เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีเพื่อสุข สุขภาพเลิศ ของคนไทย
ที่มาของปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2489 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วแผ่นดินไทย เพื่อทรงศึกษาปัญหาความเป็นอยู่ของชาวไทยซึ่งอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี
พระองค์ทรงพบว่า การพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม
แม้การพัฒนาจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค การสื่อสาร แต่ก็ส่งผลให้สังคมเราเกิดความอ่อนแอลงเราต้องพึ่งพิงการตลาด พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ตลอดจนภูมิปัญญาครั้งเก่าก่อนที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาก็ลบเลือนและสูญหายไป
พระองค์จึงทรงนำปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์และทรงเสนอปรัชญา “ เศรษฐกิจพอเพียง ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศของพระองค์
“…พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเองคนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”
พระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541