พริกดีศรีสยาม

พริกดีศรีสยาม เรื่องราวของ พริก แต่ละชนิดที่คุณยังไม่รู้ – A Cuisine

พริกดี

พริกยอดสน

เป็นพันธุ์พริกขี้นหนูเม็ดใหญ่อีกสายพันธุ์ ที่ถือว่ามีเอกลักษณ์ คือ ตัวผลมีผิวเนื้อบาง ผลเรียวยาว (กว่าพริกจินดา) เมล็ดพริกมาก เผ็ด และ หอม นิยมนำไปทำพริกแห้ง เพราะเมื่อแห้งแล้วให้สีแดงวาว เมื่อนำไปทำพริกป่นจะให้กลิ่นหอม ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ไว้หลายสายพันธุ์ เพื่อให้สามารถต้านทานต่อโรคในการปลูกได้ดีขึ้น แหล่งปลูกมีหลายแหล่ง แต่ที่ว่าเป็นพริกยอดสนขึ้นชื่อ ก็คือ พริกยอดสน จ.ชัยภูมิ

เจ้าพริกชนิดนี้ ฉันรู้จักครั้งแรกตอนไปเรียนทำแกงป่าไก่บ้านใส่มะเขือขื่น ที่ จ.สุพรรณบุรี ชาวบ้านที่บ้านหนองเสือ อ.อู่ทองสอนฉันโขลกพริกแกง ซึ่งทีเด็ดของเขา คือการใช้พริกยอดสนแห้งป่น โขลกลงแทนพริกแห้งเม็ดใหญ่ เพราะชาวบ้านบอกว่า พริกยอดสนแห้งจะให้กลิ่นหอมและรสเผ็ดกว่าพริกไหนๆ แต่จะไม่เผ็ดติดปากนาน ว่าไปก็จริงของเขาอยู่ เพราะหากดูเทียบราคาในตลาดพริกแห้งด้วยกัน เมื่อเทียบระหว่างพริกจินดาแห้ง กับ พริกยอดสนแห้ง ราคาจะแตกต่างกันหลายสิบบาทเลยทีเดียว

พริกหนุ่มดอยสะเก็ด

ใครไปภาคเหนือ ก็ต้องกินแคปหมูจิ้มน้ำพริกหนุ่มกันทั้งนั้น ว่าแต่พริกหนุ่ม คือ พริกอะไรกันแน่ ฉันเองก็สงสัย เลยยกหูโทรศัพท์หา อ.กิ่งกาญจน์ เกียรติอนันต์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ประจำ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่1 จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกรมวิชาการเกษตร ได้คำตอบว่า พริกหนุ่ม คือ พริกในกลุ่มพริกชี้ฟ้า ที่เก็บในระยะสีเขียว หรือระยะที่ยังอ่อน โดยอายุของพริก เมื่อเริ่มปลูก 1 เดือนจะเริ่มออกดอก พอเข้าเดือนที่ 2 ก็จะติดผลอ่อน สีเขียวอ่อนสวย ระยะนี้เองที่จะเก็บมาทำน้ำพริกหนุ่ม ส่วนเรื่องสายพันธุ์ อาจารย์กิ่งกาญจน์เล่าให้ฉันฟังว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า ที่ อ.ดอยสะเก็ด จะมีโรงงานย่างพริกเพื่อทำน้ำพริกหนุ่ม ทำให้บริเวณดังกลาวมีเกษตรกรที่ปลูกพริกหนุ่มส่งโรงงานอยู่หลายเจ้า ทว่าสายพันธุ์พริกที่นิยมปลูกในแหล่งนี้ คือพริกพื้นเมืองชื่อ “พริกพันธุ์ดอยสะเก็ด” ด้วยเอกลักษณ์มีผลยาวกว่า 25 เซ็นติเมตร มีเนื้อหนา ไม่เผ็ดมากในระยะที่เก็บเกี่ยว และไม่มีกลิ่นฉุน หรือที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “กลิ่นขิว” จึงเหมาะกับการนำไปทำน้ำพริกหนุ่ม  ทว่าปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์เพิ่มขึ้น เช่น พันธุ์หยกสยาม ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมก็มีเกษตรกรบางคนที่หันไปปลูก แต่พริกดังกล่าวมีกลิ่นฉุนกว่าพริกพื้นเมือง จึงนิยมปลูกให้สุกเป็นสีแดงและส่งโรงงานทำซอสพริก หรือนำไปประกอบอาหารมากกว่า ไมนิยมนำไปทำ   

