ตาเลื่อน ผู้เฒ่าเฝ้าพลับพลึงธาร – ทุกปลายปี “พลับพลึงธาร” จะชูช่อออกดอกงาม กลีบใบยาวพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งบนผืนน้ำ ชวนให้หมู่แมลงบินคลอเคลียหวังผสมเกสร ดั่งสมญาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ”
หากย้อนไปหลายสิบปีก่อน ภาพความสวยงามเหล่านี้คงเป็นเรื่องชินตา เพราะพลับพลึงธารเป็นพืชน้ำที่ขึ้นอยู่ตามแนวคลองในหลายพื้นที่ของจังหวัดระนองและจังหวัด พังงา จนกระทั่งประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านมักขุดไปขายเป็นไม้ประดับ ทั้งขุดหัวส่งขายให้บริษัทผลิตเครื่องสำอางในต่างประเทศ ประกอบกับมีการขุดลอกคูคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วมและสร้างชลประทาน พลับพลึงธารจึงลดจำนวนลงจนแทบไม่มีให้เห็น
ยกเว้นที่ “คลองไร่ลุ่ม” คลองเล็ก ๆ ในตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ที่ไหลผ่านสวนเกษตรของ เลื่อน มีแสง คุณตาวัย 81 ปี กลับเต็มไปด้วยพลับพลึงธารตามแนวคลองตลอดสายราวครึ่งกิโลเมตร ปัจจุบันชาวบ้านเรียกคลองแห่งนี้ว่า “คลองสวนตาเลื่อน”
ตาเลื่อน เล่าว่าเป็นเจ้าของสวนเกษตรพื้นที่ 20 ไร่ ทำสวนยางและเกษตรผสมผสาน แต่สังเกตว่าพลับพลึงธารเป็นพืชริมน้ำที่มีประโยชน์ เพราะช่วยยึดดินริมตลิ่ง ป้องกันกระแสน้ำชะล้างพังทลาย ทั้งยังทำให้น้ำใสและเพิ่มความสวยงามให้ลำคลอง จึงไม่คิดขุดไปขาย แม้ปี 2545 หน่วยงานท้องถิ่นมีแผนขุดลอกคลองไร่ลุ่ม แต่ตาเลื่อนยืนกรานคัดค้านเพื่อเก็บรักษาพลับพลึงธารไว้ และพยายามปกป้องไม่ให้ชาวบ้านมาขุดไปขาย
“เคยมีคนมาขโมยขุด ผมบอกว่าอย่าขุดเลย ผมอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานดู บางวันต้องมานอนเฝ้าอยู่บนขนำริมน้ำ นอกจากที่สวนลุงก็ไม่มีที่ไหนแล้ว เขาขุดหมด เพราะหัวมันราคาแพง ขายกันตั้งแต่ 70 – 300 บาท แต่ผมอยากเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลาน” ตาเลื่อนเล่าด้วยสำเนียงคนใต้อย่างอารมณ์ดี พร้อมพาเดินชมสวนอย่างกระฉับกระเฉง
ตาเลื่อนเพียงอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานดู โดยไม่รู้มาก่อนว่าพลับพลึงธารที่ลุงหวงแหนเป็นพืชที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ กระทั่งปี พ.ศ. 2552 องค์การระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN) มาทำวิจัยเพื่อหาวิธีอนุรักษ์ เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์พลับพลึงธาร โดยเลือกคลองสวนตาเลื่อนเป็นพื้นที่หนึ่งในการวิจัย
ผลจากวิจัยพบว่า พลับพลึงธารเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (Endemic Plant) และพบเพียงแห่งเดียวในโลก ในแถบจังหวัดพังงาตอนบนและระนองตอนล่าง แต่ปัจจุบันเหลือที่สวนตาเลื่อนซึ่งนับเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงได้ขึ้น “บัญชีแดง” หรือบัญชีพืชใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Red List of Threatened Species)
เมื่อเรียนรู้ว่าพืชที่ตนหวงแหนมีคุณค่า ตาเลื่อนจึงทำโพงพางดักเมล็ดไว้ชายคลอง เพื่อไม่ให้เมล็ดพลับพลึงธารไหลไปตามน้ำโดยไม่เติบโต แล้วเก็บเมล็ดมาหว่านลงใน คลอง รวมถึงทดลองนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ ปรับปรุง การทำสวนของตนเอง จากเดิมใช้สารเคมีฆ่าหญ้าหันมาใช้แรงงานตัดหญ้าแทน
