ส. ชิโนรส

“รู้แล้ววาง” คือ “ทางพ้นทุกข์” ข้อธรรมให้แง่คิดโดย ส. ชิโนรส

ท่าน ส. ชิโนรส ได้แสดงข้อธรรมให้แง่คิดในเรื่องของการพ้นทุกข์ไว้ดังนี้

ธรรมชาติของกายและใจตามเป็นจริง คือ “มันเป็นอย่างนั้นเอง”

กายและใจ รูปธรรมและนามธรรมทั้งหมด มีแต่เกิดกับดับ เกิดกับตายทุกวินาที (อนิจจัง) มีเหตุปัจจัยต่าง ๆ บีบคั้น บีบบังคับให้ต้องเกิด – ดับอยู่ตลอดเวลา (ทุกขัง) และไม่มีใครมีอำนาจสั่งให้เป็นไปตามความต้องการ ไม่มีตัวกูของกูที่แน่นอน ไม่มีค่าที่ตายตัวเที่ยงแท้ ว่างเปล่าจากตัวตน (อนัตตา)

“อนิจจัง – ทุกขัง -อนัตตา” คือ ธรรมชาติแท้ของกายและใจมันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร  ผู้เจริญวิปัสสนาเคยเห็นธรรมชาตินี้มาแล้ว ก่อนที่ยังไม่พ้นวิปัสสนูปกิเลส แต่ตอนนั้นสติปัญญายังไม่แจ่มแจ้งเต็มร้อย เพราะวิปัสสนูปกิเลสทำให้เขว และยังมีความสงสัยคลำหาทางออกไม่พบ

แต่ตอนนี้มองเห็นได้แจ่มแจ้งแล้วว่า “กายและใจมันเป็นอย่างนี้เอง เราหนีธรรมชาตินี้ไม่พ้น ต้องยอมรับมัน”

การเห็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาได้ชัดเจนกว่ากันหรือไม่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน บุญใครบุญมัน

ผู้ที่มีความเชื่อเลื่อมใสมาก (ศรัทธา) จะเห็นการเกิด – ดับได้ชัดเจน

ผู้ที่มีความเพียรมาก (วิริยะ) จะเห็นความทุกข์ได้ชัดเจน

ส่วนผู้ที่มีปัญญามาก (ปัญญา) จะเห็นอนัตตาความว่างได้ชัดเจน

แต่จะเห็นธรรมชาติใดชัดเจนกว่ากันหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายแล้วก็จะเห็นอนัตตา คือ ความว่างเหมือนกันหมด

พลันที่จิตยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ อีกต่อไปว่า “ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ของมัน ไม่มีทางเป็นอื่นจากนี้ได้ สิ่งที่เราเคยฝืนมาก่อนเป็นเพียงความโง่ของเรา บัดนี้เรายอมรับแล้วว่า ‘ธรรมชาติของกายและใจที่เคยลุ่มหลง เคยยึดมั่นถือมั่นมานมนาม เป็นอย่างนี้นี่เอง'”

กายและใจก็จะระเบิดออกจากกันทันที กายก็เป็นเรื่องของกาย ใจก็เป็นเรื่องของใจ กายรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนคนธรรมดา แต่ไม่มีอิทธิพลต่อใจ สุขหรือทุกข์ที่เกิดแก่กายไม่กระทบใจอีกต่อไป เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นเรื่องของกาย แต่ใจไม่รับ ไม่เดือดร้อนไปกับมัน ส่วนใจนั้นเล่า ก็ไม่วิ่งไปตามอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนแต่ก่อน แม้ใจยังมีความคิด ความรู้สึก และจำได้หมายรู้เหมือนคนทั่วไป แต่มันก็ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์เหล่านี้อีกต่อไป ใจจึงเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ วางตัวเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวงได้อย่างเบ็ดเสร็จ (สังขารุเปกขาญาณ)

เหตุที่กายและใจแยกเด็ดขาดเป็นอิสระจากกัน ไม่เป็นทาสของกันอีกต่อไป เพราะกิเลสต่าง ๆ คือ ความโง่ ความอยาก และความยึดมั่นถือมั่น ที่ปกติร้อยรัดกายและใจให้ตกเป็นทาสของกันและกันได้ถูกทำลายลงไป ขณะที่ผู้ปฏิบัติยอมรับอย่างเต็มใจว่า “กายและใจเป็นอย่างนั้นนั่นเอง” แล้วปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืนความจริงอีกต่อไป

ทันทีที่จิตวางตัวเป็นกลางต่อสิ่งทั้งปวงได้อย่างสมบูรณ์ มันก็จะรีวิวธรรมะทั้งหมดที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น เริ่มจากพิจารณาแยกแยะกายและใจ เห็นเหตุผลของกายและใจ จนกระทั่งเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งว่า “มันเป็นอย่างนั้นเอง” แล้ววางเฉยต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ฝืนธรรมชาติที่เป็นจริงอีกต่อไป ผู้ปฏิบัติบางคนใช้เวลารีวิวเพียงแค่ 5 นาทีก็จบ

จากนั้นจิตก็จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งอริยภูมิ ตัดกิเลสที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ไปตามลำดับชั้น ใครจะตัดได้มากน้อยเพียงไรและบรรลุถึงขั้นใด อยู่ที่บุญบารมีที่เคยบำเพ็ญมา แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนได้บรรลุโสดาปัตติผล บางคนได้บรรลุสกทาคามิผล บางคนได้บรรลุอนาคามิผล ส่วนบางคนได้บรรลุถึงอรหันตผล

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็จะเป็นผู้เที่ยงแท้ต่อกระแสธรรม รู้แน่ชัดถึงทางเดินเข้าสู่การหลุดพ้นจากทุกข์อย่างสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องศึกษาแนวปฏิบัติทางจิตอันใดอีก อยู่ที่ตัวเขาเท่านั้นว่า “จะมีความเพียรพยายามมากน้อยเพียงไรในการเดินเข้าสู่การพ้นทุกข์อย่างเบ็ดเสร็จ คือเป็นพระอรหันต์”

 

ที่มา : สมาธิ : กุญแจไขความสุข – ส. ชิโนรส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.