สามเณรกร บวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 วันนี้
สามเณรกร บวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง วันนี้ เวลา 12.00 น. ณ ศาลาวัดป่ามณีกาญจน์
นิตยสาร Secret เคยมีโอกาสไปสัมภาษณ์คุณแม่และพระอาจารย์ ถึงเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้องกรเป็นอย่างทุกวันนี้
ส่งลูกเป็น “เด็กวัด” ให้ธรรมสอนชีวิต วริษฐา เสือแผ้ว และ น้องกร วัดป่ามณีกาญจน์
ทุกเช้าตรู่ ขณะที่คณะสงฆ์วัดป่ามณีกาญจน์ จังหวัดนนทบุรี เตรียมออกบิณฑบาต เด็กชายจิรกร ศรสงคราม หรือ น้องกร วัดป่ามณีกาญจน์ จะเดินมาขอนิมนต์ทำบุญตักบาตร กราบเท้าพระอาจารย์ก่อนติดตามไปทำหน้าที่เสมือน “เด็กวัด” คนหนึ่ง
ภาพเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่เกิดเป็นประจำทุกวันนับตั้งแต่น้องกรยังเดินเตาะแตะกระทั่งปัจจุบันอายุห้าปี เช่นเดียวกับภาพหนูน้อยนั่งสัปหงก สวดมนต์ เดินจงกรมด้วยจริตตามวัยที่หลายคนคุ้นตา แรงศรัทธาของน้องกรยังแน่วแน่ถึงขั้นบวชเณร ทั้งที่อายุเพียงสามปีเศษเท่านั้น และขอบวชอีกหลายครั้งในช่วงปิดภาคเรียน ผู้คนจึงต่างพากันชื่นชมในกิจวัตรของน้องกร จนยอดไลค์แฟนเพจน้องกร วัดป่ามณีกาญจน์ เพิ่มขึ้นจากหลักพันเป็นหลักล้านในเวลาไม่กี่ปี
ซีเคร็ต เชื่อว่าเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้องกรเป็นอย่างทุกวันนี้มาจาก คุณแป๊ว - วริษฐา เสือแผ้ว ผู้เป็นมารดาเช้าวันหนึ่งระหว่างที่ช่างภาพเก็บภาพความสดใสของน้องกรขณะร่วมกิจบิณฑบาต เราได้พูดคุยกับคุณแป๊วถึงวิธีคิดในฐานะคุณแม่ ณ ร้านกาแฟบริเวณหน้าวัด ธุรกิจเล็ก ๆของคุณแป๊วและญาติธรรมที่ตั้งใจเปิดเพื่อเอื้อต่อการดูแลน้องกรเมื่ออยู่ที่วัดได้สะดวกมากขึ้น
“เคยเข้ามาที่วัดนี้ตั้งแต่กรยังไม่เกิด วันแรกเจอพระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์ท่านเทศน์ให้ครอบครัวหนึ่งซึ่งมีปัญหาระหว่างแม่กับลูก ท่านสอนว่าครอบครัวจะมีความสุขต้องรู้จักคำว่ายอมซึ่งกันและกัน ต้องมีจังหวะ ไม่ใช่ว่าลูกไปอย่าง แม่ไปอีกอย่าง ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก อย่างนั้นก็ไม่มีใครได้ดี การไม่ยอมมีแต่จะทำให้เราทะเลาะกัน เสียงดังใส่กันไม่มีอะไรดี