8 ปีผ่านไปต้นพลับพลึงธารขยายจากหลักพันต้นเป็นหลักหมื่น กลายเป็นแหล่งพลับพลึงธารที่มีมากที่สุดในประเทศไทย
ทุกวันนี้คลองสวนตาเลื่อนจึงเป็นแหล่งศึกษาพลับพลึงธารที่สำคัญ โดยมีตาเลื่อนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องพลับพลึงธารตามประสบการณ์ ทั้งยังรวบรวมเมล็ดเพื่อนำไปขยายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนแบ่งปันให้ผู้ที่มาเยือน เช่น พระบุญนพ สุทฺธสีโล เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ สวนวาง ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ได้เข้ามาเรียนรู้พลับพลึงธารจากตาเลื่อน และนำเมล็ดมาปลูกที่ริมคลองในสำนักสงฆ์ รวมทั้งขยายกิจกรรมโดยการทำ “ธนาคารพลับพลึงธาร” เพื่อแจกจ่ายให้ผู้สนใจ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเยาวชนอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม อนุรักษ์พลับพลึงธารนางย่อน เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนบ้านบางซอย ตำบลคุระ ที่อาสาเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์พลับพลึงธารในคลองสวนตาเลื่อน โดยจัดทำบ่ออนุบาลพลับพลึงธารแล้วนำกลับไปปลูกในคลองสาขาในบริเวณอื่น ๆ
รวมถึงกลุ่มเยาวชนคนสร้างสรรค์ วัน โต ตรี้ ตำบล กะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 16 ปี 2557 จักรพงษ์ ชูศรี ที่ปรึกษากลุ่มกล่าวถึงตาเลื่อนว่า แม้จะไม่ใช่การอนุรักษ์ในมิติของนักสู้ เนื่องจากตาเลื่อนอายุมาก แต่ก็มีความหวงแหน เป็นผู้ช่วยต่ออายุให้พลับพลึงธาร และการที่ลุง ต้อนรับคนไปชมพลับพลึงธารที่บ้าน พาเดินทุกที่ก็คือการเผยแพร่และแบ่งปันความร ู้
ปัจจุบันคลองสวนตาเลื่อนมีทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้ามาเยี่ยมชมเป็นประจำไม่ต่ำกว่า 600 คนต่อปี โดยเฉพาะในช่วงตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่พลับพลึงธารออกดอก สร้างโอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวในชุมชน เช่น บริการล่องแพ ร้านอาหาร และที่พักโฮมสเตย์
ความมุ่งมั่นของตาเลื่อนสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับพืชเฉพาะถิ่น และกำหนดให้ทุกวัน 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์พลับพลึงธาร
นับเป็นแรงสะเทือนที่เริ่มจากผู้เฒ่าเพียงคนเดียว
พลับพลึงธาร (Crinum thaianum)
ชื่อเรียกอื่น ๆ : หอมน้ำ พลับพลึงน้ำ ช้องนางคลี่ หญ้าช้อง ว่านพระคงคา
ลักษณะ : คล้ายต้นพลับพลึงแต่ขึ้นในน้ำ มีดอกขนาดใหญ่ สีขาว มีกลีบดอก 6 กลีบ ปลายก้านมีเกสรสีเหลืองตัดกับสีเขียวของใบขนาดยาวที่อยู่ใต้ลำน้ำ ขึ้นเฉพาะในธาร น้ำไหลและสะอาด
การออกดอก : ออกดอกปีละครั้ง ตั้งแต่ตุลาคม – ธันวาคม ดอกชูช่อโผล่พ้นน้ำส่งกลิ่นหอม (ตาเลื่อนบอกว่าช่วงเย็นจะส่งกลิ่นหอมที่สุด)
ประโยชน์ : มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะมีรากยาวช่วยยึดดิน ป้องกันไม่ให้หน้าดินถูกชะล้าง ใต้ใบเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และเป็นที่วางไข่ของสัตว์น้ำหลายชนิด
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่องและภาพ อุราณี ทับทอง