โรคท้องร่วงหน้าร้อน, โรคท้องร่วง, ท้องเสีย, อาหารเป็นพิษ, รักษาโรคท้องร่วง

นานาวิธีรักษาและป้องกัน เพื่อรับมือ โรคท้องร่วงหน้าร้อน

ว่าด้วยเรื่องท้องร่วงหน้าร้อน

แม้ว่าโรคท้องร่วงจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนว่าในฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่หลายคนป่วยเป็นโรคนี้กันมาก ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงสาเหตุของโรคท้องร่วงที่สัมพันธ์กับฤดูกาลว่า

“ช่วงที่คนท้องเสียกันเยอะคือช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝน บางคนก็เป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝนจะมีภาวะเปียก แฉะและร้อนชื้น และยังรวมถึงปัจจัยเรื่องความหนาแน่นของประชากร สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีด้วย

“อากาศที่อุ่นขึ้นทำให้อาหารบูดเน่าเร็วเชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วทำให้อาหารเป็นพิษได้ อาหารบางอย่างโดยเฉพาะอาหารทะเล อย่างหอยเชลล์ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิของท้องทะเลหรือโลกร้อนขึ้น ทำให้สาหร่ายในท้องทะเลเติบโตได้เร็วขึ้นแบคทีเรียก็เจริญเติบโตได้มาก ทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ง่าย

 

นานาวิธีรักษาและป้องกัน

การรักษาดูแล เมื่อป่วยเป็นโรคท้องร่วงแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติมีดังนี้

1. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส (สูตรขององค์การเภสัชกรรมหรือองค์การอนามัยโลก) ให้จิบทีละนิดแต่บ่อยครั้งในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่?

หากเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ ¼ – ½ แก้ว โดยใช้ช้อนค่อยๆ ป้อนทีละ 1 ช้อนชา?ทุก 1 – 2 นาที ไม่ควรให้เด็กดูดจากขวดนม?เพราะเด็กที่มีอาการขาดน้ำจะกระหายน้ำและดูดอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทัน จนทำให้อาเจียนและถ่ายมาก

ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหารหรือนม ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่นน้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และนมแม่สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

หากเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรดื่มครั้งละ ½ – 1 แก้ว โดยดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นจึงหยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย จะช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว

2. หากมีอาการผิดปกติควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่น ถ่ายหรืออาเจียนไม่หยุดมากกว่า 4 ครั้ง หิวน้ำตลอดเวลาหรือปัสสาวะไม่ออก (แสดงว่าขาดน้ำมาก) หน้ามืด ช็อกหรือหมดสติ มีไข้ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือเวลาถ่ายแล้วปวดเบ่งตลอดเวลา (อาการของบิด)

3. ขับถ่ายในสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะและล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย เนื่องจากอหิวาตกโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อง่ายและแพร่ระบาดได้

4. กำจัดอาเจียนของผู้ป่วย โดยเททิ้งลงในส้วม ราดน้ำให้สะอาด แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นน้ำยาล้างห้องน้ำหรือน้ำยาซักผ้าขาวราดซ้ำ

5. รักษาความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย รวมทั้งซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัวของผู้ป่วยให้สะอาด และนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค

6. ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อปนเปื้อนจากมือสู่อาหารและเกิดการติดโรคได้

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.