“พระอาจารย์ใช้คำง่าย ๆ พูดไปขำไป แต่เรานั่งร้องไห้เพราะสิ่งที่พระอาจารย์สอนกระทบจิตใจมาก เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยยอมใคร ใจร้อน และดื้อกับแม่ เคยคิดว่าชีวิตเรามาถึงขนาดนี้ ดูแลตัวเองได้แล้ว เราต้องแน่ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เราถือตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่ใช่ว่าเราเก่งแต่ที่เรายืนอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะบุญคุณของพ่อแม่ จากจุดนั้นทำให้คิดถึงพ่อแม่มากขึ้น สอนใจตัวเราเองให้เย็นลงเริ่มฝึกตัวเองทุกวันให้รู้จักยอม”
จากวันนั้นคุณแป๊วเลื่อมใสในหลักธรรมคำสอนของพระอาจารย์ ทุกเช้าก่อนออกไปทำงาน เธอจึงเดินทางมาตักบาตรและฟังเทศน์เป็นประจำ สองปีผ่านไปคุณแป๊วมีครอบครัวและตั้งครรภ์ เธอตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อดูแลลูกอย่างเต็มที่ เมื่อน้องกรอายุได้สามเดือนเศษคุณแป๊วก็พาน้องกรมาเข้าวัดเป็นครั้งแรก
“เมื่อมีน้องกร เราคิดแค่เพียงว่าจะเลี้ยงเขาอย่างไรให้เติบโตโดยไม่เป็นภาระสังคม ไม่เป็นปมด้อย คิดไปตามประสาคนเป็นแม่ธรรมดา อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกได้เห็นการรับ การให้ สิ่งเหล่านี้เรียนรู้จากที่อื่นนั้นยากระหว่างที่คิดมีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบ จู่ ๆ วันหนึ่งก็มีคำตอบผุดขึ้นมาว่า เราจะเลี้ยงลูกเอง และพาลูกเข้าวัด ให้เขาได้เห็นและใกล้ชิดธรรมะ ครอบครัวก็เห็นด้วย ทุกอย่างเอื้อกันไปหมด
“วันแรกที่พากรไปวัด เขายังเล็กจะร้องเมื่อไหร่ก็ไม่รู้กังวลเหมือนกันว่าจะสร้างความรำคาญให้คนอื่น แต่พอเขาร้องก็ไม่มีใครว่าอะไร เหมือนทางมันเปิด จึงพาลูกมาทุกวันกระทั่งกรอายุได้สี่เดือน วันหนึ่งกรกำลังร้องไห้ พระอาจารย์ก็บอกว่า เงียบ ไอ้เด็กวัด กรก็หยุดร้อง แต่คำว่าไอ้เด็กวัดมันกระแทกหัวใจเรามาก น้ำตาเราไหลเลยนะ เหมือนกับลูกเรามีชื่อ เป็นความรู้สึกยินดี ปลื้มปีติ รู้สึกเหมือนพระอาจารย์รับกรเป็นศิษย์แล้ว เราเองก็เป็นศิษย์พระอาจารย์เหมือนกับกรด้วย ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่เราคิดของเราเอง”
“ตั้งแต่วันนั้นตั้งใจเลยว่าเราต้องทำในสิ่งที่เราทำอย่างสม่ำเสมอ และเป็นหน้าที่ที่เราต้องพากรมาวัด กรก็ต้องทำหน้าที่ในฐานะศิษย์ของพระอาจารย์ เราเรียนรู้ไปด้วยกันกับลูก ทำไปเรื่อย ๆ ให้เป็นกิจวัตร และอะไรที่สามารถช่วยวัดได้เราก็จะทำ ไม่เคยคิดว่าเราหรือลูกลำบากเลย”
เมื่ออายุได้ราวขวบเศษ น้องกรเริ่มตามพระอาจารย์ไปบิณฑบาต นั่งสมาธิ และจับไม้กวาดช่วยพระกวาดลานวัดภาพกิจวัตรแสนน่ารักของน้องกรกลายเป็นที่มาของการตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจน้องกร วัดป่ามณีกาญจน์ เพื่อเผยแพร่สิ่งดี ๆ ผ่านโลกโซเชียล
