นรีกระจ่าง คันธมาส กับ ชีวิตใหม่ใต้แสงธรรมส่อง
เมื่อหลายปีก่อน คุณจุ๋ม - นรีกระจ่าง คันธมาส เคยเล่าถึงชีวิตที่ถูกทดสอบด้วยโชคชะตา ให้ต้องพบกับความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ปรานี แต่ในวันนี้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าส่องทางให้เธอได้คิดและเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นมากจนเรียกได้ว่าเป็น “ชีวิตใหม่” และเธอยินดีแบ่งปันเรื่องราวที่ได้เรียนรู้มาแก่ทุกคน
ความทุกข์ในวัยเด็ก
ที่ผ่านมาจุ๋มเคยคิดว่าชีวิตของตัวเองไม่เคยมีความสุขเหมือนกับคนอื่น ๆ สักทีพอเริ่มจะมีความสุขก็ต้องพบความทุกข์อย่างแสนสาหัสเสมอ
จุ๋มเป็นลูกคนโตของบ้าน มีน้องสองคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง “หนูเต่า” น้องสาวของจุ๋มคลอดออกมาพร้อมกับโรคน้ำท่วมสมองทำให้หัวโตกว่าเด็กทั่วไปและต้องผ่าตัดหลายครั้ง ทั้งยังมีอาการชักรุนแรงเสมอ พ่อกับแม่จึงต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปดูแลน้อง จุ๋มได้แต่เฝ้ามองดูท่านทั้งสองเป็นทุกข์กับความห่วงน้องสาวอยู่เงียบ ๆ
เก้าปีต่อมาแม่ก็คลอด “น้องเอก” น้องชายคนสุดท้องที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงต้องผ่าตัดสมองตั้งแต่แรกเกิด ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์มากขึ้นไปอีก บรรยากาศในบ้านเครียดมากขึ้น ตอนนั้นจุ๋มต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไปไหนมาไหนคนเดียว วันไหนเศร้าก็ไปเดินเล่นในสวนแถวบ้าน นั่งดูต้นไม้ดูกระรอก เก็บดอกไม้ ร้องเพลง เพราะรู้สึกว่าที่นั่นเป็นดินแดนที่ไร้ความกังวล
เมื่อจุ๋มต้องเติบโตมาแบบตัวคนเดียวจึงกลายเป็นเด็กเก็บตัว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร ที่โรงเรียนก็มีเพื่อนไม่กี่คนเท่านั้น จึงไม่ค่อยมีวันเวลาที่สนุกสนานเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุด นั่นคือการร้องเพลง
การร้องเพลงทำให้มีสมาธิ ไม่ต้องคิดกังวลกับเรื่องใด ๆ ทำให้หนีหายไปจากความทุกข์ได้ เมื่อคุณพ่อเห็นว่าร้องเพลงเพราะจึงพาไปร้องตามงานเลี้ยงต่าง ๆ ในวงญาติเสมอ แล้ววันหนึ่งคุณพ่อก็เอ่ยปากให้ลองประกวดในรายการ “คอนเสิร์ต คอนเทสต์” ช่วงแรกจุ๋มอิดออดไม่อยากไปเพราะเป็นเด็กขี้อาย ทั้งยังคิดเสมอว่าตัวเองสู้คนอื่นไม่ได้แต่สุดท้ายก็ส่งเทปไปประกวด เพราะได้ฟังคำพูดแรง ๆ ของพ่อที่ว่า
“คนเก่ง ๆ เขาไปอยู่ในทีวีหมดแล้วคนไม่เก่งเขาจะอยู่ที่บ้านนี่แหละ”
ผลปรากฏว่าผ่านการคัดเลือก ช่วงแรกพ่อกับแม่ก็พาไปส่งเพื่อซ้อมร้องเพลง แต่ช่วงหลัง ๆ ก็ต้องไปคนเดียวเช่นเคย และสุดท้ายก็ชนะการประกวดครั้งนี้
พอย้อนกลับไปดูเทปการประกวดก็เห็นว่า ทำไมเราเป็นเด็กที่ไม่ยิ้มเลย ตอนนั้นพี่ตา – ปัญญา นิรันดร์กุล ซึ่งเป็นพิธีกรถามว่า
“หนูอยากบอกอะไรคุณพ่อคุณแม่ไหม” จุ๋มตอบว่า “ไม่มีค่ะ เดี๋ยวกลับไปคุยที่บ้าน”
พอพี่ตาถามว่า “ที่มาแข่งในรายการนี้อยากได้อะไร” จุ๋มตอบทันทีว่า “อยากได้รอยยิ้ม อยากมีความสุข”
คำพูดในตอนนั้นสะท้อนให้เห็นว่าวัยเด็กของเราคงเต็มไปด้วยความทุกข์ที่สะสมไว้มานานจนเป็นปมฝังลึกในจิตใจ
ทุกข์จากการพลัดพราก
หลังชนะการประกวด จุ๋มได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในค่ายคีตา เรคคอร์ดส ได้แจ้งเกิดในฐานะนักร้องนำวัย 18 ปีของวง “โคโค่แจ๊ส” ตอนนั้นก็ยังคงเป็นเด็กเงียบ เก็บตัวแต่กลับใช้อารมณ์กับคนอื่นเสมอ และไม่คิดจะหาทางปรับปรุงตัวเอง ถ้าทีมงานคนไหนบังคับให้พูด บังคับให้ทำโน่นทำนี่ก็จะโกรธทั้งเหวี่ยงทั้งวีน เรียกได้ว่าชื่อเสียงมาพร้อมกับชื่อเสีย ใคร ๆ ก็พากันเอือมระอา
