วัดอรุณราชวราราม

เกร็ดประวัติที่บางคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับ วัดอรุณราชวราราม

เกร็ดประวัติที่หลายคนอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ
วัดอรุณราชวราราม

ภาพของพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ที่ตั้งงามสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คงเป็นภาพที่คนไทย(เกือบทุกคน) คุ้นตา แต่หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า ภายใต้ความงดงามนั้นมีเกร็ดความรู้ซ่อนอยู่ไม่น้อยเลย วันนี้ Secret จึงขอนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัดอรุณฯ ให้ลองอ่านกันค่ะ

ชื่อนี้มีที่มา : จากวัดมะกอก ถึงวัดแจ้ง แปรเปลี่ยนเป็นวัดอรุณฯ

วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก (เรียกตามชื่อตำบลที่ตั้ง) เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีใหม่มายังกรุงธนบุรี พระองค์จึงเสด็จทางชลมารค ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยมาจนถึงหน้าวัดมะกอกเมื่อรุ่งแจ้งพอดี ครานั้นจึงมีพระราชดำริว่า นับเป็นมงคลมหาฤกษ์นัก ครั้นแล้วจึงเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งไปถวายสักการะพระเจดีย์ (พระปรางค์องค์เก่า)

ครั้นต่อมาโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดแจ้งเพื่อระลึกถึงมงคลมหาฤกษ์ครั้งนั้น พร้อมกับสร้างพระราชวังขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง หากต่อมามีการขยายพื้นที่พระราชวังออกไปอีกจนถึงบริเวณวัด เป็นผลให้วัดแจ้งยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในพระราชวังในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาวัดแจ้งจึงไม่ได้เป็นพระอารามหลวงในเขตพระราชวังอีกต่อไป

วัดแจ้งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตามลำดับ จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับพระราชทานนามใหม่ตามนัยความหมายเดิมว่า “วัดอรุณราชวราราม” จากนั้นจึงได้รับการยกฐานะเป็น “พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร” และได้กลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ในเวลาต่อมา

 

ศิลปะโบราณและคติความเชื่อบนพระปรางค์วัดอรุณ

 

_MG_0124
พระปรางค์วัดอรุณฯ

พระปรางค์วัดอรุณได้ชื่อว่าเป็น “พระมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่และสง่างามที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” และอยู่คู่กับวัดมาแต่ครั้งกรุงเก่า กระทั่งแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริโปรดฯ ให้สร้างพระปรางค์ขึ้นใหม่เพื่อให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นพระมหาธาตุแห่งพระนคร การก่อสร้างจึงเริ่มมาแต่บัดนั้น ทว่าเพียงแค่เริ่มต้นขุดขยายฐานรากพระปรางค์ออก รัชกาลที่ 2 ก็สวรรคตเสียก่อน ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 จึงสืบสานพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างต่อจนพระปรางค์เสร็จสมบูรณ์

ความวิจิตรพิสดารของพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่ได้อยู่เพียงแค่ขนาดและสัดส่วนเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงงานประดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประดับรูป “พลแบก” ได้แก่ ยักษ์แบกตามด้วย กระบี่แบก โดยรอบฐานพระปรางค์และเทวดาแบกโดยรอบส่วนรองรับ เรือนธาตุ (ส่วนที่เป็นตัวเรือนประธานของพระปรางค์)

ใน ซุ้มจระนำ หรือซุ้มคูหา (ส่วนที่ทำขึ้นประกอบเข้ากับองค์พระปรางค์ เป็นช่องตัน มักเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) ทั้งสี่ของเรือนธาตุ ประดิษฐานพระอินทร์ทรงช้างสามเศียร (ช้างเอราวัณ) แทนการประดิษฐานพระพุทธรูปตามธรรมเนียมนิยม รวมทั้งประดับกระเบื้องสี ถ้วยชามกระเบื้องจากเมืองจีน เป็นลวดลายพรรณพฤกษาและหมู่กินรี งานประดับทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวโยงกับคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลทั้งสิ้น

ไม่เพียงเท่านั้น คติความเชื่อนี้ยังได้รับการตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการจัดวางตำแหน่งพระปรางค์ขนาดย่อม 4 องค์ ให้ทำหน้าที่เป็นเจดีย์บริวารประจำมุมของปรางค์ประธานเช่นเดียวกับการมีมณฑปประจำด้านทั้งสี่ด้าน (ภายในมณฑปแต่ละหลังมีรูปปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานเรียงต่อกันไป)

ทั้งนี้พระปรางค์ประจำมุมและมณฑปประจำด้านต่างมีความหมายเทียบเท่ากับ “ทวีปต่างๆ ที่อยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุ” นั่นเอง

พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระพุทธรูปจากฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2

_MG_8771

ภายในพระอุโบสถของวัดอรุณราชวราราม เป็นที่ประดิษฐานของมีพระพุทธรูปประธานชื่อว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ หรือ 1.75 เมตร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชีกล่าวกันว่า รัชกาลที่ 2 ทรงปั้นวงพระพักตร์พระพุทธรูปองค์นี้ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ใต้พระพุทธอาสน์พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลกนี้ยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ 2 อีกด้วย

 

ยักษ์วัดแจ้งในตำนาน

_MG_8832
ยักษ์วัดแจ้ง

ซุ้มประตูทางเข้าสู่พระอุโบสถด้านตะวันออกมีทวารบาลยืนจังก้าพร้อมกระบองคู่ใจ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายกล้ำกรายเข้าไปในเขตพระอุโบสถ

ยักษ์หนึ่งนั้นอยู่ทางขวากายเขียว ชื่อว่า “ทศกัณฐ์” ราชาแห่งยักษ์ เจ้าครองกรุงลงกา อีกยักษ์หนึ่งนั้นอยู่ทางซ้าย กายสีขาว ชื่อว่า “สหัสเดชะ” เจ้าครองเมืองปางตาล มีฤทธิ์มากเช่นเดียวกับทศกัณฐ์

ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว ของเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทำหน้าที่เป็น ‘นายทวารบาล’ ตามคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตู เพื่อให้เทพได้ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา

ตามตำนานเรื่องเล่าว่ายักษ์วัดโพธิ์มาตีต่อสู้กับยักษ์วัดแจ้ง โดยมียักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เป็นพื้นที่โล่งเตียน เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน

หลังจากชื่นชมความงามและเรียนรู้เกร็ดประวัติเกี่ยวกับวัดที่อยู่คู่ริมน้ำเจ้าพระยามานับร้อยปีกันไปแล้ว ตกเย็นอย่าลืมข้ามฝั่งไปท่าเตียนเพื่อยลโฉมพระปรางค์วัดอรุณฯ ยามพระอาทิตย์ตกดินกันนะคะ รับรองว่าสวยจนลืมหายใจแน่นอน

 

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ / ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

ที่มา: นิตยสาร Secret

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.