ช่วงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การตัดสินใจบวชครั้งแรกของเด็กน้อยวัยสามขวบเศษเท่านั้น “ตอนนั้นอยู่ ๆ กรก็บอกว่าอยากบวช ด้วยความเป็นแม่เราก็เป็นห่วง ถามลูกว่าถ้ามีคนรังแกจะทำอย่างไรเพราะกรยังเล็ก เขาก็บอกว่ากรจะสู้ เราก็ตกใจว่า เฮ้ยจะไปสู้อะไรกับใคร อายุแค่นี้ สุดท้ายเราจบการสนทนาด้วยเรื่องอื่น จึงคิดว่าน้องกรคงพูดไปอย่างนั้นเอง ปรากฏว่าเย็นวันนั้นเราต้องทำวัตรเย็น อยู่ ๆ กรก็บอกว่าแม่กลับบ้านไป กรจะอยู่วัด เราก็เป็นห่วงว่าจะอยู่ได้เหรอ เขาตอบว่าอยู่ได้ พระอาจารย์ก็บอกว่า ลองดู แล้วท่านก็เรียกกรมาถามว่าเธอทำอันนี้ได้ไหม อันนั้นได้ไหม แน่ใจนะว่าจะไม่ร้องไห้ ไม่คิดถึงแม่ กรก็บอกทำได้ เดินตามพระไปเราก็กลับไปเก็บเสื้อผ้ามาอยู่วัดด้วยตลอดสิบกว่าวัน
“จนถึงวันก่อนบวช เขากำลังจะรับศีล จึงขอเข้ามากราบ มากอดแม่ กรมองหน้าเหมือนว่าลาก่อน เราเห็นลูกก็ร้องไห้ เพราะแค่วันนั้นบอกให้เรากลับบ้านเขาจะอยู่วัดแค่ลูกไม่อยู่ด้วยเราก็แย่แล้ว ความรู้สึกเราเหมือนลูกจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ก็เริ่มกลัว ถามลูกว่าจะสึกวันไหน กรบอกจะบวชไปเรื่อย ๆ แล้วเขาก็มองหน้า มาหอม เหมือนจะลาก่อน เราก็ร้องไห้เลย เพราะพระที่ท่านไม่สึกก็มักใช้คำนี้”
“ภาวะในใจของเราที่เกิดขึ้นตอนนั้น คิดไปต่าง ๆ นานาว่า ถ้าลูกบวชไม่สึกจริง ๆ จะอยู่อย่างไร กังวลอยู่เป็นเดือนกระทั่งทำใจได้ว่า เอาก็เอา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ จะเป็นอะไรไป ลูกไปแม่ก็ส่ง เราก็อยู่ตรงนี้ ไม่ได้ไปไหน เมื่อไหร่ที่ลูกไป เราพร้อม เหมือนกับสิ่งเหล่านี้เราถูกสอนมาก่อนแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เคยอยู่ในความคิดเลยคือ ห้ามลูกไม่ให้ทำเราไม่เคยห้ามเรื่องนี้เลย เพราะคิดแบบนั้นไม่ได้ รู้สึกแบบนั้นไม่ได้ คำสอนของพระอาจารย์เตือนสติเราว่า คนที่มีบุญจึงจะเดินทางเส้นทางนี้ได้ ถ้าบุญมาถึง อะไรก็ฉุดไม่อยู่ ถ้ากรมีบุญจริงก็ต้องปล่อยไป”
น้องกรบวชสามเณรนานกว่าสองเดือน ก่อนกลับมาเรียนหนังสือตามปกติ หลังจากนั้นทุกวันศุกร์หลังกลับจากโรงเรียน คุณแป๊วจะพาน้องกรเข้าวัด สวดมนต์ทำวัตรเย็นและนอนที่วัด เพื่อทำหน้าที่ “เด็กวัด” จนถึงวันอาทิตย์ และทุกเช้าของวันธรรมดาก็เดินทางจากบ้านมาตักบาตรและเดินนำพระบิณฑบาตก่อนไปโรงเรียน
คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
หลังจาก ซีเคร็ต พูดคุยกับคุณแป๊ว สักพักคณะสงฆ์และน้องกรก็เดินทางกลับจากบิณฑบาต พระสงฆ์และลูกศิษย์ช่วยกันจัดแจงภัตตาหารที่ญาติโยมมาถวาย น้องกรทำหน้าที่ศิษย์พระอาจารย์อย่างคล่องแคล่ว เตรียมบาตร คัดแยกประเภทเครื่องดื่มจากผลไม้ เพื่อเก็บเป็นน้ำปานะได้อย่างถูกต้อง ขณะที่ทีมงานเฝ้าสังเกตการณ์ก็พบความน่ารักของน้องกรผ่านบทสนทนา
พระอาจารย์ : เย็นนี้มีภาระอะไร
น้องกร : ภาระนอนวัด คืนวันศุกร์และวันเสาร์ต้องนอนวัด วันอาทิตย์ต้องกลับบ้านแล้ว
ซีเคร็ต : มาอยู่วัด น้องกรกินกี่มื้อคะ
น้องกร : กินสามมื้อ ถ้าอยู่วัดกินมื้อเดียว พี่ไหวไหม (ทำหน้าทะเล้น) ถ้าอยากบวชก็ต้องกินข้าวมื้อเดียวนะ
ซีเคร็ต : แล้วน้องกรไม่หิวเหรอคะ
น้องกร : กรไม่หิว ถ้าหิว กินน้ำปานะแทนก็ได้ กินได้ตลอด
พระอาจารย์ : น้ำปานะเป็นยังไง ไหนบอกพี่เขาสิ
น้องกร : น้ำแอ๊ปเปิ้ลหรือน้ำลิ้นจี่ น้ำผลไม้ แต่เป็นนมไม่ได้ (นิ่งไปครู่หนึ่ง) กินมื้อเดียวแต่ได้บุญนะ ถ้าหิวก็กินพุทโธก็ได้ อร่อยมาก กรกินอยู่นะ (ส่งยิ้ม)
ซีเคร็ต : กินพุทโธ กินอย่างไรคะ
น้องกร : (ทำท่านั่งสมาธิให้ดูครู่หนึ่งแล้วบอก) อร่อยมาก
ซีเคร็ต : ไหนคะ พุทโธอยู่ตรงไหน
น้องกร : (ตบที่หน้าอกแล้วบอกว่า) อยู่ในใจ
พระอาจารย์ : ลองชวนคนมาทำบุญสิ
น้องกร : พี่ครับมาทำบุญไหมครับ มาบวชพร้อมกับเณรเลยไหม (ยิ้ม)
ซีเคร็ต : แล้วน้องกรอยากให้คุณแม่บวชด้วยไหมคะ
น้องกร : อยากให้แม่บวช แต่ตอนนี้แม่ยังไม่บวช
พระอาจารย์ : ถ้าแม่บวชก็ไม่ได้ทำงาน แล้วจะเอาอะไรกินล่ะ
น้องกร : (ตอบทันที) ก็กินมื้อเดียวไง เนี่ยแม่ชียังไม่ตายเลย แม่ชียังอยู่ได้เลย
พระอาจารย์ : เนี่ย (ชี้ที่บาตร) เธอก็บิณฑบาตเลี้ยงข้าวในบาตรให้เธอครึ่งหนึ่งแม่ครึ่งหนึ่ง พอไหม อิ่มไหม
น้องกร : สละให้แม่หมดเลยดีไหม เหมือนกินน้ำกับแม่ แม่กินไม่หมด กรกินน้ำต่อจากแม่ก็ได้
พระอาจารย์ : คิดได้ยังไงเนี่ย ซึ้งมากเลย
คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป
ทุกคนที่ได้ยินบทสนทนาเหล่านี้ต่างนั่งอมยิ้มไปตาม ๆ กัน ไม่เพียงอิริยาบถที่น่ารักตามประสาเด็ก แต่ความรู้ทางธรรมของน้องกรและความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์และพระอาจารย์ยังสร้างความอิ่มเอมให้ญาติโยมที่มาทำบุญเป็นระยะ
ซีเคร็ต : น้องกรเคยโดนพระอาจารย์ตีไหมคะ
