ธงธง ม๊กจ๊ก “ไม่เห็นทุกข์…ไม่เห็นธรรม” – เมื่อพูดถึงกฎแห่งกรรม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดแต่เรื่องลบๆ เช่น ถ้าทำชั่วก็จะต้องชดใช้กรรมที่ทำไว้ คำว่า “กรรม” จึงกลายเป็นคำเชิงลบมาโดยตลอด
ทั้งที่จริงแล้ว “กรรม” คือการกระทำ เป็นคำกลางๆ มีทั้งดีและไม่ดี ส่งผลเป็นวิบาก ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังรับอยู่คือวิบาก ไม่ใช่กรรมและหากจะพูดถึงผลของการทำกรรมดีหรือทำบุญกุศล เราอาจจะเคยได้ยินมาว่าทำบุญกับพระอรหันต์แล้วจะได้บุญมาก แต่หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะไปหาพระอรหันต์ให้ทำบุญได้จากไหน เรื่องนี้ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้ามีคนเคยทูลถามไว้แล้วเช่นกันว่า ต่อไปในกาลข้างหน้าเมื่อไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ แล้วจะให้พวกเขาไปทำบุญกับใคร
พระพุทธเจ้าตรัสว่าก็ทำบุญกับพ่อแม่ของตัวเองนั่นแหละ…ได้อานิสงส์เท่ากัน
ธงธง มกจ๊ก เล่าเรื่องราวข้างต้นให้ฟัง พร้อมกับบอกว่าเมื่อก่อนไม่ทราบเลยว่าการกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่จะให้ผลบุญมากถึงเพียงนี้ เพราะเมื่อก่อนก็ปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธโดยทั่วไป เข้าวัด ฟังธรรมบ้าง แต่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ส่วนการดูแลพ่อแม่นั้นเขาทำมาตั้งแต่เด็ก จนคนข้างบ้านพูดว่า “ถ้ามีลูกแบบธงก็คงดี” เพราะเขาเป็นเด็กเรียบร้อย อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำงานบ้านทุกอย่างจนสะอาดเอี่ยม หลังจากเข้าวงการมีเงินมีทองครั้งแรกก็ซื้อบ้านให้พี่สาวและดูแลแม่เป็นอย่างดี ทุกวันนี้เขาจึงพูดได้ว่า มาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะความกตัญญู
ที่สำคัญ ธรรมะยังช่วยให้ธงธงเข้าใจเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้น รู้จักบุญ - บาป และรู้ว่าวิบากกรรมของคนเราแต่ละคนนั้นต่างกัน ดังเช่นพี่สาวของเขาที่ต้องประสบกับโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายและลามไปที่สมอง เขาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า…
วันนั้นพี่สาวโทรศัพท์มาจากโรงพยาบาลบอกกับเราว่า “พี่เจ็บปวดทรมานเหลือเกิน…ขอกินยาตายได้ไหม”
ตอนนั้นกำลังขับรถอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยพี่สาวได้อย่างไร แต่ด้วยความที่ไปปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้วที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติวัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามคำแนะนำของ คุณกิ๊ก - มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ จึงถามพี่สาวว่า “ปวดกับไม่ปวดอะไรมากกว่ากัน”
พี่สาวตอบว่า “ไม่ปวด” เราเลยบอกเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ตามดูตามรู้ เข้าไปสังเกตความปวดนั้นนะพี่” เรารู้มาว่าความทุกข์ของคนเรานั้นมาจากการปรุงแต่ง เลยอยากให้พี่สาวรู้จักการเจริญสติในขณะที่ปวด เพราะจิตที่ปรุงแต่งไปเรื่อยจะเป็นทุกข์ ห่อเหี่ยวสิ้นหวัง แต่การฝึกเจริญสติคือรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง นั่นก็คือการรู้ทันว่าอะไรเกิดขึ้นกับกาย รู้ทันว่าอะไรเกิดขึ้นที่ใจ เป็นการเข้าไปรู้สึกถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมานั่นเอง แม้ความปวดจะไม่หาย แต่จิตเขาจะทันกับความทุกข์ที่เกิดได้มากขึ้น จิตใจก็จะสงบลงได้ในที่สุด
ไม่เฉพาะพี่สาวเท่านั้นที่ใช้ธรรมะในการดับทุกข์ เพราะตัวเราเอง ซึ่งเป็นน้องชายที่รักพี่สาวคนนี้มากที่สุดก็พบกับความทุกข์ด้วยเช่นกันทุกข์ที่ไม่สามารถช่วยอะไรคนที่เรารักได้ดีไปกว่านี้ บวกกับต้องมาเจอกับช่วงที่งานในวงการบันเทิงเริ่มหดหาย ทำให้เงินที่จะใช้จ่ายในการรักษาตัวพี่สาวเริ่มฝืดเคือง แต่โชคดีที่ได้รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้
