“ทับทิมลอยแก้ว” ขนมไทยสูตรลับตำรับญวน
ทับทิมลอยแก้ว “ทับทิมกรอบ” CNN ได้จัดอันดับ เป็นหนึ่งใน 50 ขนมหวานที่อร่อยที่สุดจากทั่วโลก จะว่าไปผู้เขียนเองได้รู้จักวิธีทำเจ้าทับทิมกรอบจากแห้วหรือมันแกวมาตั้งแต่สมัยเรียนประถมแล้ว เพราะครูจะสอนให้ทำขนมชนิดนี้กัน แต่มีอยู่คราหนึ่งในชีวิตที่ได้นั่งติดจอทีวีแล้วชมรายการสอนทำอาหารราย (โปรดอย่าถามรายละเอียด เพราะมันนานนมจนจำชื่อรายการไม่ได้แล้ว) ครั้งนั้นจำได้ว่าข้อมูลในรายการเล่าเรื่องขนมหวานชนิดหนึ่ง ชื่อ “ทับทิมลอยแก้ว” ทำจากแป้งมันสำปะหลังนวดละลายน้ำ แล้วนำไปเทใส่ลงกรอบไม้สี่เหลี่ยมที่รองด้วยกระดาษฟาง รอจนน้ำซึมออกจากแป้ง และแป้งเซตตัวเป็นแผ่น จึงนำพู่กันจุ่มสีสำหรับอาหารสีแดงทาให้ทั่ว แล้วหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆเท่าเม็ดผลทับทิม จึงนำไปต้มสุก ก่อนนำไปแช่น้ำเชื่อม เรียกทับทิมลอยแก้ว ทางรายการยังบอกว่าเจ้าขนมชนิดนี้เป็นต้นแบบของทับทิมกรอบ ที่มีแห้วหรือมันแกวแทรกอยู่ด้านในอย่างแบบปัจจุบัน ฟังดูเรื่องราวน่าสนใจ ทว่านั่นคือความทรงจำวัยเด็กจะเชื่อทั้งหมดก็คงไม่ได ดังนั้นฉันจึงต้องสืบหาความจริงให้กระจ่าง
เรื่องเล่าที่มาของ นางข้าวหลวงชาวญวน ตำรับทับทิมลอยแก้ว และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ศันสนีย์ จะสุวรรณ์ แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เกี่ยวกับที่มาของเรื่องราวต้นกำเนิดทับทิมลอยแก้วที่ฉันเคยได้ยินในทีวีสมัยเด็ก จึงได้รับคำตอบที่กระจ่างชัดขึ้นว่า
“ถ้าดิฉันจำไม่ผิด เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เล่าต่อกันมา เมื่อครั้งก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม ราวๆ ปี พ.ศ.2533 ได้มีการเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิมลฉัตร มาที่สวนสุนันทา เพื่อเล่าเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับสวนสุนันทาและพระอัจฉริยภาพของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปิดวรัดา ทั้งยังมีหม่อมหลวงพูนแสง สูตบุตร บุตรของ หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นหลานของเจ้าจอมสดับลดาวัลย์ ผู้ที่ได้ถอดกำไลมาศจากเจ้าจอมสดับฯ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านอาหารของพระวิมาดาเธอฯ โดยเริ่มเล่าเป็นภาษาฟังง่ายๆ ว่า