“สรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่” สืบสานวัฒนธรรม สงกรานต์มอญ เที่ยวสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
วันสงกรานต์ เราก็มักจะทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อพระเจดีย์ทราย รวมไปถึงการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เราเคารพรัก และอาจพักผ่อนคลายร้อนด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ หรือท่องเที่ยวพักร้อน สงกรานต์ปีนี้ Goodlifeupdate จะพาทุกคนไป เที่ยวสังขละบุรี อำเภอเล็กๆ ที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ประเพณีที่เก่าแก่น่าอนุรักษ์ สัมผัสกับความงามทางธรรมชาติแห่งแดนตะวันตก
” สังขละบุรี “
แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่ น้ำตก ดินแดนแห่งวัฒนธรรมสามเชื้อชาติ สะพานไม้ ด่านเจดีย์ นทีสามประสบ มรดกทุ่งใหญ่ ไทย กระเหรี่ยง รามัญ สารพันธรรมชาติ อภิวาทหลวงพ่ออุตตมะ เมืองสังขละชายแดน สุดแคว้นตะวันตก
::: พิธีสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ ที่ วัดศรีสุวรรณ :::
หลายคนอาจจะเคยสรงน้ำพระด้วยการถือขันเงินขันทอง นำน้ำอบน้ำปรุงไปราดรดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แต่ที่สังขละบุรีแห่งนี้ มีพิธีสรงน้ำพระที่ไม่เหมือนใคร และเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ใครๆ ต่างต้องหาโอกาสแวะเวียนมาสัมผัสด้วยตนเองให้ได้สักครั้ง
นั่นคือ “การสรงน้ำพระผ่านรางกระบอกไม้ไผ่” แค่ชื่อก็ฟังดูน่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ
ด้วยการนำกระบอกไม้ไผ่หรือท่อน้ำยาวๆ มาเรียงต่อกันเป็นรางน้ำ แยกเป็นหลายรางก่อนที่นำมารวมกันตรงกลาง เมื่อชาวบ้านนำนำมารินรดลงในราง น้ำก็จะไหลมารวมเป็นรางเดียวกัน พระสงฆ์ท่านก็จะเดินมานั่งตรงกลางที่ปลายราง เพื่อสรงน้ำที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันรินรดลงมาตามราง
เมื่อท่านสรงน้ำเสร็จ ก็ถึงเวลาของพิธีกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการที่ผู้คนที่พร้อมใจกันนอนเรียงรายต่อๆ กันให้พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลังด้วยแรงศรัทธา
ที่มาของประเพณีนี้ เกิดจากพุทธชาดกตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นดาบส ชื่อ สุเมธดาบส ในยุคของพระพุทธเจ้าทีปังกร
สุเมธดาบสได้ลงนอนราบกับพื้นโคลนเลนให้พระพุทธเจ้าเดินเหยียบไปบนหลัง เพื่อไม่ให้เท้าของพระองค์ต้องเปื้อนโคลน พร้อมกับตั้งจิตปรารถนาอธิษฐานขอให้ตนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
พระพุทธเจ้าทีปังกรก็พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตข้างหน้าสี่อสงไขยกำไรแสนกัป เธอจะเป็นพระพุทธเจ้าชื่อว่า โคดม
จึงเกิดเป็นความเชื่อว่าการอุทิศตนให้พระสงฆ์เดินเหยียบหลังเป็นการแสดงความเคารพ ศรัทธา และเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง
::: ก่อพระเจดีย์ทราย :::
หลังจากทำพิธีสรงน้ำพระเรียบร้อยแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านก็จะร่วมกันก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อเป็นสิริมงคลและสะเดาะเคราะห์ อุปกรณ์สำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในการประดิษฐ์ขึ้นมา นั่งก็คือ ธงสะเดาะเคราะห์ ซึ่งทำจากไม้ไผ่เหลาจนเรียวตรง ติดไม้ระกำไว้ที่ปลาย และติดธงกระดาษสีสันสดใสเอาไว้อย่างสวยงาม
สาเหตุที่ต้องเลือกใช้ไม้ระกำ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ นำความทุกข์ระกำไจออกไป ต้อนรับปีใหม่ที่สดใส
ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคกลาง และ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)
บทความที่น่าสนใจ
เที่ยวให้ได้ความรู้กับ 3 โครงการหลวงที่จังหวัดกาญจนบุรี
ทำไมต้องขนทรายเข้าวัด และก่อพระเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์