น้องกร : เคยโดนหลายที
พระอาจารย์ : โดนเมื่อไหร่ ไว้หน้ากันหน่อย (กรมองหน้าพระอาจารย์แล้วหัวเราะ)
ซีเคร็ต : ทำไมถึงโดนตีคะ
น้องกร : กรกินก่อนพระ ไปตักของพระ
พระอาจารย์ : แล้วรู้ไหมอาจารย์ตีทำไม
น้องกร : รู้ครับ อาจารย์ไม่ได้ตีกร อาจารย์ตีความผิด
พระอาจารย์ : แหม เข้าใจพูด แล้วโกรธอาจารย์ไหม
น้องกร : ไม่โกรธ แต่หน้าบึ้ง โกรธนิดเดียว แต่เศร้าเยอะ
พระอาจารย์ : แล้วจะโกรธทำไม
น้องกร : ก็โกรธแค่นี้ดดดดด (ลากเสียงยาว) เดียว
พระอาจารย์ : อาจารย์ตีเพราะรักหรือเกลียด
น้องกร : รัก
พระอาจารย์ : ต่อไปโกรธนิดเดียวก็ไม่ให้มีนะ เข้าใจนะ
น้องกร : เข้าใจครับผม ตั้งแต่พูดครั้งแรกก็เข้าใจแล้วครับ
หลังเสร็จภัตกิจ พระอาจารย์อำนวยเล่าว่ายังจำครั้งแรกที่เรียกน้องกรว่าไอ้เด็กวัดได้ พลางชี้ตำแหน่งให้ดูว่าน้องกรนอนบนพื้นตรงนี้
“วันนั้นเรียกว่าเด็กวัดก็คือยอมรับเขาแล้ว คำพูดของเราคือยอมรับจากใจ เขาคงจะทราบได้ก็เงียบ และเขาก็มีความสนใจพระตั้งแต่นั้นมา พระอาจารย์รู้สึกดีกับเด็กทุกคนให้ความรู้กับทุกคน แต่วาสนาบารมีของแต่ละคนแตกต่างกันเมื่อเราให้จึงขึ้นอยู่กับคนที่จะรับ จะสร้างบารมีต่อของเก่าของตัวเองอย่างไรก็แตกต่างกัน กรมีของเก่าของเขาอยู่จึงแตกต่างจากคนอื่น ถึงวันนี้เขายังสม่ำเสมอ เป็นอย่างนี้มาตลอด ส่วนจริตนิสัยก็ตามวัย”
“พระอาจารย์ไม่คาดหวังว่ากรจะศึกษาธรรมไปถึงขั้นไหน ไม่คาดหวังแม้แต่ตัวของพระอาจารย์เอง เพียงแต่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดแล้วจะไปในทางที่ดีสุด เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นเต็มเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น การสอนของพระป่าก็เหมือนกับพ่อแม่สอนลูก มันไม่มีในตำรา ใช้ความรัก ความรู้สึก ความหวังดีต่อกัน อาจใช้ประสบการณ์ชีวิตที่เราได้เรียนรู้มา พร่ำสอนชี้แนะ อะไรที่เป็นอันตรายก็พยายามห้ามปรามเขา ป้องกันเขา ก็เหมือนกับพ่อแม่นั่นแหละ”
“สำหรับน้องกรต้องขอบใจแม่แป๊วที่มีเวลาให้ลูกเต็มที่ถ้าแม่ไม่ให้ เขาก็คงมาไม่ถึงขนาดนี้ พระอาจารย์เห็นบางคนอยากทำบุญตักบาตร เพราะเป็นผลจากลูกในท้อง พอคลอดออกมาพามาตักบาตร เด็กก็ยิ้มหัวเราะ แต่พอโตขึ้นอยากตักบาตร ยืนคอยพระตั้งแต่เช้า แต่วันหนึ่งแม่เขาห้ามตั้งแต่นั้นเขาหันหลังเลย คราวนี้แม่เรียกมาวัดอย่างไรก็ไม่เอา เพราะกิเลส อัตตา มันคอยโอกาสที่จะจัดการเราอยู่”
