ปลาทู

“ปลาทู” หลากเรื่องราวเคล้าเคล็ดลับฉบับ “ปลาทู” – A Cuisine

หลากเรื่องราวเคล้าเคล็ดลับฉบับ “ปลาทู”

หนาวนี้มากิน “ปลาทู” กันเถิด 

“ปลาทู” ปลาทะเลที่คนไทวันนยคุ้นเคยทั้งรสชาติและหน้าตากันดีหนักหนา ก็ลองใครได้ชิมปลาทูทอดหนังเหลืองๆกรอบๆ แกะเอาเนื้อลงคลุกขยำข้าวสวยร้อนๆ พร้อมน้ำพริก (บางคนเรียกข้าวแมว) ก็ล้วนทำให้เจริญอาหารจริงไหม  แถมช่วงฤดูหนาวแบบนี้เป็นช่วงที่ปลาทูไทยมีเนื้อมันอร่อยที่สุด จนกระทั่ง จ.สมุทรสงคราม ถิ่นปลาทูชั้นเลิศจะจัดงานเทศกาลกินปลาทูกันทุกปี อย่างปีนี้ ก็ใช้คอนเซ็ปต์เก๋ไก๋ “รักใครให้กินปลาทู” เพราะปลาทูนั้นทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ เมื่ออยู่ในฤดูกินปลาทูอร่อยขนาดนี้ฉันจึงอยากนำเรื่องราวของปลาทูมาเล่าสู่คุณฟัง พร้อมแนมเคล็ดวิธีสารพัดในการเลือก และปรุงปลาทู ให้อร่อยมาฝากกัน

ทำไมฤดูหนาวปลาทูถึงมันอร่อย

            โบราณมีสำนวน “ข้าวใหม่ปลามัน” นั้นเรื่องจริง เพราะช่วงฤดูหนาวที่เก็บเกี่ยวข้าว จะตรงกับช่วงที่ปลาโตเต็มที่พร้อมเจริญพันธุ์ อย่างเช่นปลาทูก็เช่นกัน พอถึงฤดูหนาว ปลาทูจะเต็มสาว พร้อมผสมพันธุ์ ช่วงนี้เนื้อปลาทูจึงหวานอร่อย และยิ่งปลาทูแม่กลอง ซึ่งเป็นแหล่งตะกอนดิน มีแร่ธาตุและอาหารสำหรับปลามากมายยิ่งทำให้ปลาทูที่ว่ายน้ำจากทางใต้เพื่อมาผสมพันธุ์และวางไข่ ได้กินอาหารอุดมสมบูรณ์ เนื้อปลาจึงมันอร่อยเป็นพิเศษ ต่อเมื่อปลาวางไข่เสร็จ ปลาจะว่ายน้ำกลับลงใต้ ช่วงหลังจากวางไข่นี้ เนื้อปลาจะหยาบกระด้าง ไม่อร่อยแล้ว  ดังนั้นจำไว้ว่า ฤดูหนาว มีข้าวใหม่หอมๆกิน ก็จะมีปลามันกินอร่อยพร้อมกันเสมอ

ปลาทูในตลาด มีหลายชนิด

ชาวประมงจะแบ่งปลาทูออกเป็นสองกลุ่ม คือ ปลาทูสั้น และ ปลาทูยาว ซึ่งหมายถึงขนาดและรูปลักษณะของตัวปลา โดยปลาทูสั้นนั้น เป็นกลุ่มปลาทูที่ออกมาหากินในบริเวณน้ำตื้นซึ่งมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีเนื้อมันหวานอร่อย  ส่วนปลาทูยาว พวกนี้เป็นปลาทูที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก เนื้อจะแข็งกระด้างไม่มันอร่อยเหมือนกลุ่มแรก

ฉันเชื่อว่าหลายท่านคนเคยเจอปัญหาว่า เวลาไปซื้อปลาทูตัวใหญ่มาทอดแล้วเนื้อกระด้างบ้าง หนังขาดบ้าง บางทีก็เนื้อยุ่ยไม่หนึบอร่อย เพราะฉันก็เจออยู่ออกบ่อย จนกระทั่งมารู้ภายหลังว่า เวลาเลือกปลาทูนั้น ความใหญ่หาใช่ประเด็นสำคัญ