พระวิมาดาเธอฯทรงเป็นผู้ฉายแววความสามารถด้านอาหารมาตั้งแต่ยังเล็ก สมัยที่พระองค์ยังไม่เข้าพระราชพิธีโสกัณฑ์ (แสดงว่าอายุไม่ถึง10ขวบ) มีนางข้าหลวงชาวญวนทำขนมชนิดหนึ่ง ซึ่งนางข้าหลวงผู้นี้หวงสูตรมาก พระวิมาดาเธอฯ ในวัยเด็ก ก็ไปแอบมองลอดช่องประตูเพื่อจดจำวิธีทำ ได้เห็นว่าทำอะไร ใส่อย่างไร ก็แอบจดจำมาและนำมาเล่าต่อ ทั้งยังพยายามขอเข้าไปเป็นผู้ช่วย นางข้าหลวงคนนั้นก็พยายามกันไม่ให้เข้าไป แต่ก็ยังพยายามแวะเวียนไป แต่ก็ไม่ได้จับต้อง และเมื่อได้เห็นวิธีทำ ก็มาทดลองทำเล่นคล้ายกับเด็กเล่นขายของ ไม่ได้ทำให้ถึงสุกพอรับประทาน ซึ่งสันนิษฐานว่าขนมดังกล่าวก็คือ ทับทิมลอยแก้ว ที่ใช้แป้งทำเป็นหลัก นั่นเอง เล่าถึงตรงนี้ผู้เล่าก็ออกตัวว่า นี้เป็นเรื่องเล่าต่อกันมา รายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้คงไม่สามารถระบุได้เพราะเกิดไม่ทัน”
เรื่องราวที่อาจารย์เล่ามา เริ่มสอดคล้องกับความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับเรื่องราวของทับทิมลอยแก้วของฉัน แต่นั่นก็ยังไม่ชัดเจนพอ ฉันจึงลองสืบค้นต่อ
สืบจากวิถีคนญวน “เจิน เจิว หัด ลือ ตือ” ขนมไข่มุกเม็ดทับทิม ของเวียดนาม ที่ตอกย้ำเรื่องเล่าขาน
ฉันมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสเจ้าทับทิมลอยแก้วนี้ตอนมาอาศัยอยู่ กทม.และพบว่าบางร้านที่ทำเจ้าทับทิมลอยแก้ว (ส่วนตัวฉันชอบเรียกทับทิมแป้งเพื่อใช้แยกประเภทจากทับทิมกรอบที่ด้านในมีแห้วหรือมันแกว) จะไม่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม แต่หั่นเป็นเส้นยาวๆ เวลานำไปต้มสุกแล้ว ก็จะเป็นเส้นยาวใส มีแกนตรงกลางเป็นไตสีขาวแลดูสวยงามเหมือนเกสรดอกไม้
แต่รู้ไหมว่าเจ้าทับทิมลอยแก้วนี้ นอกจากจะหากินยากแล้ว ยังไม่ค่อยมีใครสอนกันด้วย ชะรอยว่าจะกลับสู่โหมดหวงสูตรกันอีกเช่นเคย ฉันก็เลยคิดสนุกว่า ถ้าขนมชนิดนี้มีต้นตำรับมาจากคนเวียดนามจริงๆ ปัจจุบันคนเวียดนามก็น่าจะต้องกินและทำขนมนี้อยู่ว่าแล้วเลยเริ่มเข้าสู่โลกออนไลน์ ประกอบกับมีน้องที่รู้จักกันไปทำงานเป็นอาสาสมัครประจำการประเทศเวียดนามโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) จึงได้สืบถามไป และในที่สุดฉันก็ได้พบคำตอบว่า ขนมชนิดนี้มีที่มาที่ไปจากเวียดนามจริงๆ ไม่ผิดไปจากเรื่องเล่าขาน ที่สำคัญกรรมวิธีการทำ มีทั้งที่เหมือนอย่างที่คนไทยจดจำมา และยังมีวิธีที่ทำได้ง่ายกว่าด้วย
