ปรับความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความคิด” ของเรานั้น มีส่วนในการกำหนดชีวิต หากเราลอง ปรับความคิด จากเรื่องเล็ก ๆ น้อยใกล้ตัว ก็จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เหมือนกับเรื่องราว “การปรับความคิด” ของหนุ่ม 3 สามคนนี้
หลุยส์ สก๊อต : มองโลกต่างมุมให้ะไรมากกว่าที่คิด
ผมเป็นคนเบื่อง่าย ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ นาน ๆ อย่างเวลาเดินทาง ผมก็ชอบขี่มอเตอร์ไซค์มากกว่า ขี่ไปกับเพื่อนเป็นกลุ่มๆ มันเฮฮาดี ไม่เหมือนการนั่งเครื่องบินที่ต้องถูกบังคับด้วยพื้นที่ ด้วยกฎเกณฑ์มากมาย หนังสือหนาๆ ก็เป็นอีกอย่างที่ผมเบื่อง่ายเหมือนกัน ยิ่งถ้าหนามาก ๆ เช่น 400 – 500 หน้า แล้วเนื้อหาไม่โดนใจ อ่านแค่ครึ่งเล่มผมก็วางแล้ว ที่ผ่านมามีหนังสือแค่ 7 – 8 เล่มเท่านั้นเองที่ผมอ่านจบ หนึ่งในนั้นคือ “Rich Dad Poor Dad พ่อรวยสอนลูก” (ผลงานของโรเบิร์ต คิโยซากิ)
หนังสือเล่มนี้พูดถึงวิธีการสอนลูกของ “พ่อจน” ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผูใหญ่ และ “พ่อรวย” ซึ่งเปน็ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นำมาเปรียบเทียบสลับกันไปมา เช่น พ่อจนจะสอนให้ลูกเรียนหนังสือให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้ทำงานดี ๆ ส่วนพ่อรวยจะสอนให้ลูกเรียนแค่พอประมาณเพื่อให้รู้วิธีใช้เงินทำงานแทนเรา
การนำเสนอแบบนี้ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เห็น “ความจำเป็นและความไม่จำเป็นในชีวิต” เพราะคนส่วนใหญ่มักเติบโตมาด้วยคำสอนที่ดีที่สุดในมุมของพ่อแม่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคำสอนอื่น ๆ อีกที่ดีไม่แพ้กัน (แต่พ่อแม่ไม่ได้สอนเรา) การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงทำให้เราก้าวไปสู่โลกที่กว้างขึ้น รอบรู้มากขึ้น
ด้วยความคิดแบบนี้ พออ่านจบผมจึงให้หนังสือเล่มนี้กับเพื่อนคนหนึ่งไป เพราะหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเขาเหมือนผมบ้าง
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม : เปลี่ยนความคิดด้วยโปรเจ็คท์ 99 วัน
ช่วงที่ผมมอเตอร์ไซค์คว่ำ เดินไม่ได้อยู่เกือบ 6 เดือนนอกจากต้องเลื่อนงานทุกอย่างออกไปหมดแล้ว นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผมได้อยู่นิ่งๆ โดยไม่มีอะไรทำเลย(ลากเสียงยาว) อีกด้วย
ผมจึงลองเขียนไดอะรี่ดู เขียนในสิ่งที่เราต้องการจะเห็นอยากจะทำ และอยากจะไปหลังจากที่หายดีแล้ว แต่สุดท้ายจากไดอะรี่ธรรมดา ๆ ก็กลายเป็นโปรเจ็คท์แรกของผมไปจริง ๆ แถมยังเป็นโปรเจ็คท์ที่เล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายที่ผมถ่ายเองด้วย เพราะผมคิดว่าแค่เขียนถ่ายทอดความคิดอย่างเดียวคงไม่ดีพอ หลังเริ่มโปรเจ็คท์ได้สักพัก สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมก็คือ
