ท่านได้อะไร เมื่อไป งานศพ โดย พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
งานศพ ให้อะไรมากกว่าที่คิด หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้กล่าวถึงสิ่งที่เราจะได้จากการไปงานศพ ดังความตอนหนึ่งว่า
“…ที่เรามาในงานศพนี้ คนโบราณเขาบอกว่ามีอานิสงส์มาก อานิสงส์ นั้นหมายถึงอะไร ก็หมายถึง “ผล” ผลในที่นี้หมายถึงคุณค่าทางจิตใจ มากกว่าทางวัตถุ เพราะว่าทางวัตถุนั้นเราจะหาจากที่ใดก็ได้ แต่คุณค่าทางใจนั้นมักจะได้จากที่อย่างนี้
“เรามาในงานศพ ถ้ามาเฉย ๆ กลับไปก็ไม่ได้อะไร เราควรมาคิดนึก นั่งเงียบ ๆ แล้วก็ดูศพ เอาศพมาเป็นเครื่องเตือนตัวเอง แล้วถามตัวเองว่าเวลานี้ อายุเท่าไหร่ เราอยู่ในฐานะอะไร มีโรคภัยประจำตัวบ้างไหม เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับเรานั้น เวลานี้เป็นคนอย่างไร บางคนก็ไปแล้ว ไปหลายวัน หลายเดือน หลายปีแล้วก็มี เรานี่ยังอยู่ ก็นับว่าเป็นบุญนักหนาที่ยังมีชีวิตอยู่ อยู่เพื่ออะไร…? อยู่เพื่อความดีต่อไปไม่ใช่อยู่เพื่อกินเพื่อเล่น เพื่อความสนุกสนาน เพราะเพียงกินเล่นสนุกสนาน ไม่ต้องเป็นมนุษย์ก็ทำได้ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายมันก็กินได้ สนุกได้ มัวเมาในเรื่องอะไร ๆ ก็ได้ เราเป็นผู้เป็นคน มันต้องวิเศษกว่าสัตว์เหล่านั้น เราต้องนึกว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำชีวิตของเราให้ดีขึ้นภายหลังที่ได้มางานศพนี้แล้ว เราเอาศพเป็นเครื่องเตือนใจกลับไปบ้านอย่างนี้ได้ประโยชน์ประการหนึ่ง
“อีกประการหนึ่งในการมางานศพนั้น เราอย่าเพียงเผาศพในโลง ซึ่งเขาเรียกว่า “เผาผี” ผีในที่นี้ก็หมายถึงซากที่ยังเหลืออยู่ เผาคนที่ตายแล้ว เรียกว่าเผาผี เราไปเผาผีข้างนอก เราเผาผีในโลง เผาด้วยไฟ
“ทีนี้เรามาพิจารณาเผาผีในตัวเราบ้าง ในตัวเรามีผีอะไรอยู่บ้าง เมื่อพูดอย่างนี้ญาติโยมจะว่า “แหม! ว่าเรามีผี” ผีมีด้วยกันทั้งนั้น มีอยู่ในใจ ผีคือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในใจ ถ้าเกิดบ่อย ๆ ทำให้เรายุ่งยากลำบากเดือดร้อน เรียกว่าเป็นผี ผีอยู่ในตัวเราทุกคน มีมากบ้างน้อยบ้าง สุดแต่เหตุการณ์ในชีวิตแต่ละบุคคลนั้น ๆ หรือสุดแต่ปัญญา ถ้าปัญญามีมาก ผีน้อย ปัญญาน้อย ผีมาก ถ้ารู้เท่าทัน ผีไม่ค่อยเกิด ถ้าไม่รู้เท่ารู้ทัน ผีชอบเกิดบ่อย ๆ
“เวลาผีเกิด มันก็มักจะยุ่งในครอบครัว เช่น พ่อบ้านเกิดผีขึ้น ทะเลาะกับแม่บ้าน แม่บ้านเกิดผีขึ้นบ้าง ก็เลยเถียงกัน ไม่ดูหน้ากันสามวัน กินข้าวโต๊ะเดียวกันก็ไม่พูดจากันอย่างนั้น เรียกว่าผีเข้าสิง มันมา “ยุให้รำ ตำให้รั่ว” ให้เกิดความเสียหายล้วนแต่เป็นของไม่ดี เรียกว่า ผีประจำใจ
