รำลึก หลวงพ่อคูณ อริยสงฆ์แห่งแผ่นดินไทย
ซีเคร็ตขอรวบรวมเรื่องของ หลวงพ่อคูณ เพื่อร่วมรำลึก และไว้อาลัยแด่พระสงฆ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์แห่งที่ราบสูง สมญานามเทพด่านขุนทด
ครอบครัวและการศึกษา
หลวงพ่อคูณเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2466 ที่บ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา บิดาชื่อบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อทองขาว ฉัตรพลกรัง มีน้องสาวบิดามารดาเดียวกัน 2 คน คือ นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
มารดาเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ฝันเห็นเทพองค์หนึ่งมาให้พร นอกจากนั้นยังมอบดวงแก้วใสสะอาดสุกสว่างพร้อมกับบอกว่า “ดวงมณีนี้เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดี ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง” มารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตในขณะที่ลูกทั้งสามคนยังเป็นเด็ก บิดาของท่านจึงให้ไปอยู่ในความอุปการะของน้าสาว เมื่ออายุ 6 – 7 ขวบ หลวงพ่อคูณได้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และ พระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทยและภาษาขอมที่วัดบ้านไร่
จากคำบอกเล่าของนางคำมั่น ก่อนที่หลวงพ่อคูณจะบวช ท่านเคยหัดเพลงโคราชและเคยได้รางวัลชนะเลิศในการแข่งขันร้องเพลงโคราชมาแล้ว
อุปสมบท
หลวงพ่อคูณอุปสมบทที่วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทดจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 โดย พระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังอุปสมบท หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทฺโธ (แปลว่าผู้บริสุทธิ์) และฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระนักปฏิบัติด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยามีผู้เคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก
หลังจากร่ำเรียนไประยะหนึ่ง หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรมะและทางไสยเวทย์ โดยให้การศึกษาพระธรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติกัมมัฏฐาน (ข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า เมื่อบวชแล้วหลวงพ่อคูณเล่าเรียนกับหลวงตาคงซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้วมาเล่าเรียนกับหลวงพ่อแดงในภายหลัง)
รู้หรือไม่
เมื่อมีผู้ถวายปัจจัย (ธนบัตร) หลายใบหลวงพ่อคูณจะรับไว้เพียงใบเดียว และเป็นใบที่มีมูลค่าน้อยที่สุด แต่ถ้าถวายใบเดียว หลวงพ่อจะจับปัจจัยแล้วคืนให้ หลวงพ่อให้เหตุผลว่า“กูให้พวกมึงรู้จักพอ อย่าโลภมาก รู้จักเอาชนะใจตนเอง”
วัตถุมงคล
แม้เครื่องรางของขลังของหลวงพ่อคูณ จะมีชื่อเสียงด้านพุทธคุณสูงยิ่ง แต่หากเป็นลูกศิษย์ที่แท้จริงจะรู้ว่าท่านให้ผู้ที่มีพระเครื่องของท่านติดตัวภาวนา “พุทโธ” ทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่พูดจาหยาบคายด่าว่าพ่อแม่ของตนเองและพ่อแม่บุคคลอื่น ไม่ผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น และไม่ว่าจะอยู่ที่ใดให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน และที่สำคัญที่สุดหลวงพ่อย้ำว่า
“ถ้ามีใจอยู่กับพุทโธ ให้เป็นกลาง ๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่าใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใด ๆ ในโลก”
บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
หลวงพ่อคูณ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีประชาชนเคารพเลื่อมใส จึงมีผู้มาถวายปัจจัยรวมถึงเช่าเครื่องรางของขลังจากวัดบ้านไร่เป็นจำนวนมากเงินที่ได้มานอกจากนำไปสร้างโรงเรียนชั้นประถม มัธยมและวิทยาลัย โรงพยาบาลแล้วยังจัดตั้ง กองทุนและมูลนิธิเพื่อการศึกษาพระ ภิกษุสามเณร นักเรียนนักศึกษา เพื่อนำดอกผลมาใช้ดำเนินโครงการ โดยท่านกล่าวว่า
“กูเป็นคนยากจนโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินไปช่วยคนอื่นก็จะมีคนบริจาคเรื่อย ๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงินก็ไม่ค่อยสบายใจ”
สมณศักดิ์
ปี พ.ศ. 2535 หลวงพ่อคูณได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ที่พระญาณวิทยาคม
ปี พ.ศ. 2539 ที่พระราชวิทยาคม
ปี พ.ศ. 2547 ที่พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“กูยึดติดแต่เรื่องประพฤติปฏิบัติ เรื่องตำแหน่งยศ อย่าไปถือให้มากนัก ต้องถือว่าเป็นความฝัน อย่าไปติดยึด จงละวางกันเสียบ้าง พอดับจิตไป มันก็อยู่ในตู้ตามเคย”
พินัยกรรมหลวงพ่อคูณ
แม้ร่างที่ละสังขารไปแล้วก็ยังเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ โดยท่านทำพินัยกรรมบริจาคศพให้คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใน 24 ชั่วโมง และให้สวดพระอภิธรรมศพที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้ทำพิธีเช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น และนำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมดไปลอย ที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย
แม้วันนี้หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ละสังขารไปแล้วแต่คำสอนอันเรียบง่าย วัตรปฏิบัติที่ดีงาม เมตตาที่สูงส่งของท่านยังคงอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนคนไทยตลอดไป
บทความน่าสนใจ
33 ปีแห่งการละสังขาร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอริยสงฆ์แห่งสยามประเทศ