“พอเราเดินทางไปเรื่อยๆ เราจะไม่สามารถกำหนดภาพอย่างที่ต้องการได้ เพราะสิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุดไม่ใช่ความคิดเรา แต่เป็นสิ่งที่เราได้เห็นและได้สัมผัส ณ ช่วงเวลานั้นจริงๆ”
เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมจึงเปลี่ยนมุมมองให้กว้างขึ้น หันมานำเสนอเรื่องราวของคนไทยทั่วๆ ไปแทน ไม่ได้เกี่ยวกับตัวผมอย่างเดียวเหมือนที่คิดไว้ตอนแรก การได้ถ่ายภาพตามติดผู้คนหลากหลายอาชีพมีผลต่อความคิดผมมากขึ้นไปอีก จากเดิมที่ผมเคยคิดว่าชีวิตต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น คนทำงานอย่างนี้ต้องมีบุคลิกอย่างนี้…แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย
“เสน่ห์ของชีวิตคือความแตกต่าง” ความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเราจะไม่มีวันรู้เลยถ้าหากไม่ได้สัมผัส
คนคนนั้นด้วยตัวของเราเอง เพราะคนส่วนมากมักตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เห็น หรือข้อมูลที่รับรู้มา หรือจากความคิดที่ปรุงแต่งเอาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ก้อง – สหรัถ สังคปรีชา : ปรับจูนความคิดให้เป็นสีขาว
สำหรับผมแล้ว แค่ คิด อะไรดี ๆ คิด อะไรที่เป็นกุศล คิดอะไรเป็นสีขาว ๆ เข้าไว้ การกระทําที่ตามมาก็ย่อมดีไปด้วย แต่ เมื่อไรที่ความคิดเราเริ่มมีสีออกเทา ๆ ดํา ๆ นั่นหมายความว่า “สิ่งที่คิดอยู่ไม่ใช่ความดีแล้ว ถ้าทําไปก็ใจมัวหมอง ไม่มีความสุข”
คิดดีในแบบผม เริ่มตั้งแต่การดูแล คุณพ่อคุณแม่ให้มีความสุขตอบแทนที่ท่าน เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ ในฐานะลูกหากทํา อะไรได้ก็ทํา ทําแบบไม่มีเงื่อนไข หรือ บางครั้งก็ทําเพราะใจอยากจะทํา เช่น ในวันเกิดผมปีหนึ่ง (จําไม่ได้ว่าเมื่อไร) ผม ตั้งใจว่าจะให้ของขวัญวันเกิดคุณแม่สักชิ้น เพราะในวันนี้ท่านเป็นคนเดียวที่ต้องเจ็บตัว เหนื่อย และเสี่ยงชีวิตมากที่สุด ส่วนทารกอย่างผมในวันนั้นก็มีหน้าที่แค่นอนดิ้นไปมา พร้อมกับแผดเสียงร้องไห้จ้าแค่นั้นเอง
พอเอาของขวัญไปให้คุณแม่จริง ๆ ท่านดูประหลาดใจไม่น้อยว่า ผมเอาของขวัญมาให้ทําไม เพราะวันนี้เป็นวันเกิด ของผม ท่านเป็นฝ่ายให้ผมถึงจะถูก ผมก็ แค่ตอบท่านไปตามที่คิดว่า
“ตอนผมเกิดมาแม่คงเหนื่อย… แม่ให้ชีวิตผมมาแล้ว วันเกิดผมผมจึง อยากให้ของขวัญแม่บ้างครับ”
จะว่าไปแล้วที่พูดมาก็เป็นแค่เหตุผลของคนที่อยากจะให้เท่านั้นเองครับ แต่เชื่อไหมครับว่าทุกครั้งที่ผมได้ทําอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ผมก็มักได้รับสิ่งดี ๆ คืนกลับมาเสมอ และได้มากเป็นสิบ ๆ เท่า
เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกข้างในที่ผมสัมผัสได้ทันทีเลยว่า “หัวใจพองโตเหมือนกับมีความสุขอัดแน่นอยู่เต็มไปหมด” จนทําให้ผมยิ้มได้ทั้งวันจากคนใกล้ตัวผมก็เริ่มขยายวง ออกไปให้คนรอบข้างบ้างจะศาสนา สังคม สัตว์ สิ่งแวดล้อม ถ้าอะไรที่ผมพอจะช่วย ได้ผมก็พร้อมจะช่วยทั้งหมด