เพราะเราต้องรู้ก่อนว่า ท่ามกลางแผงปลาทูสารพัดนั้นมีชนิดของปลาทูจากต่างน่านน้ำมาวางขายด้วย ข้อมูลนี้ฉันโชคดี ว่ารู้จักมักจี่กับ “คุณหนิง” ลูกพี่ลูกน้องของฉันทำห้อเย็นและนึ่งปลาทูขาย จึงได้คำตอบแบบอินไซด์มาผสานกับข้อมูลที่ฉันเก็บสั่งสมมาแล้วนำมาเล่าสู่คุณฟัง

ปลาทูแม่กลองของไทย เป็นปลาทูที่มีเฉพาะที่มีเฉพาะในอ่าวไทยเท่านั้น เป็นปลาทูสั้น (หมายถึงตัวสั้น) ภาษาชาวบ้านเรียกปลาทูสั้น บ้างก็เรียก ปลาทูเตี้ย จุดสังเกตของปลาทูแม่กลองของไทยก็คือ  “หน้างอ คอหัก ตัวสั้น หนังบาง หางเหลือง” เป็นปลาทูที่ตัวเล็ก แต่อ้วนพี หนังบางและมีเนื้อที่นิ่ม มันอร่อยที่สุด เวลานำไปทอด หนังปลาไม่ขาด จะยังคงเคลือบทั่วทั้งตัวปลา สำหรับคนไทยแล้วจัดให้ปลาทูแม่กลองเป็นปลาทูที่อร่อยที่สุด  (ยกให้เป็นอันดับ 1)

ปลาทูอินเดีย เป็นปลาทูยาวที่มีความกว้างของตัว จึงดูละม้ายคล้ายปลาทูไทย แต่มักจะตัวใหญ่กว่า (ทว่าไซส์เล็กก็มีเหมือนกัน ยิ่งแลดูคล้ายปลาไทย) จึงมักถูกนำมาย้อมแมวขายคู่กับปลาทูแม่กลองของไทย ทว่าจุดต่างของปลาทูอินเดียนั้นคือ หนังจะบางมาก เวลานำไปทอดหนังปลามักจะฉีกขาด ทอดออกมาไม่สวยเหมือนอย่างปลาทูไทย หรือปลาทูอินโด  ส่วนเรื่องความอร่อย ความหวานมัน ของเนื้อ นั้น ใกล้เคียงกับปลาทูไทย (ยกให้เป็นอันดับ 2)

ปลาทูอินโดฯ เป็นกลุ่มปลาทูยาว บางคนเรียกว่าปลาลัง ตัวจะเรียวยาวลักษณะคล้ายปลาทูโอมาน แต่ตัวเล็กกว่า หนังปลาหนาเล็กน้อย ทำให้เวลานำไปทอดจะได้ปลาทูทอดที่หนังสวย เสียอย่างเดียวว่าเนื้อปลาจะค่อนข้างแข็งกระด้าง หากอยากกินปลาทูอินโดที่รสมันอร่อย ก็ต้องเลือกกินในช่วงฤดูหนาว หากเลยเดือนพฤษภาคมไปแล้ว ปลาวางไข่เสร็จเนื้อปลาจะยิ่งแข็งกระด้างไม่อร่อย   (ตามมาเป็นอันดับ 3)

ปลาทูปากีสถาน  เป็นปลาทูยาว ตัวใหญ่กว่าปลาสามชนิดที่กล่าวมา และมีหนังหนากว่าปลาทั้งสามชนิดด้วย (แต่บางกว่าปลาทูโอมาน) เนื้อปลาจัดอยู่ในกลุ่มเนื้อหยาบกระด้าง เช่นกันกับปลาทูโอมาน แต่เนื้อปลาทูปากีฯจะมีรสมันกว่าปลาทูโอมาน ทว่าก็ด้อยกว่าปลาทูไทย ปลาทูอินเดีย และปลาทูอินโด (ความอร่อยอยู่ลำดับ 4)