ในขณะที่ชีวิตการเป็นนักร้องกำลังไปได้ดี จุ๋มกลับต้องมาพบกับทุกข์หนักอีกครั้งเมื่อ อาจารย์ปิยะ โกศินานนท์ นักเปียโนของวงซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพมากเสียชีวิตต่อมา พี่จิก - ประภาส ชลศรานนท์ โปรดิวเซอร์ที่ทำงานมาด้วยกันตั้งแต่แรกก็ลาออกจากค่ายไปอีก จุ๋มจึงเป็นทุกข์จนทนทำงานที่เดิมต่อไปไม่ได้ ขอออกมาร้องเพลงตามโรงแรม โดยไม่สนใจชื่อเสียงเงินทองที่เคยมีมากเมื่อครั้งที่มีค่ายเพลงดูแล
ตอนที่ตัดสินใจ จุ๋มคิดแค่ว่าตอนที่เราไม่มีอะไรเลย เราร้องเพลงในห้องนอน ไม่มีเสียงปรบมือ ไม่มีคนรู้จัก พอมาร้องเพลงตามโรงแรมก็ยังมีคนปรบมือให้ แล้วก็ได้เงินพอเลี้ยงชีพ เรื่องชื่อเสียงไม่มีผลกับจุ๋มเลย
ความรักและความสูญเสีย
จุ๋มเริ่มชีวิตคู่อย่างมีความสุขเมื่อได้เจอกับคนรักที่เข้ากันได้ดี หลังจากแต่งงานเราใช้ชีวิตคู่ส่วนใหญ่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่อยู่ด้วยกันไม่นานนักสามีก็เริ่มป่วย และถูกส่งกลับมารักษาตัวที่เมืองไทยแล้วชีวิตก็พบกับฝันร้ายอีกครั้งเมื่อสามีเป็น“มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย”
ในใจตอนนั้นเป็นทุกข์มาก เฝ้าคิดวนไปมาอยู่แต่ว่า ทำไมเราต้องอยู่กับความตายอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เราทุกข์ใจกับอาการป่วยของน้องสาวมาทั้งชีวิต ยังต้องมาเจอโรคภัยของสามีอีก แต่แม้จะทุกข์เพียงใดก็ต้องทำตัวให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใจและดูแลเขาอย่างดีที่สุด
แต่สุดท้ายชีวิตก็หนีความตายไม่พ้นจุ๋มจำต้องยอมรับความจริงว่า สามีไม่มีทางหายจากโรคนี้ ในวาระสุดท้ายของชีวิต จุ๋มสวดมนต์ให้เขาฟัง ถือเป็นการลากันครั้งสุดท้ายเพื่อส่งให้เขาไปสู่สุคติ
ถึงวันที่ธรรมะจัดสรร
หลังงานศพสามี จุ๋มกลับมาตั้งหลักชีวิตอีกครั้ง โดยเริ่มจากการทำความฝันหนึ่งที่เคยคุยกับสามีไว้ให้เป็นจริง คือเรียนปริญญาตรีให้สำเร็จ เพราะจุ๋มทำงานมาตั้งแต่เด็ก ทำให้การเรียนขาดช่วงไป จึงสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาตรีด้านไทยคดีศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเรียนจบได้ในเวลาสองปี
ตอนที่เรียนใกล้จบก็เหมือนธรรมะจัดสรรให้ได้มาพบกับ คุณแม่ชีศันสนีย์เสถียรสุต จากการที่ท่านชวนให้ไปร้องเพลงการกุศลให้กับสาวิกาสิกขาลัยที่เสถียรธรรมสถาน เมื่อได้พูดคุยกับท่าน ท่านก็ถามว่า
“สนใจเรียนปริญญาโทสาขาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิตที่สาวิกาสิกขาลัยไหม”
จากที่ไม่เคยคิดจะเรียนต่อปริญญาโทเลย เพราะตอนนั้นคิดว่าไม่จำเป็น อีกทั้งต้องทำงานร้องเพลงซึ่งอาจไม่มีเวลาไปเข้าห้องเรียน แต่คุณแม่ชีศันสนีย์ท่านเมตตาให้ทุนเรียน จุ๋มจึงคว้าโอกาสนี้ไว้ทันที และรีบเรียนท่านว่า
“เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว หนูจะมารับทุนค่ะ”
การที่ได้เข้าเรียนที่สาวิกาสิกขาลัยเหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้ตัวเอง ทำให้ได้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงวิชาแรกที่จุ๋มได้เรียนคือ วิชาอานาปานสติซึ่งทุกคนต้องลองปฏิบัติจริง เมื่อก่อนเราอาจคิดว่าการทำสมาธิคือการนั่งแล้วก็ท่องพุทโธ ๆ การบริกรรมนี้ถือเป็นการคิด แต่แท้จริงแล้วหลักอานาปานสติคือการไม่คิดแต่ให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับกายและจิตของเราเอง
นอกจากนี้ระหว่างเรียนก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาลเด็ก ได้เห็นแต่ความเจ็บป่วย และได้ไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดคำประมง จังหวัดสกลนครซึ่งเป็นเหมือนคลินิกแพทย์แผนไทยที่รักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ทำให้จุ๋มมีโอกาสดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ได้เห็นคนตายจริง ๆ และรู้ซึ้งถึงความไม่เที่ยงของชีวิตและโลกใบนี้ ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เข้าใจว่า สรรพสิ่งในโลกล้วนตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ที่ว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป” และทุกอย่างไม่มีอะไรคงที่ ไม่ควรยึดถือสิ่งใด
ส่วนการทำวิทยานิพนธ์ จุ๋มเลือกทำเรื่อง “การประยุกต์การร้องเพลงด้วยหลักเจริญสติปัฏฐาน” โดยการนำหลักสติปัฏฐานมาประสานกับศาสตร์การร้องเพลงที่เราเชี่ยวชาญ ซึ่งได้เรียนรู้ว่า ในขณะที่ร้องเพลงเราสามารถเจริญสติปัฏฐานได้เช่นกัน นั่นคือการระลึกรู้กาย ได้แก่ รู้ลมหายใจเข้า - ออกทำความรู้สึกตัวเมื่อเปล่งเสียงผ่านอวัยวะต่าง ๆออกมา การระลึกรู้เวทนา ได้แก่ การตามอารมณ์ตัวเองได้ว่ากำลังรู้สึกทุกข์ สุข หรือเฉย ๆ การระลึกรู้จิต ได้แก่ การรู้อาการของจิตว่าพอใจ ไม่พอใจ หรือสุข ไม่สุขการระลึกธรรม ได้แก่ การพิจารณานิวรณ์ 5 เช่น การไม่คิดร้าย ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นต้น ซึ่งหมายความว่า ขณะที่ร้องเพลงเราสามารถปฏิบัติธรรมไปด้วยได้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จุ๋มสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับตัวเองและสอนผู้อื่นได้
ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งลึกซึ้ง
การได้เรียนที่สาวิกาสิกขาลัยทำให้จุ๋มเข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ลึกซึ้งมากขึ้นและนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง ทุกวันนี้จึงมองทุกอย่างตามความเป็นจริง คิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ไม่คิดเข้าข้างตัวเองหรือโทษผู้อื่น เมื่อก่อนถ้ามีเรื่องอะไรมักโทษคนอื่นก่อนว่าทำไมทำกับเราอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างที่เราคิด
เมื่อมองย้อนกลับไปก็ทำให้เราเข้าใจชีวิตแต่ละช่วงมากยิ่งขึ้น เช่น ตอนที่พี่ตุ้ย (สามี) จากไป ช่วงแรกจุ๋มคิดแต่ว่า ทำไมเขาต้องเป็นมะเร็ง ทำไมเขาไม่อยู่กับเราให้นานกว่านี้ การคิดเรียกร้องเช่นนี้เป็นกิเลส มาวันนี้ไม่สงสัยอีกแล้วว่าทำไมถึงต้องเป็นเราที่สูญเสียสามีเร็วขนาดนี้ เพราะยังไงทุกคนก็ต้องประสบกับความสูญเสียกันหมด เมื่อเกิดมาแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือความตาย ถ้ามีการเกิดก็ต้องมีการตายเสมอเป็นของคู่กัน
หรือตอนเด็ก ๆ จุ๋มเคยคิดเสมอว่าแม่ไม่รัก แต่พอมองย้อนกลับไปก็เห็นความจริงว่า เราเป็นเด็กที่นิ่งมาก พูดจาก็แข็ง ๆเหมือนกับเด็กผู้ชาย แล้วจะให้ท่านเข้ามาหาเราได้อย่างไร พอเข้าใจเราก็เริ่มปรับตัวเปิดใจเข้าไปพูดคุยกับคุณแม่ กอดคุณแม่ จนตอนนี้สนิทกับท่านมากขึ้น ท่านก็คลายความทุกข์ลงและมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน
อีกเรื่องหนึ่งคือ หนูเต่า น้องสาวที่จุ๋มรัก แม้ในวันนี้ตามองไม่เห็นแล้ว แต่น้องก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามสภาพก่อนหน้านี้จุ๋มจะร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นน้องเดินชนโน่นชนนี่ และจิตตกเพราะสงสารและเป็นห่วงเขา ตอนนี้ก็คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นว่า โรคที่น้องเป็นทำให้น้องตาบอดเมื่อน้องมองไม่เห็นก็ทำให้น้องเดินเหินไม่สะดวกและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อยลง
แม้แต่เมื่อมีเรื่องไม่พอใจมากระทบก็จะไม่ใช้อารมณ์โต้ตอบ เช่น เวลาใครพูดจาไม่เพราะกับเรา ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงแว้ดใส่และปะทะคารมกันไปแล้ว แต่ตอนนี้จะพูดจาดี ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน
ชีวิตใหม่
การได้เข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งเช่นนี้เหมือนกับตายแล้วเกิดใหม่ จุ๋มตั้งใจนำความรู้อันประเสริฐนี้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นตอนนี้นอกจากอาชีพนักร้องและการสอนร้องเพลงแล้ว ก็มีโอกาสได้เป็นวิทยากรพิเศษด้านการร้องเพลงให้กับกรมธนารักษ์และสำนักกษาปณ์ การสอนร้องเพลงของจุ๋มจะสอดแทรกการทำสมาธิและการเจริญสติเข้าไปด้วย ถือเป็นวิธีหนึ่งในการส่งต่อองค์ความรู้ทางธรรมที่ได้ศึกษามา
นอกจากนี้จุ๋มได้เรียนต่อปริญญาเอกสาขาพระพุทธศาสนา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเรียนจบภายในสามปี หลังจากเรียนจบจุ๋มตั้งใจจะนำความรู้ทั้งหมดมารับใช้สังคมเพราะถือว่าเป็นความรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อเรารู้แล้ว ขัดเกลาตัวเองได้แล้ว ก็จะนำความรู้นี้ส่งต่อให้แก่ผู้อื่นในวงกว้างต่อไป เพื่อให้คนที่ยังไม่เข้าใจมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่จมจ่อมอยู่กับความทุกข์เหมือนที่เราเคยเป็น
ความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ตอนนี้ก็ดีขึ้นมาก แม้ครอบครัวจะย้ายไปอยู่ที่ต่างจังหวัด เพราะบ้านที่อยู่โดนยึดไปจากการที่คุณพ่อไปค้ำประกันให้ญาติ แต่กลับกลายเป็นว่าพออยู่ห่างกัน เราทุกคนคิดถึงกันมากขึ้นจุ๋มใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯคนเดียว คุณพ่อคุณแม่ก็โทร.มาหาเสมอ เราก็หาเวลาไปหาครอบครัวบ่อย ๆ ส่วนบ้านที่ถูกยึดไปก็คิดว่ามันเป็นเพียงแค่สิ่งก่อสร้างที่ถูกพรากไป แต่ความรักความอบอุ่น ความห่วงใยในครอบครัวยังมีอยู่เสมอ
ทุกวันนี้จุ๋มมีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะมีสติรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง กินอยู่อย่างพอดี ไม่ได้คิดหาแต่เงินเพื่อมาบำรุงบำเรอกิเลส ทำให้รู้สึกว่าจิตใจของเราเบาสบายขึ้นและใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ชีวิตในปัจจุบันจะไม่เอื้อต่อการสละทางโลกแต่ก็ได้นำหลักการเจริญสติปัฏฐานมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อยู่กับทางโลกได้ดีมากขึ้น
ขอเพียงทุกลมหายใจไม่ห่างจากการเจริญสติ เชื่อว่าเราทุกคนสามารถเป็นฆราวาสที่ไม่ห่างจากธรรมแน่นอน
เรื่อง นรีกระจ่าง คันธมาส เรียบเรียง เชิญพร คงมา ภาพ วรวุฒิ วิชาธร สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ แต่งหน้า ภูดล คงจันทร์
ขอขอบคุณสถานที่ ร้าน Ladaa Jardin (ลดา ฌาค์แด็ง) ริมถนนเลียบคลองประปา (แจ้งวัฒนะ) โทร. 09-7251-6509
บทความน่าสนใจ