ที่ประทับใจและจําได้ไม่ลืมก็คือครั้งหนึ่งมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนําว่า “ถ้าชอบทําบุญขอให้ทําบุญกับคนแก่เพื่อช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ผมไม่รอช้า รีบไปหาซื้อรถเข็นวีลแชร์ ไปบริจาคให้คนแก่และคนพิการและไม่ลืม ที่จะหาซื้อไม้เท้าสเตนเลสมาใส่ติดรถที่บ้านไว้ทุกคัน เพราะคิดว่านอกจากผมจะเอาไปบริจาคตามโรงพยาบาลแล้ว ถ้าผมขับรถผ่านแล้วเจอคนแก่เดินอยู่ผมก็จะเอาไม้เท้าไปให้
แล้ววันหนึ่งสิ่งที่คิดไว้ก็เป็นจริง…
ระหว่างทางที่ผมกําลังขับรถไปธุระ ผมเห็นคุณลุงคนหนึ่งกําลังเดินกระย่องกระแย่งอยู่ข้างถนนเหมือนขาแกจะไม่ค่อยดี พอจอดรถได้ผมก็รีบเอาไม้เท้าไปให้คุณลุงทันที ถึงคุณลุงจะงง ๆ ว่า ทําไมอยู่ดี ๆ ก็มีใครไม่รู้เอาไม้เท้ามาส่งให้ แต่แววตาของคุณลุงก็เต็มไปด้วยความสุขที่แทบบรรยายออกมาเป็นคําพูดไม่ได้ คุณลุงรับไม้เท้าไปใช้ทันทีด้วยความดีใจ ผมเห็น แล้วรู้สึก อิ่มใจจนบอกไม่ถูก อย่างน้อยจากนี้ไปคุณลุงก็จะเดินได้สะดวกมากขึ้น ง่าย ๆ แค่นี้ ความสุขก็เกิดขึ้นแล้วทั้งผู้ให้และผู้รับ
จากเรื่องคนก็มาเรื่องสัตว์บ้างเรื่องนี้ ต้องยกให้แฟนของผมเลย เพราะรายนี้ชอบช่วยเหลือสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ โดยมีผมเป็นฝ่ายสนับสนุน…เข้าทํานองเอาไงเอากัน! แฟนผมมักจะเอาอาหารเม็ดสําหรับน้องหมาใส่ไว้ในรถเป็นถังใหญ่ ๆ ถ้าขับรถอยู่แล้วเจอน้องหมาผอม ๆ อยู่ข้างทาง เขาจะจอดรถทันที เพื่อเอาอาหารลงไปให้กินกันจนพุงกาง หรือบางทีถ้ามีอาหารสดมาด้วย เราก็จะหาซื้อข้าวเปล่าเพิ่ม แล้วจัดแจงคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วเลี้ยงน้องหมาตรงนั้นเลย
อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น คิดดีแล้วการกระทําก็จะดีตามมาเอง ที่สําคัญอย่าไปยึดการทําสิ่งใหญ่ ๆ เพราะไม่อย่างนั้นก็ต้อง รอเวลารอนั่นรอนี่อยู่เรื่อยไป จนบางครั้ง กว่าจะพร้อมเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างอาจเปลี่ยนไปก็ได้…สุดท้ายก็เลยไม่มีโอกาสได้ทําความดีสักที
คิดดี ทําดี แล้วเริ่มจากการทําเรื่อง ง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวดีที่สุดครับ
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
เรื่อง : วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
www.instagram.com/ananda_everingham
www.instagram.com/kongsaharat_fanclub
บทความน่าสนใจ
เจ เจตริน ช่วยเหลือนักร้องชายตาบอด แฟนเพลงเจตัวจริง
เมตตากรุณา - ยิ่งแบ่งยิ่งได้ เคล็ดลับความสุขความสำเร็จของสหรัถ สังคปรีชา
ความสุขคือการมุ่งไปข้างหน้า ของ อนันดา เอเวอรี่งแฮม