ได้ความว่า จ้าทับทิมลอยแก้ว นั้น คนเวียดนามเขาเรียก “เจิน เจิว หัด ลือ ตือ” แปลว่า “ไข่มุกเม็ดทับทิม” ซึ่งคนเวียดนามที่นั่นเล่าให้ฟังอีกว่า ขนมชนิดนี้คนเวียดนามได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน อีกที และที่สำคัญ คนเวียดนามก็มีทับทิมกรอบที่ไส้ด้านในเป็น แห้ว มันแกว บางครั้งเป็น เผือก มะพร้าวทึนทึก เหมือนอย่างบ้านเราอีกด้วย ที่สำคัญเวลากินขนมหวานชนิดนี้ คนเวียดนาม จะกินรวมกันหลายชนิด ทั้งทับทิมแป้ง ทับทิมกรอบ ตัวลอดช่องแป้งข้าวเจ้า (ที่เวียดนามเขาก็มีแบบบ้านเราเป๊ะ) ตัวลอดช่องสิงคโปร์จากแป้งมัน (นี่ก็เหมือนที่บ้านเรามี) วุ้นที่ขูดเป็นเส้นๆ สาคูเม็ดใหญ่ต้มสุก ฯลฯ ลอยน้ำเชื่อม แล้วใส่กะทิข้นๆ และน้ำแข็ง
ว่าไปแล้วมันก็คล้ายๆ กับขนมตักถ้วยลอยแก้วราดกะทิบ้านเราไม่น้อย โดยคนเวียดนามจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “Che’” อ่านว่า “เจีย” แล้วตามด้วยชื่อชนิดของตัวขนมต่างๆ ซึ่งคำว่า Che’ นี้ แปลว่า รวมมิตร นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเสริมจากคนเวียดนามว่า แรกเริ่มเดิมทีขนมชนิดนี้เป็นขนมหวานจากประเทศจีน เรียกว่า Che’ Troi nuroc แปลว่า เจียลอยน้ำ หรือจะแปลว่า ลอยแก้วแบบไทย ก็คงไม่ผิด กล่าวคือ ของเดิมจะไม่ใส่กะทิ ใส่เพียงแค่น้ำเชื่อมทำจากน้ำตาล ตามด้วยเครื่องเชื่อมต่างๆ อาทิ รากบัว ขิง ทว่าความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ ชื่อขนมรวมมิตรแบบใส่กะทิของเวียดนาม จะเรียกว่า Che’ Thai ซึ่งแปลว่า เจียสูตรไทย หมายถึงขนมรวมมิตรที่ใส่น้ำกะทินั่นเอง
แม้ข้อมูลเกี่ยวกับการใส่กะทิในขนมรวมมิตรจะย้อนแย้งสับสนอยู่นิด ๆ แต่ถ้าประมวลจากข้อมูลที่มีทั้งหมดก็เอนเอียงให้ชวนคิดไปได้ว่าขนมรวมมิตรของเมืองไทย อาจได้รับอิทธิพลมาจากขนมของคนเวียดนาม ที่ได้รับอิทธิพลส่งต่อมาจากขนมหวานของชาวจีนอีกทีก็เป็นได้ ประกอบกับเหตุผลที่ว่าเมืองไทยคือดินแดนปลายลูกศรของเส้นทางการอพยพตั้งถิ่นฐานใหม่
สีแดงในขนมทับทิมลอยแก้ว มาจากไหน
ปัจจุบันเรามีสีผสมอาหารทั้งชนิดผง ชนิดน้ำ ที่จะแต่งแต้มสีแดงของทับทิมลอยแก้วให้มีสีสันสดใส ทว่าหากย้อนไปในตำนานของไทย ในช่วงยุคสมัยที่ พระวิมาดาเธอฯ ทรงพระเยาว์ (ราวๆ ช่วง ปลายรัชสมัย ร.3) ตอนนั้นเจ้าทับทิมลอยแก้วของนางข้าหลวงชาวญวนนั้นได้สีแดงมาจากอะไรหนอ