“เรามาเผาผีแล้วอย่าเผาแต่ผีนอก ผีที่อยู่ข้างในเผาเสียบ้าง ก่อนที่จะเผาผีข้างใน ก่อนขึ้นบนเมรุก็นั่งดูว่า “เออ…กูนี่ไม่เท่าไรก็จะตายแล้ว” เวลานี้มีอะไรบกพร่อง มีอะไรไม่ดีไม่งามเป็นสิ่งที่ควร “ละ” เสียโดยเร็วรู้ได้ด้วยกันทั้งนั้น กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้องของใคร ๆ ก็รู้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ว่ารู้แล้วทำเป็นไม่รู้เสียไม่รับเสียเท่านั้นเอง
“ถ้ารู้ว่าอะไรไม่ดีไม่งามอย่างนั้นอย่างนี้ในตัวเรา ควรจะทิ้งมันเสียที ให้สมกับอายุอานามสังขารร่างกาย เราก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะเลิกจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ เลิกเที่ยวเตร่ เลิกกินเหล้า เลิกประพฤติเหลวไหลไม่ดีไม่งาม เลิกเกลียดเลิกโกรธใคร ๆ ทำจิตใจให้อยู่ในสภาพสงบ ให้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลชั้นผู้น้อยในตระกูลในวงงานวงการ
“ถ้าเราตั้งใจอย่างนี้เรียกว่าเผาผี เผาผีคือเผาความชั่วให้ออกไปจากใจ ได้ความรู้สึกตัวเหมือนกับว่าเกิดใหม่กลับบ้านไปเป็นคนละคนกัน ก่อนนี้เราเป็นอย่างหนึ่ง เวลาเผาศพแล้วกลับไปเป็นอีกคนหนึ่ง มาเผา “ผีนอก” คราวหนึ่ง ก็เผา “ผีใน” เสียอย่างหนึ่ง เผาบ่อย ๆ ผีไม่มี มีแต่พระอยู่ในใจของเรา เราก็มีความสุขสบายตามสมควรแก่ฐานะ
“อันนี้เป็นข้อคิดอยากฝากไว้ ให้ท่านทั้งหลายที่มาเผาศพนี้ได้นำไปคิดไปตรอง หรือถ้าเรามากันสองคนสามีภรรยา นั่งรถกลับบ้านด้วยกัน ก็คุยกันไป เออ…นี่พี่ทิ้งผีอะไรบ้าง น้องทิ้งผีอะไรบ้าง สมมติว่าแม่บ้านชอบเล่นไพ่ ผีไพ่เข้าสิง อยู่ในบ้านไม่ได้ ว่าง ไปนั่งล้อมวง เราก็พูดกันว่า “เออ…เมื่อไรน้องจะทิ้งผีตัวนั้น ผีไพ่น่ะ” ภรรยาก็บอกว่า “แล้วพี่เมื่อไรจะทิ้งเจ้าผีตัวนั้นเสียที” เราก็นั่งคุยกันไปในรถ คุยกันไปเพื่อให้รู้ว่าใครมีผีอะไรในตัว แล้วก็ได้ชวนกันเลิกละผีตัวนั้น ถ้าหากว่ามันจะกลับมาอีกก็คอยบอกว่า ระวัง ๆ…อย่าให้ผีมันกลับมา
“...ผีในใจคนน่ากลัว ผีในป่าช้าในโลงไม่น่ากลัวอะไร ไม่เคยทำให้ใครเสียหาย แต่ผีแบบนี้ร้าย เราต้องช่วยกันแก้ไข
“เพื่อนฝูงมิตรสหายของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่าเพื่อนของเรามีผีอะไร คอยบอกคอยเตือนให้เขารู้ตัวว่ามีผีแล้ว เสกน้ำมนต์คือธรรมะนี่แหละช่วยเตือนช่วยบอกกันให้รู้ว่าผีอย่างนั้นมันมีอยู่ เราอย่าไปตามผีกับเขาก็แล้วกัน ช่วยกันแก้ไข เรื่องทั้งหลายก็จะเรียบร้อยดีงาม”
ที่มา ปาฐกถาธรรม โดย พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ณ ฌาปนสถานวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
บทความน่าสนใจ
ทำอย่างไรเราจะคิดถึงความตายได้โดยที่ไม่กลัวตาย โดย พระไพศาล วิสาโล
ทุกคนมีนัดกับความตาย พร้อมหรือยังที่จะไปตามนัด โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