สีสันชีวิตย่านเก่า

สีสันชีวิตย่านเก่า สัมผัสได้ที่บางลำพู

สีสันชีวิตย่านเก่า สัมผัสได้ที่บางลำพู

หลายคนอาจเคยสงสัยว่าย่านเก่าแห่งนี้สะกดอย่างไหนกันแน่นะ “บางลำภู” หรือ “บางลำพู” เพราะเดี๋ยวๆ มองไปทางขวาเห็นป้ายของร้านรวงเขียนว่า “บางลำภู” แต่พอมองไปทางซ้ายดันไปสะดุดตากับ “พิพิธบางลำพู”

พี่ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ บอกกับเราว่าต้องเรียกว่า “บางลำพู” เพราะแต่ก่อนตรงปากน้ำบริเวณป้อมพระสุเมรุมีต้นลำพูมากมาย จึงเป็นที่มาของชื่อย่านนี้

พูดถึงบางลำพูในปัจจุบันหลายคนอาจนึกถึงท่าพระอาทิตย์ หรือทางเชื่อมไปถนนข้าวสาร แต่วันนี้เราขอพาทุกคนย้อนอดีตกลับไปสัมผัสกับวิถีเก่าของชาวบ้านย่านบางลำพูกัน

ถ้าจะบอกว่าสีสันของวิถีชีวิตสามารถสัมผัสได้ในย่านบางลำพูคงจะไม่ผิดนัก เนื่องจากบางลำพูเป็นย่านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุเป็นถนนสายหลัก เป็นที่ตั้งของวังหลายแห่งของพระราชโอรสและเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 4 รวมไปถึงเป็นแหล่งการค้า การท่องเที่ยว และศาสนสถานสำคัญมากมาย

 

ป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการ

ป้อมพระสุเมรุเป็น 1 ใน 2 ป้อมรอบกรุงรัตนโกสินทร์ที่เหลืออยู่ ซึ่งไม่เคยใช้ในการรบจริงๆ ใช้แต่เพียงป้องกันพระนคร บริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ “สวนสันติชัยปราการ” พื้นที่สวนสาธารณะที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู บริเวณสวนนั้นร่มรื่นด้วยต้นไม้ และสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของคุ้งน้ำเจ้าพระยาและสะพานพระราม 8 ได้อีกด้วย ในวันสำคัญๆ อย่างวันลอยกระทงประชาชนก็มาร่วมจัดกันที่นี่ หรือมารอชมขบวนพยุหะยาตราก็ได้เช่นกัน

มูลนิธิดุริยประณีต

แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมด้านดนตรีไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินกิจกรรมในการอนุรักษ์ พัฒนา สืบทอด เผยแพร่การดนตรีและนาฏศิลป์ไทยตามเจตนารมณ์เดิมของบรรพบุรุษ ที่ได้ถวายงานให้กับเจ้านายในราชวงศ์จักรีมาอย่างยาวนาน

มูลนิธิฯ มีวิสัยทัศน์ที่ว่า “สร้างนักร้องนักดนตรีขึ้นมามากเท่าใดย่อมสร้างนักฟังดนตรีไทยผู้รู้ลึกฟังเป็นมากขึ้นพร้อมกัน ทั้งจะช่วยต่อยอดทอดให้ดนตรีไทยสืบช่วงยาวไกลออกไปด้วย”

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

เดิมชื่อ วัดใหม่  เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลังสมัยกรุงศรีอยุธยา  เป็นวัดในธรรมยุติกนิกาย ที่รัชกาลที่ 4 ตั้งขึ้นใหม่เพื่อฟื้นฟูการสั่งสอนพระพุทธศาสนา และการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เนื่องจากพระสงฆ์ในสมัยนั้นค่อนข้างหย่อนยานในวินัยสงฆ์ แผนผังของวัดเป็นแบบแนวแกนเดี่ยวคือพระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร อยู่ในระนาบเดียวกัน เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีมาจำพรรษามากที่สุดถึง 5 พระองค์ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมปริศนาธรรมฝีมือของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเป็นภาพฝรั่งและบ้านเมืองแบบยุโรป

 

ร้านไทยนคร

ร้านรับทำเครื่องถมทองถมเงินแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ สินค้าของที่นี่เป็นงานฝีมือ แต่ละชิ้นใช้ระยะเวลาในการทำ
ค่อนข้างนาน อย่างช้างเชือกนี้ใช้เวลาทำถึง 6 เดือน เป็นศิลปะแบบถมนคร (นครศรีธรรมราช) มีช่างประจำอยู่ 6 คนและรับงานจากช่างอื่นๆ ที่เป็นฟรีแลนซ์อีก 10 กว่าคน

คุณลุงชูชาติ ไทยกัลปพฤกษ์ วัย 78 ปี เป็นช่างทำเครื่องถมมา 50 กว่าปีแล้ว กระบวนการสำหรับการทำเครื่องถมมีหลายขั้นตอน อาทิ ผสมโลหะ หลอมโลหะ ขึ้นรูป เขียนลาย แกะสลักลาย ลงถม ขัด ประกอบ ฯลฯ คุณลุงบอกว่า ช่างแต่ละคนก็มีความถนัดแตกต่างกัน อย่างคุณลุงเคยทำตำแหน่งลงยาสีมาก่อน แต่ในปัจจุบันมาเป็นช่างประกอบ

พิพิธบางลำพู

บางลำพูในอดีตเคยมีสินค้าภูมิปัญญาพื้นบ้านกระจายอยู่ทั่วไป ที่มาวันนี้หากอยากเห็นความรุ่งโรจน์ก็ทำได้เพียงเข้าไปเยี่ยมชมในพิพิธบางลำพู ที่จำลองร้านค้าสมัยก่อนให้ได้ชมกัน อาทิ ผลิตภัณฑ์ใบลานของร้านลานทอง งานทองเหลืองแม่ทองคำ ห้างแผ่นเสียง ต.เง็กชวน ร้านรองเท้าแก้วฟ้า ฯลฯ

ขุมทรัพย์บางลำพูไม่ใช่วัตถุหรือสิ่งของ แต่คือความทรงจำและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่ผ่านมาของชาวบางลำพู
น่าภูมิใจแทนหากศิลปะหลากหลายแขนงจะมีผู้สืบทอดให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้เห็นเหมือนอย่างเรา

ขอบคุณเคทีซี

 

บทความที่น่าสนใจ

เที่ยว “เมืองคอน” ชมความแน่นแฟ้นวัฒนธรรมเก่าแก่ และมนต์เสน่ห์แห่ง 3 อำเภอ

ศิลาโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชนบท ไม่ไกลเมืองขอนแก่น

เยือนโบสถ์พุทธกลิ่นอายฝรั่ง ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.