“ พุทธทาส จักไม่ตาย ” ตามรอยพระอรหันต์ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่เรื่องราวและผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน พุทธทาส ยังคงโลดแล่นอยู่ในการสดับรับรู้ของคนทุกเพศทุกวัยจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านทางคำสอน หนังสือ บทกวี และวิถีการครองชีวิตอันเรียบง่ายของท่านมาจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางผลงานทางธรรมจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วนของท่านพุทธทาส ขอเลือกหัวข้อธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติสำคัญๆ ซึ่งเราทุกคนควรน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันมาสรุปในแบบย่อๆ ดังนี้
1) ตัวกูของกู
ท่านพุทธทาสกล่าวเอาไว้ว่า การยึดมั่นว่าตัวว่าตนนี้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่งเหนือสิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หากเป็นสัญชาตญาณชั้นต้นที่สุด และยังเป็นมูลฐานของสัญชาตญาณอื่นๆ อาทิ สัญชาตญาณในการหาอาหาร สัญชาตญาณการต่อสู้ ฯลฯ สัญชาตญาณเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากความรู้สึกยึดถือยึดมั่นว่าเป็น“ตัวกู” ทั้งสิ้น ซึ่งหากขาดสัญชาตญาณเหล่านี้ไป มนุษย์ก็ไม่สามารถรักษาตัวรอดได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กับคนเรา และดูจะมีข้อดีอยู่มาก ทว่าก็เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ในการแสวงหาความทุกข์ในการต่อสู้ และความทุกข์ในการสืบพันธุ์ ดังหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สิ่งต่างๆ ที่คนมีอุปาทานไปยึดอยู่คือตัวความทุกข์หรือเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์” ท่านพุทธทาสจึงสรุปว่า การยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู” เหล่านี้เองคือมูลฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวง
ในขณะเดียวกัน การรู้จักและรู้ทันในมูลกำเนิดของชีวิตและของความทุกข์เช่นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นมูลเหตุให้ได้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน คือความว่างจากการมี “ตัวตน - ของตน” รวมทั้งวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความว่างจาก “อัตตา” ซึ่งเป็นทางออกที่ทำให้คนเราสามารถกำจัดความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด นั่นคือวิธีปฏิบัติที่จะลดอุปาทานการยึดมั่นตัวตน โดยเฉพาะ “อัตวาทุปาทาน”
วิธีลด “อัตตา” แบบง่ายๆ เริ่มจากการพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า “สังโยชน์” 10 ประการ โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างในสังโยชน์ประการที่ 1 ซึ่งมีชื่อในภาษาบาลีว่า “สักกายทิฏฐิ”หมายถึง ความยึดถือว่ากายกับใจนี้เป็นของตน อันนำมาซึ่งความเห็นแก่ตัว ทำให้เราทำอะไรๆ ลงไปในลักษณะที่เป็นความทุกข์ยากลำบากทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น หากพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะทำให้เรานึกถึงการที่กายทุกกาย หรือธาตุทุกกลุ่ม เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน จึงลดความหมายมั่นปั้นมือที่จะเอาประโยชน์จากผู้อื่นมาเป็นของตนเองล้วนๆ ดังแต่ก่อน ทำให้เกิดความสงบเย็น ความสงบเย็นจะส่งผลทำให้เกิดสติสัมปชัญญะสติสัมปชัญญะก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถ้าเพียงแต่คนเราสามารถละสังโยชน์ข้อที่ 1 นี้ได้เท่านั้น โลกนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างน้อยที่สุดการเบียดเบียนกันจะหายไปจากโลก มีแต่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอย่างแท้จริงเข้ามาแทน(วิธีลดอัตตาจากการพิจารณาสังโยชน์อีก 9 ประการที่เหลือสามารถหาอ่านได้ในหนังสือ “ตัวกูของกู”)
2) อานาปานสติภาวนา
อานาปานสติเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นจิตภาวนาที่มีความสำคัญมากในพระพุทธศาสนา เพราะสามารถอำนวยประโยชน์ให้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ทำให้ชีวิตสงบเย็นและสว่างไสวด้วยธรรมะที่จำเป็นแก่การดำเนินชีวิต คือ สติ สัมป-ชัญญะ สมาธิ และปัญญา
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า อานาปานสติภาวนาถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และสมบูรณ์ที่สุด เพราะเป็นการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ซึ่งมีอยู่ในตัวคนเราอยู่แล้ว ทั้งนี้แนวทางในการปฏิบัติแบ่งออกเป็น 4 หมวด และมีลำดับการปฏิบัติสรุปโดยย่อดังนี้
หมวดที่ 1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดเรื่องกาย คือลมหายใจ เป็นการรู้จักลมหายใจเข้าออก โดยมีลมหายใจเป็นอารมณ์หรือเป็นนิมิตสำหรับกำหนดสติ ฉะนั้นจึงต้องกำหนดสติที่ตัวลมหายใจที่เดินทางเข้าอยู่ - ออกอยู่ตลอดเวลา
หมวดที่ 2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดเรื่องเวทนา เป็นการกำหนดความรู้สึกหรือสิ่งอื่นๆ ที่รวมเรียกว่าเวทนาในทุกลมหายใจเข้าออก
หมวดที่ 3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดเรื่องจิต ขั้นนี้เป็นการกำหนดลักษณะจิตเป็นนิมิต แทนการกำหนดลมหายใจ
หมวดที่ 4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดในเรื่องธรรมที่ปรากฏแก่จิต ตั้งแต่ขั้นตอนนี้ถือเป็นการกำหนดภาวะที่เราต้องการที่สุด คือ “ภาวะที่เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่น” ซึ่งหมายถึงการนำภาวะดังกล่าวเข้ามาแทนสิ่งที่เคยใช้กำหนด แล้วคอยกำหนดความไม่เที่ยงของสิ่งนั้นๆ ตลอดเวลาทุกครั้งที่หายใจออกเข้า
เมื่อทำอย่างนี้ได้แล้ว สติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิตและธรรม ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและสมบูรณ์พร้อมกันไปในตัว เมื่อสติปัฏฐานสี่สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์เจ็ดจะสมบูรณ์ขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อโพชฌงค์สมบูรณ์แล้ววิชชาวิมุตติจะปรากฏขึ้นเองโดยอัตโนมัติฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ปฏิบัติอานาปานสติตามแนวนี้ให้สมบูรณ์เพียงอย่างเดียว
(ศึกษาหลักปฏิบัติอานาปานสติสูตรอย่างละเอียดได้ในหนังสือ “อานาปานสติภาวนา ฉบับสมบูรณ์”)
3) นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้
สำหรับหัวข้อธรรม “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้” แม้ในปัจจุบันจะเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แต่หากย้อนกลับไปในวันที่ 28 ตุลาคม 2523 ซึ่งท่านพุทธทาสได้บรรยายเรื่องนี้ไว้ณ สวนโมกขพลาราม รวมถึงช่วงเวลาก่อนหน้านั้น แนวคิดทางลัดตัดตรงสู่นิพพานเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นความคิดที่ต้องอาศัยความกล้าและบารมีมากพอสมควร เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมาแนวคิดเรื่องนิพพานนั้นเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุถึงขั้นหลุดพ้นได้
“มันเป็นเรื่องที่ทำให้ผมถูกด่า จนไม่รู้ว่าจะด่าอย่างไรแล้ว ว่าเอาพระนิพพานมาทำให้สำเร็จประโยชน์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในเมื่อเขาต้องการให้ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ แล้วจึงจะนิพพาน แล้วเรามาทำให้เป็นว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็มีนิพพาน เขาก็โกรธ ไม่รู้ว่ามันจะไปขัดประโยชน์ของเขาหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ
“เขาหาเรื่องว่า เรามาหลอกคนว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ หรือทำให้นิพพานนี้ด้อยค่าลงไป เพราะทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาให้ถือว่าหมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะได้ ถ้าอย่างนั้น ค่ามันก็มากซิ พอมาทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ กลายเป็นของง่ายไป เขาคัดค้าน ก็ด่า ไม่เป็นไร เราไม่ได้ต้องการแก่คนพวกนี้ เราต้องการให้คนทั่วไปต่างหาก ได้รับประโยชน์จากนิพพาน” นี่คือคำกล่าวนำของท่านพุทธทาสก่อนการบรรยายในครั้งนั้น