ปลาทูโอมาน  เป็นกลุ่มปลาทูยาว และไม่ยาวธรรมดา ยาวและใหญ่ด้วย ถ้าใครไปตลาดแล้วเคยเห็นปลาทูตัวยักษ์ ราวกับเป็นโคตรตระกูลของปลาทู ให้รู้ไว้เลยว่านั่นแหละคือปลาทูที่ฉันกำลังกล่าวถึง นอกจากจะตัวใหญ่มากแล้ว จุดสังเกตที่ต้องดูคือ ปลาพวกนี้จะมองเห็นเกล็ดชัดเจน มีเกล็ดเยอะโดยเฉพาะตรงช่วงติดกับครีบเหงือก และมีลายริ้วยาวสีฟ้าเข้มแนบข้างลำตัวตลอดแนว เวลาไปทอดเกล็ดจะพอง หนังปลาหนาลอกออกได้เป็นแผ่น เนื้อหยาบยุ่ยกระด้าง (เรื่องไซส์ยกให้อันดับ 1 แต่ความอร่อย ได้ที่โหล่เด้อ)

นี้ก็เป็นข้อมูลปลาทูที่คุณหนิงเล่าให้ฟัง หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกซื้อของคุณผู้อ่านนะครับ

 

เจ้าจอมเอิบ ผู้ทอดปลาทูเลื่องชื่อจนเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5

ปลาทูถูกกล่าวขานไว้ในบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ว่า เจ้าจอมก๊กออ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น มี “เจ้าจอมเอิบ” ที่ทอดปลาทูได้อร่อยที่สุด จนถึงขั้นว่า หากวันใดรัชกาลที่ 5 โปรดเสวยปลาทู ก็จะรับสั่งให้รถไปรับเจ้าจอมเอิบเข้ามาในวังเพื่อมาทอดปลาทูถวาย ทว่าเคล็ดลับการทอดปลาทูของเจ้าจอมท่านนี้ไม่ได้มีบันทึกเอาไว้ว่าทอดอย่างไร มีเพียงการคาดคะเนว่า น่าจะทอดปลาทูอย่างคนเมืองเพชรบุรีที่เรียกว่า “ทอดปลาทูเป็น” เหตุเพราะเจ้าจอมก๊กออ ทั้ง 5 คน นั้น เป็นธิดาของเจ้าเมืองเพชรบุรีนั่นเอง

 

เคล็ดลับ “การทอดปลาทูเป็น” อย่างคนเมืองเพชร

การทอดปลาทูเป็น อย่างคนเพชรบุรีนั้น คือการนำปลาทูที่ต้มสุกแล้ว ไปทอดในน้ำมันอุ่นๆ ไปเรื่อยๆ ให้ผิวของปลาทูนั้นเหลืองเพียงเล็กน้อย แต่ยังมีสีน้ำเงินเงาเหมือนอย่างหนังปลาทูที่ยังไม่ได้ทอดอยู่ด้วยนั่นเอง วิธีทอดแบบนี้จะทำให้ได้รับประทานปลาทูที่ยังคงความมันอร่อย และเนื้อปลาทูจะนิ่มไม่กระด้าง  เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งคือ เวลาทอดปลาทูนี้ หากหนังปลาติดกระทะ อย่าใช้ตะหลิวแซะเด็ดขาด แต่ให้ใช้วิธียกกระทะลงจากเตา พอน้ำมันเย็นตัวลง ปลาที่ติดจากกระทะจะลอยตัวขึ้นเอง จึงค่อยยกกระทะขึ้นตั้งไฟใหม่จนกว่าปลาจะได้ที่ จึงตักขึ้นพักสะเด็ดน้ำมัน

วิธีทอดปลาทูแบบนี้ ฉันเคยทำมาก่อน ปลาที่ทอดแล้วจะดูเหมือนยังไม่ได้ทอดเลยก็ว่าได้ เคล็ดสำคัญที่ขอเสริมก็คือควรเลือกปลาทูแม่กลองของไทยมาทอด จึงจะได้ความมันอร่อยของเนื้อปลาอย่างเต็มที่

 

“ปลาทู” วัตถุดิบสำคัญของ “ข้าวต้มสามกษัตริย์”

            นอกจากเรื่องปลาทูทอดของเจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ 5 แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ปลาทูถูกบันทึกเอาไว้ ก็คือ ปลาทูนั้น เป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่ใช้ทำข้าวต้มสามกษัตริย์  เพื่อถวายรัชกาลที่ 5

โดยมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ นิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการเสด็จประพาสทางทะเลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ด้วยเรือฉลอม จากปากอ่าวแม่กลอง           จ.สมุทรสงคราม ไปยังปากอ่าวบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