พริกดี

พริกตุ้มระยอง

พริกชนิดนี้มีดีที่ลักษณะผลกลมน่ารักดุจมะเขือพวง จนแทบจะแบ่งยากว่าเป็นพริกชนิดใด แต่ฉันได้ข้อมูลจากนักวิชาการท่านหนึ่งระบุว่า ถึงขนาดของพริกนี้จะดูไม่เข้าพวก แต่พริกดังกล่าวจัดอยู่ในสกุลพริกใหญ่ โดยพิจารณาจากลักษณะทางพฤษศาสตร์ พริกตุ้มผลดิบสีเขียว ผลสุกสีแดง ถือเป็นพริกพื้นบ้านของทางจังหวัดระยอง มีมากในเขตอำเภอแกลง โดยออกผลผลิตมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม เนื้อสัมผัสของพริกชนิดนี้มีความแน่นกรอบ เมื่อเคี้ยวทั้งเม็ดจะเปราะกรอบแตกในปาก มีรสเผ็ดและหอม แต่ไม่เผ็ดแสบปากนานนัก โดยชาวระยองนิยมนำไปใส่ในแกงป่า แกงเขียวหวาน และผัดเผ็ด เพื่อเพิ่มรสชาติและแต่งแต้มหน้าตาอาหารให้ชวนกินยิ่งขึ้น

พริกป๊อบ

คนภาคอีสานจะรู้จักพริกชนิดนี้กันดี เพราะพริกป๊อบ มีผลอ่อนสีขาวเจือเหลือง เมื่อเริ่มสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และกลายเป็นสีแดงเมื่อสุกจัด พริกชนิดนี้ละม้ายคล้ายพริกชีของภาคใต้ แต่จุดเด่นคือ ปลายผลจะมน  เป็นพริกที่อายุยืนเพราะเป็นพริกพื้นถิ่น ออกผลเดี่ยวๆ ไม่ออกเป็นช่อ คนอีสานนิยมนำมาปรุงอาหาร ทั้งนำไปโขลกเป็นพริกแกงของอาหารอีสาน ลอยเป็นลูกโดดในน้ำยาขนมจีนแบบอีสาน ตลอดจนแกงต่างๆ และอาหารประเภทหมก รวมถึงรับประทานสดแกล้มกับเนื้อสัตว์หมัก เช่น หม่ำ ไส้กรอกอีสาน เป็นต้น

พริกชนิดนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของฉัน เมื่อเป็นเด็ก พ่อจะปลูกไว้หลังสวน เวลาแม่จะใช้ปรุงอาหารอีสาน จะบอกให้ฉันไปเก็บพริกชนิดนี้ โดยแม่จะบอกว่า “ไปเก็บพริกสวนมาให้หน่อย” ฉันก็จะจำว่าพริกนี้มีชื่อว่า พริกสวน อีกชื่อ และมีอีกหลายคนเรียก พริกลูกโดด เพราะเวลาทำน้ำยาขนมจีน หรือ แกงแบบอีสาน แม่ครัวจะนิยมใส่ลงไปทั้งผล เพื่อความสวยงาม และเพิ่มรสเผ็ดสำหรับคนที่ชอบกินเผ็ด ก็เพิ่งมารู้จากนักวิชาการว่าเขาเรียกว่า พริกป๊อบ ตอนที่เขียนบทความนี้นี่เอง

 พริกขาวชี

พริกชั้นดีตัวสุดท้ายที่ฉันอยากเล่าถึง คือ พริกชี ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนความเผ็ดร้อนจากภาคใต้ บางคนเรียก พริกขาวชัยบุรี เพราะปลูกมากใน ต.ชัยบุรี จ.พัทลุง โดยคนพื้นเมืองพัทลุงจะเรียกว่า “พริกขาวชี” เป็นพริกพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพรามีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดจัด เหมาะจะนำไปปรุงเพื่อให้ความเผ็ดในอาหารปักษ์ใต้ โดยพริกชนิดดังกล่าว มีลักษณะผลเรียว หงิกงอ สีสันคล้ายพริกป๊อบของอีสาน คือเมื่อดิบสีขาวอมเหลือง พอแก่ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นส้ม และส้มแดง แต่ความต่างระหว่างพริกป๊อป และ พริกชี ให้ดูที่ปลายผล โดยพริกป๊อบปลายผลจะมน ส่วนพริกชี ปลายผลจะแหลม

ขอบคุณ

– ข้อมูลเรื่อง พริกหนุ่มดอยสะเก็ด จาก อ.กิ่งกาญจน์ เกียรติอนันต์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ประจำ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่1 จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกรมวิชาการเกษตร

เอกสารอ้างอิง

  • หนังสือ “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
  • หนังสือ “ตำรับกับเข้า” ข้าพเจ้า ซ่มจีน (ราชานุประพันธ์) เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นไว้ ลงพิมพ์คราวที่สอง ๑๐๐๐ ฉบับ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐
  • หนังสือ “ตำหรับสายเยาวภา” ของ สายปัญญาสมาคม พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๔๙๘

บทความโดย สิทธิโชค ศรีโช

ภาพประกอบโดย A Cuisine

บทความน่าสนใจ แนะนำ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.