การรักษาแผลเริมที่ปาก
มีวิธีดังนี้
- ไม่ต้องรักษา นอกจากรักษาความสะอาด แผลเริมนั้นชอบความชื้น การทำแผลให้แห้ง เช่น เช็ดด้วยแอลกอฮอล์จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น การหายของแผลขึ้นอยู่กับขนาดยิ่งแผลขนาดใหญ่ยิ่งหายช้า กรณีนี้ควรไปพบแพทย์
- ทายา เช่น ครีมต้านไวรัส อะไซโคลเวียร์ หรือเพ็นซิโคลเวียร์ (Acyclovir, Penciclovir) โดโคซานอล (Docosanol) ครีมไขมันอิ่มตัวและแอลกอฮอล์ ครีมฆ่าเชื้อ (Benzakonium chloride) ฯลฯ ยาทาไม่สามารถป้องกันการกลับไปพักที่ตัวประสาทและปมประสาทของไวรัส แต่ทำให้แผลแห้งและหายเร็ว
- ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ แฟมซิโคลเวียร์ และวาลาซิโคลเวียร์ (Famcyclovir, Valaciclovir) มีทั้งชนิดกินและฉีด มักให้เมื่ออาการรุนแรง เช่น เป็นครั้งแรกหรือกระจายไปอวัยวะอื่น กรณีกลับเป็นซ้ำอาจให้ชนิดกินเป็นครั้ง ๆ ในระยะสั้น ๆ แต่หากกลับเป็นซ้ำบ่อยมาก หรือเป็นรุนแรงควรให้ยาต้านไวรัสชนิดกินต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

การป้องกันเริมที่ปาก
ก็เหมือนการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังนี้
- ไม่มีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน เพราะมีโอกาสติดเริมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มากขึ้น
- ทำร่างกายให้แข็งแรง ไม่เครียด หากภูมิต้านทานร่างกายดี โอกาสติดเริมจะลดลง
- หากมีแผลเริมหรือเคยมีเชื้อเริม ต้องระวังการสัมผัสเพราะอาจแพร่เชื้อไปติดผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเด็ก
- ควรใช้ถุงยางอนามัยหากจะทำรักด้วยปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อเริม
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีโดยเฉพาะในผู้หญิงเพราะเชื้อเริมและเชื้อเอชพีวีเป็นเพื่อนกัน การติดเชื้อเริมที่ปากมีโอกาสติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ เพิ่มการติดเชื้อเอชพีวีและการเกิดมะเร็งปากมดลูก
- งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายช่วยลดการติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศได้
- พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา เพราะแผลเริมที่ปากอาจแยกยาก ระหว่างโรคปากนกกระจอก แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) แผลแพ้ยา แผลซิฟิลิส แผลติดเชื้อไวรัสเอ็นเทอโร (Enterovirus) หรือแอบสไตน์บาร์ (Epstein-Barr Virus) ฯลฯ หากอาการรุนแรง แผลเริมมีขนาดใหญ่ เจ็บมาก มีไข้ กินอะไรไม่ได้ เพลีย หรือลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน
ในคนทั่วไปที่ภูมิต้านทานปกติ เริมที่ปากอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ แต่เกิดได้น้อยและต้องมีบาดแผลบริเวณผิวหนังที่จะรับเชื้อเริมเข้าไป บริเวณดังกล่าวได้แก่ นิ้วมือ ใบหน้า คอ แขน ดวงตา ผิวหนัง ส่วนบริเวณที่พบได้น้อยแต่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ ตับและสมองที่อักเสบจากเชื้อเริม อาจเกิดในทารก หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ ผู้กินยากดภูมิต้านทาน หรือเป็นโรคมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลเริมที่ปากซ้ำ ๆ ได้แก่ แสงแดด ความเครียด ช่วงมีประจำเดือนมีแผลที่ปากหรือในปาก เช่น การถอนฟันและการทำฟัน ถูกความร้อน เช่น ควันบุหรี่ ภูมิต้านทานบกพร่อง เช่น เป็นโรคเอดส์ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นเริมที่ปากมักมีแผลขนาดใหญ่ หายช้า และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น ระบบหายใจหลอดลม ปอด ระบบทางเดินอาหาร หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบประสาทสมอง และระบบผิวหนัง
จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิตฉบับ 411
บทความน่าสนใจอื่นๆ
บ.ก.ขอตอบ : 8 สารอาหารป้องกัน แผลร้อนใน
7 อาหารใกล้ตัว ช่วย เหงือกและฟัน แข็งแรง
8 สาเหตุ ปากแห้งแตก แก้ด้วย 4 วิธีธรรมชาติ