สำหรับหลักในการไปถึงซึ่งนิพพาน ท่านพุทธทาสได้ให้หลักจำและปฏิบัติที่เข้าใจง่ายเอาไว้ว่า “เมื่อใดเกิดอุปาทาน เมื่อนั้นไม่นิพพาน” อันหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่จิตของเรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็ตาม เมื่อนั้นนิพพานไม่ได้ ด้วยหลักการนี้จึงเห็นได้ว่า หากจิตเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เราย่อมไปถึงซึ่งนิพพานได้
ทั้งนี้ปัจจัยที่นำมาซึ่งการยึดมั่นในกิเลสทั้งหลายนั้น มาจากสัมผัสทั้ง 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งในที่สุดกิเลสที่เข้ามาไม่ว่าจะในรูปของความรัก ความหลงใหลหรือความกำหนัด ก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในจิตและในวิญญาณ เกิดเป็นอุปาทาน ดังนั้นหากต้องการลดการยึดมั่นก็ต้องย้อนกลับไปยังเหตุทั้งหกนั่นเอง
“นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ เพราะเราสามารถควบคุมสิ่งที่มาสัมผัสด้วย ไม่ให้สร้างความเพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญหรือเมาหมกขึ้นมาในใจเราได้ มันมีเท่านี้ ถ้าคุณทำได้ เรื่องนิพพานนี้ ก็เป็นของจริง ไม่ใช่ของพูดไว้พูดเฉยๆ ไม่หลอกใคร เราก็จะเป็นพุทธบริษัทจริง เพราะเรารู้จักนิพพาน และเราทำให้มีนิพพานเสวยรสของพระนิพพานได้
“ฉะนั้นก็ไปต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาชนะได้ไม่มีการตกลงไปเป็นทาสของสิ่งนั้น ก็เรียกว่าไม่มีอุปาทานผูกพัน เมื่อนั้นก็นิพพาน คือว่างจากกิเลส แล้วก็เย็นอยู่ตามธรรมชาติของจิตประภัสสร”
เมื่อเราสามารถบังคับความรู้สึกและอุปาทานได้ครั้งหนึ่งแล้วบารมีก็จะเกิดตามมา กิเลสก็จะลดน้อยลงเป็นลำดับ จนกระทั่งกลายเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอการบำเพ็ญบารมีไปอีกนับหมื่นชาติเพื่อบรรลุซึ่งการหลุดพ้น
(อ่านเรื่องนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้เพิ่มเติมได้ในหนังสือ “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้”)
พุทธทาสจักไม่ตาย
หลังจากความมุ่งมั่นในการทำงาน ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ในที่สุดท่านพุทธทาสก็ได้รับการยอมรับจากวงการ คณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย และวงการศึกษาธรรมะของโลก ให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาลเยี่ยงพระมหากัสสปในครั้งพุทธกาล ในขณะที่มหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือยังกำหนดให้งานของท่านเป็นตำราเรียนในหลักสูตรพุทธศาสนาอีกด้วย
ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกข-พลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานอันทรงคุณค่าให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านและรับมรดกความเป็น “พุทธทาส” สืบต่อไปเพื่อพุทธศาสนาจะได้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงไม่สูญสลายไป เฉกเช่นตอนหนึ่งของบทกวี “พุทธทาสจักไม่ตาย” ที่ท่านได้ประพันธ์ไว้มีใจความว่า
“พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้าย ก็จะอยู่ คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชา องค์พระพุทธ ไม่หยุดเลย”
Secret Box
“ธรรม” สามารถแก้ปัญหาของโลกได้
ทุกปัญหา ทุกชนิด ทุกระดับ…และทุกกาล
พุทธทาส อินฺทปญฺโญ
เรื่อง พีรภัทร โพธิสารัตนะ / ภาพ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, ฝ่ายภาพอมรินทร์
ขอบคุณข้อมูล จากเว็บไซต์ www.buddhadasa.com หนังสือ “ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส” เนื่องในหนึ่งศตวรรษชาตกาลท่านพุทธทาสภิกขุ รวบรวมโดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
บทความน่าสนใจ
ทำไมพุทธทาสภิกขุถึงปฏิเสธนรก-สวรรค์และการเวียนว่ายตายเกิด
“ทำทานเหมือนการอาบน้ำ” คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ
ความสุขที่แท้จริง ตามหลักท่านพุทธทาสภิกขุ