เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญายิ่งใหญ่ของพระราชา
หนังสือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบายถึงปรัชญาสำคัญนี้ว่า
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในทางสายกลางที่เหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของคนไทย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประชาชนได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร และระดับประเทศ
โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้
- ความพอประมาณ หมายถึง พอดีต่อความจำเป็นและเหมาะสมกับฐานะของตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปและต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
- ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมายหลักศีลธรรม หลักจริยธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม คิดถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างถ้วนถี่ โดยคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
- ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที
- เงื่อนไขสำคัญเพื่อให้เกิดความพอเพียง การตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต้องอาศัยทั้งเงื่อนไขคุณธรรม คือ เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้รักสามัคคี ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ และรู้จักแบ่งปันผู้อื่น
- เงื่อนไขหลักวิชา คือ อาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้วางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และเงื่อนไขชีวิตคือการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติและปัญญา บริหารจัดการชีวิตโดยใช้หลักวิชาและคุณธรรมเป็นแนวทางพื้นฐาน