ทำอย่างไรเมื่อ ลูกสมาธิสั้น และคุณพ่อไม่พร้อมดูแล ….อีกทางเลือกสำหรับคุณแม่ “จะหย่าก็รีบหย่า” บทความชวนคิดจากนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เวลาบ้านไหนมีสุขก็สุขเหมือนๆ กัน เวลาบ้านไหนมีทุกข์ก็ทุกข์ในที่ทางของตัว
คำพูดที่ถูกต้องของวลีนี้คือ “ครอบครัวที่มีความสุขล้วนสุขเหมือนๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีทุกข์ ย่อมทุกข์ตามวิถีของตน” เป็นประโยคแรกของบทหนึ่งในหนังสือ อันนา คาเรนินา ของ เลียฟ ตอลสตอย แปลโดย สดใส
ตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ไม่รู้เรื่องเลย เมื่อมาอ่านครั้งที่สองจึงรู้เรื่องมากขึ้น
หมายความว่าแบบนี้ครับ
ยังไงชีวิตของพวกเราก็มีทุกข์ อันที่จริงประโยคอะไรแบบนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว พวกเราไม่เข้าใจเอง
จะแต่งงานก็มีทุกข์ จะไม่แต่งงานก็มีทุกข์ คนที่ไม่แต่งงานมักบ่นว่า จะไม่มีคนเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า แต่ที่จริงแล้วพวกที่แต่งงานก็ไม่มีคนเลี้ยงดูยามแก่เฒ่าเหมือนกัน ผัวทิ้ง เมียหนี ลูกๆ ไปทำงานคนละทิศละทาง ส่งเงินมาให้บ้างไม่ให้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เอาหลานมาทิ้งไว้ให้เลี้ยงต่อเสียมากกว่า
จะมีลูกก็มีทุกข์ จะไม่มีลูกก็มีทุกข์ คนที่ไม่มีลูกก็มักบ่นว่าตัวเองไม่มีลูก ชีวิตจึงเป็นเช่นนี้ ซึ่งไม่จริงเลย ชีวิตของครอบครัวที่ไม่มีลูกจะสุขจะทุกข์ขึ้นกับผู้ชายเป็นสำคัญ ถ้าผู้ชายไม่ถือสาเรื่องไม่มีบุตรสืบสกุลและรักคนที่เคยรักมั่นคง ก็จะทำให้ชีวิตสมรสมีชีวิตชีวาได้เสมอ
คนมีลูกในประเทศไทยที่มีระบบการศึกษาน่ากลัวมากเท่านี้ พูดจริงๆ ว่าไม่มีเสียจะดีกว่า
จะมีลูกดีก็มีทุกข์ มีลูกไม่เหมือนคนอื่นก็มีทุกข์ เรื่องนี้เป็นจริงอย่างที่สุด ครอบครัวที่ว่ามีลูกดี รับรองได้ว่าไม่มีใครดีแต่เกิดโดยปราศจากปัญหา ครอบครัวเหล่านั้นก็มีทุกข์ในที่ทางของตัวที่ต้องแก้ไข กว่าจะทำให้ลูกเป็นเด็กดี เรียนอะไรก็ได้ดั่งใจมิใช่เรื่องหมูๆ ยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขามากมายนัก ส่วนครอบครัวที่มีลูกไม่เหมือนคนอื่น ก็น้ำตาเช็ดหัวเข่าไปเรื่อยๆ ชั่วนาตาปี
ที่ว่าน้ำตาเช็ดหัวเข่า เพราะลูกเรียนอะไรก็ไม่ได้ เอาอะไรก็ไม่เอา หนักกว่านี้คือเกกมะเหรกเกเร หากเป็นหญิงก็เปลี่ยนชายไม่เลือกหน้า เหล้ายาบุหรี่กาวเอาทั้งนั้น ครอบครัวไทยประสบปัญหาเหล่านี้มากกว่ามาก
ไม่มีใครอยากได้ลูกที่ถูกเรียกว่าเด็กพิเศษ แต่ว่าเวลาผมทำงานหลายๆ ครั้งที่ผมนึกเสมอว่า ระหว่างลูกที่เป็นเด็กพิเศษกับลูกติดกาวถูกตำรวจจับ จะเอาแบบไหน
ห้ามตอบว่าไม่เอาทั้งสองอย่าง เพราะอะไรรู้มั้ยครับ เพราะเวลาบ้านไหนมีสุขก็สุขเหมือนๆ กัน เวลาบ้านไหนมีทุกข์ก็ทุกข์ในที่ทางของตัว ประเด็นคือเราเลือกไม่ได้หรอกครับ จะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน จะมีลูกหรือไม่มีลูก จะมีลูกแบบไหน เราก็จะเลือกมีทุกข์ในที่ทางของตัวได้ทั้งนั้น