มีใจความดังนี้

“…เมื่อวันที่ 24 เวลาเช้า เสด็จทรงเรือฉลอมแล่นใบออกประพาสละมุที่เขาจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ 3 ลำด้วยกัน เที่ยวซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้มสามกษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกข้าวต้มสามกษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทู กุ้งกับปลาหมึกสดแซกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นในเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย”

 

เคล็ดลับทอดปลาทูเหลืองกรอบไม่ติดกระทะ

            ประเด็นแรกคือ ไม่ติดกระทะ มีสองวิธี วิธีแรก ให้นำเกลือมาคั่วในกระทะก่อนสักพัก จากนั้นเทเกลือออก แล้วค่อยใส่น้ำมันลงไป ก่อนนำปลาทูลงทอดด้วยไฟกลางค่อนอ่อน  หรือถ้าใครขี้เกียจคั่วเกลือ ก็ให้ใส่น้ำมันลงในกระทะตั้งไฟกลางค่อนอ่อน รอน้ำมันร้อนเล็กน้อยจึงใส่ปลาทูลงไป ความร้อนของน้ำมันนี้สำคัญ หากร้อนเกินไปจะทำให้หนังปลาทูหดและขาดปลาทอดออกมาจะไม่สวย หากน้ำมันร้อนน้อยไป ปลามักจะติดกระทะ ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกันกับการทอดปลาทูเป็นดังที่กล่าวข้างต้น และเมื่อใส่ปลาทูลงทอดแล้ว อย่ากลับปลาบ่อย ต้องรอให้ด้านที่สัมผัสกระทะเหลืองก่อน จึงกลับปลาอีกด้าน หนังปลาที่เหลืองกรอบดีแล้วจะช่วยให้ล่อนหลุดจากกระทะได้ดี ไม่ติดกระทะ หนังปลาก็จะไม่ขาด และเหลืองสวยดี

เท่านี้ใครที่ชอบปลาทูทอดเหลืองๆ หนังกรอบๆ ก็ได้เคล็ดลับนำไปใช้ได้แล้ว

เคล็ดลับการทอดปลาทูสดของคนแม่กลอง

พอเขียนเรื่องปลาทู ฉันก็ค้นคว้าข้อมูลทั้งจากเอกสารและจากบุคคล ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับคุณ ภาณุมาศ รวมสุข รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม และประธานชมรสร้านอาหารสมุทรสงคราม ทั้งยังเป็นประธานผู้จัดงานเทศกาลกินปลาทูครั้งที่ 22 ในปี พ.ศ.2562 นี้ด้วย

ซึ่งพอถามเคล็ดลับฉบับพิเศษของการทอดปลาทูแบบคนแม่กลอง คุณภาณุมาศ เล่าว่าคนแม่กลองจะมีวิธีทอดปลาทูสดให้กรอบอร่อยถึงก้างใน โดยเริ่มจากนำปลาทูสดมาควักไส้ออกทางท้องปลา ล้างให้สะอาด แล้วบั้งปลา สะเด็ดน้ำให้หมาด เคล้าเกลือเล็กน้อย แล้วใส่ลงทอดในกระทะที่มีน้ำมันปริมาณเพียงพอที่จะท่วมชิ้นปลา โดยใช้ไฟกลางค่อนอ่อน แต่น้ำมันต้องร้อนจึงจะใส่ลงไป ทอดไปเรื่อยๆ จนชิ้นปลากรอบเหลืองดี จึงตักขึ้นพักสะเด็ดน้ำมัน  นี้คือวิธีทอดปลาทูสดแบบคนแม่กลอง

 

เคล็ดลับวิธีถอดก้างปลาทูอย่างไรให้หัวหางยังอยู่

เทคนิคนี้ฉันเคยเรียนกับ อ.เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประณีตศิลป์แกะสลักเครื่องสดคนเดียวของไทย และคุณกิติภูมิ ดวงทิพย์ หัวหน้าห้องเครื่องหวานวังสวนจิตลดาฯ ซึ่งปลาทูที่เลาะก้างแล้วยังคงตัวสวยงามดุจเดิม เวลาจัดขึ้นสำรับน้ำพริกทำให้ดูน่ารับประทานและเวลารับประทานก็อร่อยอีกด้วยไม่มีก้างให้รำคาญใจ