ข้อสันนิษฐานนี้ ผศ.ดร.ศันย์สนีย์ จะสุวรรณ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้ตั้งข้อสงสัยนี้ และท่านได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ได้อย่างน่าสนใจมากดังนี้
“เป็นที่น่าสงสัยมาก ว่าสีแดงของขนมทับทิมลอยแก้วนั้นได้มาจากอะไร แต่ดิฉันตั้งข้อสันนิษฐานว่า นางข้าหลวงญวนผู้ที่ริเริ่มทำขนมชนิดนี้ในไทย มาอาศัยอยู่ที่ราชสำนักไทย ดังนั้นวัตถุดิบที่ใช้ทำขนมน่าจะเป็นของที่ใช้ในราชสำนักทั้งหมด คงไม่ได้นำเข้ามาจากเวียดนาม พอคิดดังนี้ก็หันมาคิดดูว่า สีที่คนไทยในยุคนั้นใช้ผสมอาหารล้วนเป็นสีที่มาจากธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มสีแดงที่ใช้แต่งสีของอาหาร อาจมาจาก ครั่ง หรือ ไม้ฝาง ก็เป็นได้ ”
ข้อสันนิษฐานของอาจารย์ศันย์สนีย์ ฟังดูน่าสนใจและชวนคิดไม่น้อย ผู้เขียนคงต้องไปค้นคว้าข้อมูลในประเด็นดังกล่าวนี้ต่อไป
ครานี้ลองหันกลับมาดูว่า วันนี้สีสันที่คนเวียดนามใช้แต่งแต้มสีของตัวขนมทับทิมลอยแก้ว มีอะไรบ้าง ที่ผู้เขียนพบเห็นตามคลิปสอนทำอาหารของคนเวียดนามมีตั้งแต่ สีแดงจากสีผสมอาหารชนิดผงนำมาละลายน้ำแล้วจึงนำไปใช้ หรือสีผสมอาหารชนิดน้ำ และยังมีการใช้หัวบีตรู้ทมาคั้นน้ำแล้วนำน้ำสีแดงที่ได้มาใช้นวดกับแป้ง ก็มี
ขณะที่คนไทยจะใช้สีผสมอาหารสีแดงชนิดน้ำมาใช้ทำทับทิมลอยแก้ว หรือใช้น้ำเชื่อมที่มีสีแดงและมีกลิ่นหอมเช่น สละไซเดอร์ มาเป็นตัวแต่งแต้มสีและกลิ่นของทับทิมกรอบ
สองวิธีทำทับทิมลอยแก้ว
วิธีทำทับทิมลอยแก้วที่จะเล่าถึงนี้ ขออ้างอิงวิธีทำของคนเวียดนามเป็นหลัก เพราะผู้เขียนได้พิจารณาแล้วว่า มีวิธีการใกล้เคียงกับวิธีทำทับทิมลอยแก้วของคนไทย โดยจะขอเล่าไว้ 2 วิธี ได้แก่
วิธีที่ 1 ทับทิมลอยแก้วแบบซับน้ำ
วิธีนี้เป็นวิธีที่คนไทยรับวิธีทำมา โดยการทำตัวทับทิมเริ่มจาก
1.นำแป้งมันสำปะหลัง มานวดผสมน้ำเปล่า ในอัตราส่วน แป้ง 1 ส่วน น้ำเปล่า 1.5 – 2 ส่วน นวดละลายแป้งให้เหลวเตรียมไว้ 2. นำกระจาดพลาสติก หรือภาชนะที่มีรูประบายน้ำมาวางบนถาด ปูด้านล่างและด้านข้างของกระจาดรูด้วยผ้าที่ทอแน่นๆ เช่น ผ้าโทเร (ถ้าเป็นสมัยก่อนตามที่ระบุไว้ในเรื่องเล่าของไทยจะใช้กระดาษฟาง) หรือใครจะประยุกต์ใช้กระดาษอเนกประสงค์ ปูซ้อนกันหลายๆชั้นแทนผ้า ก็ได้เช่นกัน
3.เทแป้งที่ละลายไว้ ลงบนผ้าหรือกระดาษ ขั้นตอนนี้ น้ำจะซึมออกจากแป้งผ่านผ้าหรือกระดาษลงสู่ถาดที่รองไว้ด้านล่าง
