พุทโธ

พุทโธ หนทางของ “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” หนึ่งในการทำสมาธิแต่สมัยโบราณ

พุทโธ หนทางของ “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

การทำสมาธิสายพุทโธเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ “ พุทโธ ” เป็นคำบริกรรมภาวนาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัย เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) พระภิกษุฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งได้ถ่ายทอดให้แก่ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล บูรพาจารย์ใหญ่ สายป่าด้านวิปัสสนากรรมฐาน และต่อมาท่านถ่ายทอดให้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งนำมาสอนแก่พระภิกษุที่เป็นศิษยานุศิษย์ให้ได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก

พระครูปลัดมงคลวัฒน์ (สุพล ขนฺติพโล) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลและกรรมการ มูลนิธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ กล่าวถึงวิธีปฏิบัติธรรมสายพุทโธตามหลักสูตรครูสมาธิซึ่งเป็นคำสอนของ หลวงพ่อวิริยังค์สิรินธโร ลูกศิษย์ผู้สืบสายธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่า

“การปฏิบัติแต่ละครั้งมีทั้งนั่งสมาธิ 30นาทีและเดินจงกรม 30นาที (สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกให้ทำสมาธิวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาทีรวมเป็นวันละ 15 นาที) โดยระหว่างปฏิบัติให้บริกรรมคำว่า ‘พุทโธ’ ต่อเนื่องกันไปแบบไม่ต้องตามลมหายใจ ทั้งนี้เพื่อเคลียร์อารมณ์ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือที่เรียกว่า ‘เอกัคคตารมณ์’ และเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพลังจิต

 “พลังจิต คือกำลังใจ การสะสมพลังจิตเปรียบได้กับการเรียนหนังสือ คือเมื่อเราทำต่อเนื่อง ความรู้ก็จะเพิ่มขึ้น พลังจิตก็เช่นกัน เมื่อทำไปเรื่อย ๆ พลังส่วนดีก็จะเพิ่มขึ้นมาแทนที่พลังส่วนไม่ดี ทำให้จิตที่ได้รับพลังแข็งแกร่ง ซาบซึ้ง และอบอุ่นยิ่งขึ้นทำให้เราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างคนที่เกิดความกลัวนั้นก็เนื่องมาจากพลังจิต ส่วนดีหมดลง ความโกรธก็เช่นกัน หากมีพลังจิตน้อยก็จะทำให้ขาดสติยั้งคิด ดังนั้นประโยชน์ของการมีพลังจิตคือทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความมั่นใจ มีสติ ความกลัวหายไปความโกรธลดลง และรู้จักให้อภัย

“พลังจิตไม่ใช่เรื่องอภินิหาร แต่เป็นเรื่องของเหตุและผลที่เราต้องทำด้วยตัวเอง ไม่สามารถให้คนอื่นทำแทนได้ การมีพลังจิตยังทำให้เกิดคุณธรรม 3 อย่าง คือ 1. เป็นคนมีเหตุผล 2. มีความรับผิดชอบสูง มีเมตตา 3. รู้จักให้อภัย”

นอกจากนี้พระครูปลัดมงคลวัฒน์ ยังกล่าวเสริมว่า

 “สมาธิโดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ 1. สมาธิธรรมชาติ ซึ่งได้จากการนอนหลับ พักผ่อนตามธรรมชาติในแต่ละวัน 2. สมาธิที่สร้างขึ้น ได้แก่ การฝึกสมาธิ เริ่มต้นตั้งแต่การนึกคำบริกรรมอันมีจุดประสงค์เพื่อสะสมพลังจิต โดยพลังจิตแบ่งออกเป็นพลังหลัก 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในจิต และพลังเฉลี่ย 40 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นพลังที่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการคิด การพูด และการทำงาน พลังเฉลี่ยสามารถหมดลงได้ แต่สามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการทำสมาธิ

“เมื่อคนเรามีสมาธิจะทำให้มีสติ เมื่อมีสติจะทำให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาทำงานได้อย่างรอบคอบ ในทางตรงกันข้ามหากคนเราขาดสมาธิ ก็ทำให้สติอ่อน ปัญญาในการแก้ไขปัญหาก็อ่อนตามไปด้วย สมาธิจึงมีความสำคัญดังที่กล่าวมา”

ส่วนอานิสงส์ของการปฏิบัติสมาธิตามที่หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร กล่าวไว้ในหลักสูตรครูสมาธิมีทั้งหมด 12 ข้อ คือ 1. ทำให้หลับสบาย คลายกังวล 2. กำจัดโรคภัยไข้เจ็บ 3.ทำให้สมองปัญญาดี 4. ทำให้มีความรอบคอบ 5. ทำให้ระงับความร้ายกาจ 6. บรรเทาความเครียด 7. มีความสุขพิเศษ 8. ทำให้จิตใจอ่อนโยน 9. กลับใจได้ 10. เวลาสิ้นลมพบทางดี 11. เจริญวาสนาบารมี และ 12. มีจิตเป็นกุศล

สถานที่ปฏิบัติสำหรับผู้ที่สนใจ

1. วัดธรรมมงคล 132 สุขุมวิท 101 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครโทร. 0-2741-7822, 0-2332-4145 www.dhammamongkol.com

2. สถาบันพลังจิตตานุภาพ โทร. 0-2311-1387, 0-2311-3903 แฟกซ์ 0-2741-3551 www.samathi.com


ที่มา: นิตยสาร Secret

บทความน่าสนใจ

สติปัฏฐาน 4 “กำหนดรู้ด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ” ณ วัดมหาธาตุฯ

สงบใจด้วย 15 สถานปฏิบัติธรรมแนะนำ จาก Secret

วัดป่าเจริญราช สัปปายะสถานใกล้กรุง

สำนักปฏิบัติธรรมเสวตสมบูรณ์ ปล่อยวางทุกข์ไว้ที่ปลายนา

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.