วีธีทำเริ่มจาก นำปลาทูนึ่งไปทอดจนสุกตามที่คุณชอบ จากนั้น นำปลาทูที่ทอดแล้ววางลงบนเขียง ใช้มีดจัดการกับก้างบริเวณครีบหลังและครีบท้องด้านชิดหางของปลาทูก่อน โดยใช้คมมีดกรีดเซาะตามแนวครีบทั้งสองด้าน แล้วใช้มือดึงออก ก้างที่ติดครีบปลาจะหลุดออกมาเป็นแผง

จากนั้น ให้ใช้มีดเฉือนเนื้อปลาทูทอดชิดคอปลาลงตามขวาง โดยทำเพียงด้านเดียว ให้คมมีดถึงแค่ส่วนก้างกลางตัวเท่านั้น (ไม่ให้หัวปลาขาด) แล้วใช้ปลายมีดแทงเนื้อปลาจากรอยครีบด้านบนที่เลาะก้างออกไปแล้วแต่อย่าให้คมมีดลึกถึงท้องปลา ต้องระวังอย่าให้ท้องปลาขาด แล้วขยับคมมีดไปจนสุดด้านหางปลา ตอนนี้เนื้อปลาจะสามารถเปิดออกจากด้านหลังตัวปลา โดยมีหนังช่วงท้องปลาเป็นตัวเชื่อมติดกันอยู่

เปิดเนื้อปลาออก แล้วดึงก้างกลางตัวปลาออก แต่ส่วนปลายอย่าให้หางปลาหลุดติดก้างไปเด็ดขาด ครานี้สังเกตตรงกลางเนื้อปลา จะมีตุ่มก้างเล็กๆที่แทรกอยู่ ให้ใช้ปากคีบค่อยๆ คีบก้างออกจนหมดทั้งสองด้านของเนื้อปลา

เมื่อเลาะก้างปลาทูทอดออกหมดแล้ว ก็พับเนื้อปลาปิดกลับไปดังเดิม เท่านี้ คุณก็ได้ปลาทูทอดถอดก้าง ไว้วางเคียงสำรับน้ำพริกอย่างสวยงามแล้ว

ปลาทู “ตาเตี๊ยะ” เมนูปลาทูอร่อยวิถีคนแม่กลอง

ฉันเองเคยไปเยือนแม่กลองอยู่หลายหน และคนชอบอาหารแบบฉันก็ต้องเสาะหาของอร่อยมากินเป็นธรรมดา เมื่อมาเยือนแม่กลองถิ่นปลาทูดี จึงต้องเสาะหาสักหน่อยว่าคนบ้านนี้เมืองนี้เขามีเมนูปลาทูอะไรที่ฉันยังไม่เคยกิน จนกระทั่งมาสะดุดกับอาหารชื่อแปลกอย่าง ปลาทูตาเตี๊ยะ ตรงนี้จึงต้องสอบถามข้อมูลกับเจ้าถิ่น ซึ่งก็ได้คุณภาณุมาศ รวมสุข รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ช่วยไขข้อข้องใจและเล่าถึงวิธีการทำปลาทูตาเตี๊ยะให้ฟังว่า

“เมนูปลาทูตาเตี๊ยะเริ่มทำโดยชาวประมงที่ปรุงกินกันแบบง่ายๆ พื้นๆ เรียกชื่อเมนูนี้ที่ถูกต้องต้องเรียกว่า “ปลาทูตาเตี๊ยะ” เป็นภาษาจีน แปลว่า การปรุงอาหารในกระทะแล้วเคี่ยวไปให้เหลือน้ำขลุกขลิก แต่ต่อมาก็มีคนเรียกเพี้ยนเป็น “ปลาทูซาเตี๊ยะ” การปรุงปลาทูตาเตี๊ยะนั้นมีสองแบบ คือแบบดั้งเดิมที่ปรุงกินบนเรือประมง เรียกว่า “ปรุงในน้ำ” และอีกแบบฉบับที่พัฒนาขึ้นปรุงกินกันเองในบ้าน เรียกว่า “ปรุงบนบก” วิธีการปรุงทั้งสองวิธีนั้นแตกต่างกัน 