ถ้าอยากจะมีทุกข์ คนเราเลือกที่จะมีได้ทั้งนั้นตามแบบฉบับที่ตนเองชอบ เรียกว่าทุกข์เลือกได้
ความสุขเสียอีกล้วนเหมือนๆ กัน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ ปัญหามักเกิดกับคนเป็นพ่อมากกว่าคนเป็นแม่ เกิดแก่สามีมากกว่าภรรยา และเกิดแก่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผมพบว่า บ้านที่ประคองตัวผ่านวิกฤติเมื่อพบว่าลูกเป็นเด็กพิเศษได้ดีคือบ้านที่พ่อบ้านยอมรับความจริง เอาจริงเอาจัง และสู้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่มีคำว่าถอย บ้านที่เละคือบ้านที่คนเป็นพ่อยอมแพ้
แทนที่จะยอมรับ กลับยอมแพ้คนเป็นแม่ไม่มีคำว่าถอยอยู่แล้ว
ที่ว่าพ่อบ้านสู้ทุกอย่างหมายถึงทุกอย่างจริงๆ เรื่องสำคัญที่สุดของทุกอย่างนั้นคือทำให้ภรรยามีความสุข ทำได้หรือเปล่า ถ้าทำไม่ได้ให้รีบตัดสินใจเลิก อย่าอยู่เป็นภาระของภรรยาอีกต่อไปเลย เพราะภรรยาจะต้องมีภาระหนักคือช่วยเหลือลูกซึ่งเป็นเด็กพิเศษของเรา
ข้อแรกและสำคัญที่สุดคือคุณพ่อต้องดูแลคุณแม่ สามีต้องดูแลภรรยา ทำให้เขามีความสุขให้ได้ ทั้งความสุขในชีวิตสมรส ในงานการหน้าที่ที่มีเงินเดือนตอบแทน ในการงานหน้าที่ฐานะแม่บ้าน รวมทั้งในฐานะที่เป็นแม่ของลูกซึ่งนับจากนี้ไปต้องพบหมอ พบนักบำบัด พบครู เดินทางไปนั่นนี่เพื่อลูก เจรจาต่อรองนี่นั่นเพื่อลูก ทั้งการเลี้ยงดู การศึกษาพิเศษ สิทธิที่พึงมี รวมทั้งสวัสดิการสังคมที่พึงได้ สารพัดสารเพร้อยแปดพันเก้าที่คุณแม่ต้องทำ
รวมทั้งทุกข์ในใจที่คุณแม่ต้องจัดการ
คนที่เป็นภรรยากำลังจะเดือดร้อนแสนสาหัส คนที่ครั้งหนึ่งเราเคยจีบและรักหมดใจหมดตัวกำลังจะประสบเหตุครั้งใหญ่ คุณพ่อ คุณสามีหรือคุณผู้ชายจะทำอะไรและอย่างไร จะช่วยหรือไม่ช่วยให้รีบตัดสินใจ ถ้าจะช่วยก็แปลว่าต้องช่วยโดยไม่มีเงื่อนไข นับแต่นี้ชีวิตเป็นของภรรยาและลูกซึ่งเป็นเด็กพิเศษ ทำได้หรือไม่
แท้จริงแล้ว ชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งจะมีความหมายอะไร ถ้าไม่ทำอะไรแก่หญิงที่ตนเองเคยบอกรัก
ถ้าไม่ทำ ขอให้ถอยไปไกลๆ คุณแม่จะได้ทุ่มพลังเพื่อลูกและตนเอง ไม่ต้องมีผู้ชายคนหนึ่งมากวนใจให้เสียเวลา
ขอบคุณบทความ จะหย่าก็รีบหย่า ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ทำอย่างไร เมื่อเจ้าตัวเล็กสมาธิสั้น” เขียนโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หากคุณพ่อคุณแม่มีเจ้าตัวเล็กที่เป็นสมาธิสั้น หรือคุณแม่ที่อยู่ในระหว่างเตรียมตั้งครรภ์และอยากป้องกันไม่ให้ลูกสมาธิสั้น สามารถค้นหาคำตอบ ศึกษาขั้นตอนดูแลรักษา พัฒนาลูกสู่สังคมได้ ในหนังสือ “ทำอย่างไร เมื่อเจ้าตัวเล็กสมาธิสั้น” เขียน โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (จิตแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้ปกครองและเด็กสมาธิสั้นมาอย่างยาวนาน) สำนักพิมพ์ Amarin Baby&Kids แพรวเพื่อนเด็ก