“ฉะนั้น หากลูกต้องการทางนี้ เราต้องส่งเสริมในทางที่ดี เหมือนต้นไม้ ถ้าเรารดน้ำพรวนดินสม่ำเสมอก็จะแตกยอดแตกผลงาม แต่ถ้าเราขี้เกียจ ไม่กี่วันก็เหี่ยวจะมาเร่งให้งอกเงยทีหลังก็ยาก แต่ถ้ากำลังดี ๆ ให้พยายามทำจนเป็นกิจวัตร ผู้เป็นพ่อแม่ก็ต้องเหนื่อย ต้องอดทนเพราะพ่อแม่สำคัญต่อชีวิตลูกที่สุด”
ปัจจุบันน้องกรเสมือนสะพานบุญที่พาผู้คนเข้าวัดมากขึ้น หลายคนเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อร่วมชื่นชมและอนุโมทนาบุญกับน้องกร เมื่ออยู่วัดน้องกรอาจเป็นเด็กวัดชื่อดัง แต่พอกลับมาอยู่บ้านน้องกรก็คือเด็กชายวัยห้าปีที่ชอบเรียนรู้ เล่นสนุกไม่ต่างจากเด็กทั่วไป
“อยู่ที่บ้านกรจะเล่นของเล่น ดูการ์ตูน แต่เล่นไม่นานเขาก็เบื่อของเขาเอง เรื่องหนึ่งที่แม่เน้นมาตั้งแต่เด็กคือการอ่านหนังสือ กรจะอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 1 เล่มถ้าวันไหนอ่านเยอะอาจถึงสามเล่มขึ้นไป หากมองเรื่องพัฒนาการทางร่างกาย เขาตัวเล็กแต่เป็นเด็กแข็งแรง เพราะชอบเล่นกับธรรมชาติ เขาค่อนข้างอดทนมาก มีจิตใจที่เข้มแข็งสูงมาก ทำให้เรามั่นใจว่าวันนี้ถ้าเขาไม่มีเรา เขาอยู่ได้ ไม่ต้องห่วงเลย กรเป็นเด็กที่เอาตัวรอด แต่จะไปทางไหนเท่านั้นเอง”
“พระอาจารย์สอนอย่างหนึ่งว่า ความดีทำกันง่ายนะคุณทำบุญตักบาตรคุณก็ทำความดี ไปช่วยเหลือใครก็ทำความดี แต่การรักษาความดีนั้นทำยาก คุณจะตักบาตรทุกวันได้ไหม ทำบุญทุกวันได้ไหม ช่วยเหลือทุกวันได้ไหมแต่การทำทุกวันมันส่งผล ถ้าขาดคำว่าสม่ำเสมอก็คงไม่มีกรในวันนี้”
“แฟนเพจของน้องกรมีล้านกว่าคน แต่ถ้าเราเพ่งไปที่ตัวเลขก็ไม่มีประโยชน์ ทุกวันนี้คิดเพียงว่า สิ่งที่เราถ่ายทอดออกไปคือเรื่องราวความดีของเด็กคนหนึ่งที่เขาทำอย่างสม่ำเสมอ กรอบมีแค่นั้นเอง ถ้าวันหนึ่งไม่มีใครติดตามกรก็ยังทำต่อไป หรือถ้าวันข้างหน้าเขาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่น เราเป็นแม่ก็ต้องยอมรับให้ได้ เพราะสิ่งที่ผ่านเข้ามามันไม่มีอะไรที่ตามเราไปได้ตลอด แม่กับกรก็เหมือนกันเราไม่ได้จูงมือกันไปได้ตลอด ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหลุดออกจากกันและกัน”
“สิ่งสำคัญที่สุดคือความดีที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ ช่วยเป็นกำลังใจให้คนมากน้อยแค่ไหน คนนำประโยชน์จากสิ่งที่เรากำลังถ่ายทอดออกไปมากน้อยขนาดไหน นั่นต่างหากที่สำคัญที่สุด”
เรื่อง อุราณี ทับทอง
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
บทความน่าสนใจ