4.ให้นำกระดาษอเนกประสงค์หลายๆ แผ่น ปิดทับด้านบนแป้ง เพื่อซับน้ำด้านบนออก รอจนแป้งหมาดและจับกันเป็นแผ่น
5.ลอกกระดาษด้านบนออก ใช้พู่กันจุ่มสีแดงทาลงบนแผ่นแป้งให้ทั่ว พักไว้สักครู่
6.นำแผ่นแป้งออกจากกระจาด คว่ำด้านที่ทาสีลงบนถาดอีกใบ เพื่อให้ด้านล่างของแผ่นแป้งพลิกขึ้นด้านบน ลอกผ้าหรือกระดาษที่ติดอยู่กับแผ่นแป้งออก ใช้ผู้กันจุ่มสีแดงทาให้ทั่ว
7.ใช้มีดหั่นแป้งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก ๆ โรยแป้งมันให้ทั่วกันแป้งติดกัน แล้วแซะชิ้นขนมใส่กระชอน ร่อนเบาๆ ให้เศษแป้งนวลหล่นออก
8.ต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่ตัวทับทิมที่หั่นไว้ลงต้ม โดยขณะใส่ตัวขนมลงในหม้อ ให้ค่อยๆ โรยและใช้ตะเกียบหรือทัพพีคนน้ำตลอดเวลาเพื่อป้องกันขนมติดกัน
9.รอจนขนมสุกลอย และใสดี มีไตสีขาวด้านในเหลือเพียงเล็กน้อย จึงช้อนตัวทับทิมที่สุกแล้วขึ้นแช่ในน้ำเย็นจัด แล้วตักขึ้นสะเด็ดน้ำใส่ลงในภาชนะ
10.ตักน้ำตาลทรายใส่ลงในตัวขนมแล้วคนให้น้ำตาลละลาย น้ำตาลจะช่วยเพิ่มรสหวาน และช่วยรัดให้ตัวขนมไม่เหนียวติดกันมากนัก พร้อมนำไปเสิร์ฟกับ น้ำเชื่อม และขนุนสุก หรือใส่รวมกับเครื่องรวมมิตรราดกะทิตามชอบ
วิธีที่สอง ทับทิมลอยแก้วแบบนวดแป้งเป็นก้อน
วิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนเวียดนามทำกัน ซึ่งส่วนตัวฉันได้ทดลองทำแล้วพบว่า ทำง่ายกว่าวิธีแรกจึงอยากนำเสนอไว้
โดยวิธีทำเริ่มจาก
1.ใส่แป้งมันลงในภาชนะ ค่อยๆ พรมน้ำผสมสีแดง ลงบนแป้งไปทีละน้อย สลับกับการนวด อย่าใส่น้ำมาก เพราะแป้งมันหากใส่น้ำมากจะเหลวตัวลง ให้ค่อยพรมน้ำและค่อยนวดไป กะว่าแป้งทั้งหมดสามารถนำมาปั้นเป็นก้อนกลมได้ และเมื่อวางก้อนแป้งไว้ แป้งไม่เหลวเสียทรง ถือว่าใช้ได้ (หากน้ำเยอะแป้งเหลวไปให้เติมแป้งเพิ่มได้)
2.วางกระดาษอเนกประสงค์ลงบนถาด เตรียมไว้
3.เมื่อได้ก้อนแป้งแล้ว นำก้อนแป้งมาหั่นเป็นแผ่นที่ละแผ่น ให้มีความหนาพอดี (กะว่าถ้านำไปหั่นเต๋าแล้วจะได้ชิ้นขนมเท่าๆ กับเมล็ดทับทิมจริง) แล้ววางชิ้นแป้งที่หั่นลงบนถาดที่รองกระดาษไว้ ทำจนหมดก้อนแป้ง
4.วางกระดาษอเนกประสงค์ ซับความชื้นของชิ้นแป้งด้านบน เพื่อซับน้ำออกและทำให้ชิ้นแป้งเซตตัวแข็งขึ้น