จำได้ว่าพี่สาวป่วยราวปี พ.ศ. 2547 เราเทียวเข้าเทียวออกโรงพยาบาลเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง จนล่วงเข้าปี พ.ศ. 2549 พี่สาวจึงได้จากไปอีกหกเดือนให้หลังพี่เขยก็ตรอมใจตาย เขานอนหลับแล้วไม่ฟื้น เหลือแต่เพียงหลานสาวคนเดียวไว้ให้เราดูแล
ความป่วยไข้ของพี่สาวทำให้เราได้เห็นความทุกข์อย่างถึงที่สุด และรู้ว่าทุกข์อยู่กับเราได้ก็จากเราไปได้เช่นกัน ตอนเด็กๆ เราอาจจะทุกข์เพราะยากจน ไม่มีจะกิน แต่เมื่อโตขึ้นมีเงินมีทอง มีหนี้สินเราก็ทุกข์ไปอีกแบบ ทุกข์อยู่กับเราตลอด อยู่ที่การวางใจของเรา หากวางใจได้ถูก เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน
https://www.instagram.com/p/BKfUuPjgCs6/?utm_source=ig_web_copy_link
ในช่วงที่พี่สาวยังไม่เสียชีวิต ธงธงยอมรับว่า ตอนนั้นทุกข์ใจมากและร้องไห้เป็นประจำ เขาคิดว่าถ้าพี่สาวเสียชีวิต เขาสามารถฆ่าตัวตายตามได้เลย เพราะรักพี่สาวคนนี้มากถึงขนาดซื้อรถซื้อบ้านให้ก่อนที่จะซื้อให้ตัวเองด้วยซ้ำ เขานำความทุกข์ใจไปปรึกษา กิ๊ก มยุริญ เธอจึงชักชวนให้เขาไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน แต่ช่วงแรกที่ไปธงธงรู้สึกว่าจิตใจกลับไม่ได้จดจ่ออยู่กับธรรมะ ไพล่ไปนึกถึงพี่สาวอยู่ตลอดเวลา การเดินจงกรมกำหนดสติจึงไม่ได้ช่วยให้จิตใจสงบ เขาจึงคิดจะกราบลาพระอาจารย์กลับไปใช้ชีวิตปกติ
ในขณะที่ธงธงก้มลงกราบพระเพื่อลากลับ เขาเจริญสติอีกครั้งโดยท่องในใจว่า “พนมหนอ ก้มหนอ กราบหนอ” วินาทีที่หน้าผากจรดลงบนพื้น เขารู้สึกถึงสติที่จดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้าโดยลืมเรื่องของพี่สาวไปชั่วขณะหนึ่ง จุดนี้เองที่ทำให้เขาเข้าใจคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” และตัดสินใจอยู่ปฏิบัติธรรมต่อไปจนเข้าใจถ่องแท้
หลังจากพี่สาวเสียชีวิต จิตใจที่ผ่านการเรียนรู้การเจริญสติมาแล้วทำให้เขาสงบและมีสติอยู่กับการจัดการธุระต่าง ๆ ได้โดยไม่ฟูมฟาย และในวันสุดท้ายของงานศพพี่สาว ธงธงบอกตัวเองว่าวันนี้จะไม่ควบคุมสติและขอร้องไห้ให้พี่สาวเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็ปลดปล่อยความเศร้าโศกออกมาเต็มที่ ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะการมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมทำให้เขาเข้าใจดีว่า “ไม่ว่าจะมีสติหรือไม่มีสติ คนที่เรารักก็ต้องตาย และคนเราทุกคนเกิดมาก็ต้องจากกันไปอยู่ดี”
หลังจากผ่านพ้นการสูญเสียพี่สาวสุดที่รัก ธงธงเลิกรากับคนรักที่คบหากันมานับ 10 ปี เขาสติแตก เศร้าโศกเสียใจ ปล่อยชีวิตเละเทะ จนกระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขาก็ฉุกคิดได้ว่า ตนเองทำดีที่สุดแล้ว และก็คงไม่ขอกลับไปแก้ไขอะไรอีก จากนั้นเขาก็เลิกฟูมฟายและหันกลับมาดูแลตัวเอง
ทุกวันนี้ ธงธงเชื่อมั่นในการทำความดีและปฏิบัติตนเป็นคนดี ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ก็ตาม ขอเพียงแค่รู้อยู่แก่ใจตัวเองก็พอ เขาตื่นขึ้นมาตักบาตรตอนเช้า ปฏิบัติธรรม และสวดมนต์ อยู่เป็นประจำ เพราะเชื่อว่าธรรมะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขามีสติมากขึ้น
เขายังบอกอีกว่า เวลาทำอะไรต้องมีสติ รู้ตัวว่าอยู่ตรงไหน กำลังทำอะไร บางครั้งหากเราทำหลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน เราก็จะขาดสติ เช่น บางคนเดินคุยโทรศัพท์ไปด้วย ก้าวขาขึ้นรถเมล์ไปด้วย โอกาสพลาดพลั้งจะมีเยอะกว่าเวลาทำอะไรเพียงอย่างเดียว
ที่สำคัญ เวลาที่ทำอะไรพลาดไปแล้วไม่จำเป็นต้องไปหวนระลึกให้เป็นทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะนั่นคือการสร้างภพภูมิที่ไม่รู้จบ เมื่อผิดไปแล้ว พลาดไปแล้ว จะด้วยความประมาทหรืออะไรก็ตาม เมื่อมีสติรู้ตัวแล้วก็ไม่ทำอีก…แค่นั้นพอ
ที่มา : นิตยสาร Secret
ภาพ : @thong_thong