม่สามารถทราบปริมาณน้ำตาลกลูโคสในอาหารประเภทแป้งได้ จึงแนะนำให้กินอาหารประเภทแป้งตามหลักของอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตซึ่งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย
ข้อมูลจาก วารสารโภชนาการบำบัด ประเทศไทย แนะนำตัวอย่างอาหาร ปริมาณ 1 ส่วน ที่ให้คาร์โบไฮเดรต(ย่อยเป็นกลูโคส) 18 กรัม ได้พลังงาน 72 กิโลแคลอรี แต่เนื่องจากประกอบด้วยโปรตีน 2 กรัม รวมให้พลังงานทั้งหมด 80 กิโลแคลอรี
ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลสามารถกินอาหารแลกเปลี่ยนกลุ่มนี้ได้วันละ 6-8 ส่วน (สามารถสลับกันได้) ดังนี้
- ข้าวสวย และข้าวซ้อมมือ (มีใยอาหารสูง) ปริมาณ 1/3 ถ้วยตวง (55 กรัม)
- ขนมจีนข้าวกล้อง ปริมาณ 1 จับใหญ่ (90กรัม)
- ก๋วยเตี๋ยวเส้นข้าวกล้องลวก ปริมาณ 2/3 ถ้วยตวง (90กรัม)
- ขนมปังโฮลวีต(มีใยอาหารสูง) ปริมาณ 1 แผ่น (25 กรัม)
- มักกะโรนี และสปาเกตตีโฮลวีตลวก ปริมาณ 2/3 ถ้วยตวง (75 กรัม)

10 อันดับผลไม้กลูโคสสูง
นอกจากได้รับน้ำตาลกลูโคสจากอาหารจำพวกแป้งแล้ว เราก็มีโอกาสได้รับน้ำตาลกลูโคสจากผลไม้ได้ด้วย ข้อมูลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย และอาจารย์ริญ เจริญศิริในหนังสือคู่มือดูแลสุขภาพด้วยอาหาร : โภชนาการกับผลไม้ สำนักพิมพ์สารคดี พบว่า ผลไม้มีน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด คือน้ำตาลกลูโคส น้ำตาลฟรักโทส และน้ำตาลซูโครส
โดยพบผลไม้ 10 ชนิดที่มีปริมาณน้ำตาลกลูโคสสูงที่สุด ดังนี้
ผลไม้(100 กรัม) น้ำตาลกลูโคส ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด(กรัม) จำนวนน้ำตาล
ทั้งหมดเทียบเป็นจำนวนช้อนชา
1 มะขามหวานสีทอง 24.6 53.3 13 ช้อนชา
2 กล้วยหอม 10.3 20.3 5 ช้อนชา
3 ลิ้นจี่จักรพรรดิ 8.4 17.9 4.5 ช้อนชา
4 น้อยหน่าฝรั่ง 8.4 17.2 4.3 ช้อนชา
5 กล้วยน้ำว้า 8.0 18.3 4.5 ช้อนชา
6 องุ่นเขียว 7.5 14.7 4 ช้อนชา
7 ลิ้นจีฮงฮวย 7.0 14.3 3.5 ช้อนชา
8 ลองกอง 6.9 15.2 4 ช้อนชา
9 ขนุน 6.4 19.1 5 ช้อนชา
10 กล้วยไข่ 6.3 16.6 4 ช้อนชา
หมายเหตุ น้ำตาลหนัก 4 กรัม มีปริมาณเท่ากับ 1 ช้อนชา
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ในเด็กที่ต้องการดูแลสุขภาพและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ควรกินน้ำตาลส่วนเกินวันละ 4 ช้อนชา ในผู้ใหญ่ไม่ควรกินวันละ 6 ช้อนชา