5.เมื่อชิ้นแป้งเซตตัวแล้ว โรยแป้งนวลบนเขียง จากนั้นหยิบชิ้นแป้ง 1 ชิ้น ขึ้นวางบนแป้งนวลแล้วใช้มีดหั่นแผ่นแป้งเป็นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆ ขนาดใกล้เคียงกับเม็ดผลทับทิม โรยแป้งนวลบนตัวขนม แซะขนมออกจากเขียงใส่ลงกระชอนแล้วเขย่าเศษแป้งนวลออกเบาๆ ใส่ตัวทับทิมแป้งดิบใส่ถ้วยเตรียมนำไปต้ม ทำเช่นนี้จนหมดชิ้นแป้งที่หั่นไว้
6.ต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่ตัวทับทิมที่หั่นไว้ลงต้ม โดยขณะใส่ตัวขนมลงในหม้อ ให้ค่อยๆ โรยและใช้ตะเกียบหรือทัพพีคนน้ำตลอดเวลาเพื่อป้องกันขนมติดกัน
7.รอจนขนมสุกลอย และใสดี มีไตสีขาวด้านในเหลือเพียงเล็กน้อย จึงช้อนตัวทับทิมที่สุกแล้วขึ้นแช่ในน้ำเย็นจัด แล้วตักขึ้นสะเด็ดน้ำใส่ลงในภาชนะ
8.ตักน้ำตาลทรายใส่ลงในตัวขนมแล้วคนให้น้ำตาลละลาย น้ำตาลจะช่วยเพิ่มรสหวาน และช่วยรัดให้ตัวขนมไม่เหนียวติดกันมากนัก พร้อมนำไปเสิร์ฟกับ น้ำเชื่อม และขนุนสุก หรือใส่รวมกับเครื่องรวมมิตรราดกะทิตามชอบ
“กลิ่นหอม” คือความเป็นไทยในขนมทับทิมลอยแก้วแบบไทย
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจเริ่มไม่มั่นใจแล้วใช่ไหมว่า แท้จริงแล้วเจ้าขนมไทยอย่างทับทิมลอยแก้วนี้ชะรอยจะเป็นของเวียดนามไปหรือเปล่า
ประเด็นนี้ผู้เขียนขอตอบว่า โดยความเห็นส่วนตัวแล้วคนไทยอาจรับวิธีทำมาจากคนเวียดนามจริง แต่คนไทยก็ได้แต่งเติมความเป็นไทยลงไป นั่นคือ การแต่งแต้มกลิ่นหอมลงในขนม ซึ่งไม่ค่อยมีชนชาติไหนทำกันนัก ดังนั้นทับทิมลอยแก้วของไทย หากใครที่ทำประณีตมากๆ ก็จะถึงขั้น นำแป้งมันไปอบควันเทียนหรืออบกลิ่นดอกไม้ไว้ให้หอม ก่อนนำมานวดกับน้ำ ซึ่งน้ำที่ใช้ก็ต้องเป็นน้ำลอยดอกไม้ พอขนมเสร็จ ก็กินกับน้ำเชื่อมที่ลอยดอกไม้เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมขึ้นไปอีก หรือถ้าจะใส่กะทิ ก็เป็นน้ำกะทิอบควันเทียน ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความแตกต่างที่สร้างสรรค์มาก เพราะทำให้ขนมนั้นนอกจากจะอร่อยแล้ว ยังมีกลิ่นหอมหวานชื่นใจ เรียกได้ว่าเป็นทั้งอาหารปาก อาหารตา และอาหารใจ เลยทีเดียว นี้แหละคือความเป็นไทยที่แทรกซึมอยู่ในขนมชนิดนี้
ในที่สุดฉันก็พอจะปะติดปะต่อ เรื่องราวที่มาของทับทิมลอยแก้วได้ชัดเจนขึ้นกว่าความทรงจำวัยเด็ก แถมตอนนี้ยังทำเจ้าขนมชนิดนี้เป็นแล้วด้วย จึงขอนำเรื่องราวที่สืบค้นและวิธีทำมาเผยแพร่ให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้รับรู้ทั่วกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้คุณรู้จักขนมไทยกลิ่นอายญวนเมนูนี้ดีมากยิ่งขึ้น