โดยการปรุงแบบดั้งเดิมบนเรือ คนเรือจะนำปลาทูสดมาควักไส้ออก ทางหัว แต่ให้เหลือหัวติดไว้ ล้างให้สะอาด  จากนั้นต้มน้ำเปล่าใส่กระทะให้เดือด ใส่ปลาลงต้ม พร้อมด้วย มะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว กระเทียม รากผักชี ขิงหั่นแฉลบและพริกสด แล้วก็เปิดไฟเคี่ยวไปรอจนปลาสุกและน้ำงวดลงขลุกขลิก รสชาติก็จะมีหวานมีเค็ม มีเผ็ดนิดๆ หอมกลิ่นสมุนไพร เป็นการปรุงแบบดั้งเดิม และที่สำคัญจะไม่ใส่น้ำมันหอยลงไปเด็ดขาด เพราะสมัยก่อนไม่มีน้ำมันหอย

ส่วนการปรุงตามบ้าน ที่เรียกว่าปรุงบนบกนั้น จะเป็นวิธีที่ปรับประยุกต์ขึ้นและเพื่อถนอมอาหารไว้ให้กินได้นาน ก็จะใช้วิธีการเคี่ยวคลายอย่างปลาตะเพียนต้มเค็ม คือมีการใส่อ้อย ใส่สับปะรดลงไปด้วย ตัวปลาก็จะตัดหัวพอควักไส้ปลาออก ก็นำหัวปลาสอดใส่ในช่องท้องปลา เพื่อทำให้ตัวปลาคงรูปสวยและวิธีนี้เวลาเคี่ยวต้องเคี่ยวนานหลายชั่วโมงจนก้างปลานิ่ม หัวปลาที่สอดใส่เอาไว้ก็จะนิ่มไปด้วย กินได้ทั้งหมด”

ได้เจ้าถิ่นเล่ามาละเอียดขนาดนี้ ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันอย่างกระจ่างแจ้งในประเด็นเรื่องปลาทูตาเตี๊ยะ

 

เรื่องราวของปลาทูยังมีอีกมากมายให้เล่าขาน ด้วยปลาชนิดนี้หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยรุ่นต่อรุ่นกันมายาวนาน สมัยก่อนฉันจำได้ขึ้นชื่อว่าปลาทูเป็นปลาราคาถูกสามารถซื้อหาให้น้องหมาน้องแมวกินได้ แต่ทุกวันนี้ปลาทูกลับมีราคาแพงเพราะจำนวนเริ่มลดลงจากการทำประมงที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทิ้งขยะทำลายแหล่งน้ำจนทำให้ปลาทูในท้องทะเลไทยเริ่มลดจำนวนลง จนต้องมีเหตุให้นำปลาต่างน่านน้ำเข้ามาคละเข่งขาย

มองในแง่ดีอาจคิดได้ว่าเราก็มีวาไรซ์ตี้ให้เลือกสรร แต่หากมองลึกในความจริงนั้น จำนวนปลาทูที่ลดลง กลับเป็นเครื่องชี้วัดสะท้อนถึงคุณภาพของท้องทะเลไทย และคุณธรรมในใจทั้งของผู้ขายและผู้บริโภค หากวันนี้รสอร่อยของปลาทูยังคงติดตาตรึงใจคุณผู้อ่าน ก็ขอให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น และตั้งตนอยู่ในความพอดี เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างพึ่งพาธรรมชาติอย่างสมดุลไม่มุ่งเน้นแต่เรื่องการกอบโกย เท่านี้เราท่านก็คงมีท้องทะเลไทยที่อุดมสมบูรณ์ งดงาม และมีปลาทูให้เรานำมาบริโภคหล่อเลี้ยงชีพกันได้ชั่วลูกชั่วหลานแล้ว

เรื่องและภาพ : สิทธิโชค ศรีโช

ขอบคุณ

คุณหนิง เจ้าของกิจการ “หนิงปลาทู” อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เอื้อเฟื้อข้อมูลเรื่องปลาทูชนิดต่างๆ

คุณภาณุมาศ รวมสุข รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานชมรมร้านอาหารสมุทรสงคราม และประธานจัดงานเทศกาลกินปลาทูครั้งที่ 22 (พ.ศ.2562) เอื้อเฟื้อข้อมูลเรื่องปลาทูแม่กลอง และปลาทูตาเตี๊ยะ

Summary
“ปลาทู” หลากเรื่องราวเคล้าเคล็ดลับฉบับ "ปลาทู" - A Cuisine
Article Name
“ปลาทู” หลากเรื่องราวเคล้าเคล็ดลับฉบับ "ปลาทู" - A Cuisine
Author

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.