ครั้งแรกที่ พอล บาร์ตัน เล่นเปียโนให้ช้างฟัง ช้างพลายชราตาบอดชื่อ ปลาร้า ขยับเข้ามาอยู่ใกล้เปียโนที่สุด ปลาร้าเป็นหนึ่งในช้างที่อาศัยอยู่ที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี (บ้าน ช.ช้างชรา) สถานที่พักพิงของช้างชรา ช้างที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ช้างที่ถูกทารุณ ช้างเร่ร่อน หรือช้างด้อยโอกาสที่ไม่สามารถทำงานตามปางช้างได้ ซึ่งพอลตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัครที่นี่ ดนตรีบำบัดช้าง
พอลเล่าเหตุการณ์วันนั้นว่า ปลาร้ากำลังกินหญ้าบาน่าเป็นอาหารเช้าอย่างเพลิดเพลิน แต่เมื่อได้ยินเสียงดนตรีเป็นครั้งแรก ปลาร้าหยุดกินทันที มันยืนนิ่งไม่ขยับปล่อยให้หญ้าห้อยคาอยู่ที่ปากอย่างนั้นจนกระทั่งจบเพลง
พอลกลับไปอีกพร้อมเปียโน และอยู่ต่ออีกยาว ในเวลานั้นยังไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก เขาจึงสามารถใช้เวลาตามลำพังอยู่กับปลาร้าและช้างอื่น ๆ ได้ครั้งละนาน ๆ ในแต่ละวัน ปลาร้าชอบเพลงคลาสสิกทำนองช้า ๆ มาก และทุกครั้งที่เขาเล่นเปียโนหรือเป่าขลุ่ย ปลาร้าจะม้วนงวงใส่ปากไว้อย่างนั้นจนกระทั่งเพลงจบ
***พอลเป่าขลุ่ยให้ปลาร้าฟัง***
ตอนที่ปลาร้าล้มและจากไปอย่างไม่มีวันกลับ พอลเสียใจมาก เจ้าของคนเก่าของปลาร้าตัดงาเอาไปขาย ทำให้มีการติดเชื้อ ถึงแม้คณะสัตวแพทย์ของศูนย์ฯจะพยายามรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ปลาร้าก็จากโลกนี้ไป
ย้อนไปเมื่อ 23 ปีที่แล้ว พอล บาร์ตัน (Paul Barton) ซึ่งเป็นนักเปียโนชาวอังกฤษได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อสอนเปียโนที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน แต่เมื่อเขาได้พบกับ ขวัญ ประติมากรชาวไทยซึ่งเป็นคนรักสัตว์ ทั้งสองก็แต่งงานกันและตัดสินใจสร้างครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย
ครั้งแรกที่พอลได้รู้จักศูนย์อนุรักษ์ช้างแห่งนี้ เขาเกิดความคิดว่าอยากจะทำอะไรให้ที่นี่มากกว่าแค่มาเที่ยวชมเฉย ๆ
ตอนนั้นพอลเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ช้างวัยชราเหล่านี้จะชอบฟังเพลงคลาสสิกช้า ๆ เนิบ ๆ หรือไม่ เขาจึงถามเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯว่า เขาจะนำเปียโนของตัวเองมาเล่นให้ช้างฟังได้ไหม ซึ่งทางศูนย์ฯก็ไม่ปฏิเสธ
ในไม่ช้าพอลก็กลายเป็นแขกขาประจำ เขาจะนั่งลงที่ม้านั่งเล่นเพลงของ ชูเบิร์ต โชแปง และบีโธเฟน พร้อมกับสังเกตปฏิกิริยาของช้างแต่ละเชือกที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ควาญช้างกังวลอยู่เหมือนกัน
ประสบการณ์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของพอลคือ การเล่นเปียโนให้ช้างเกเรตาบอดตัวใหญ่ชื่อ ร่มไทร ฟังในคืนหนึ่ง ร่มไทรเป็นช้างที่ควาญจะคอยกันให้อยู่ห่างคนเนื่องจากพละกำลังและอารมณ์ขี้ฉุนเฉียว ดังนั้นการที่พอลและเปียโนได้อยู่ใกล้ชิดร่มไทรภายใต้ดวงจันทร์และดวงดาว และบรรเลงเพลงให้ร่มไทรฟังจึงเป็นสิ่งที่พิเศษมาก พอลบอกว่า ดูจากปฏิกิริยาของร่มไทรแล้วแสดงว่าชอบฟังเพลงที่เขาเล่น ร่มไทรจึงไว้ชีวิตเขา
พอลยอมรับว่า การอยู่กับช้างเกเร ทำให้เขาตระหนักดีว่าอาจถูกทำร้ายถึงชีวิตได้ทุกเวลา ซึ่งควาญช้างก็รู้ดีและเป็นห่วงเขาไม่น้อย เท่าที่ผ่านมาเขาสังเกตว่า ช้างที่ดุและอันตรายจะมีปฏิกิริยากับเพลงคลาสสิกท่วงทำนองช้า ๆ ดูเหมือนว่าเพลงแนวนี้จะทำให้ช้างสงบลงได้
ช้างแต่ละเชือกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับเพลงของพอลแตกต่างกันไป และความสัมพันธ์ระหว่างพอลกับช้างแต่ละเชือกก็ต่างกัน พอลบอกว่า ความผูกพันระหว่างเขากับปลาร้า ช้างเชือกแรก ยังคงเป็นประสบการณ์ที่มหัศจรรย์ที่สุดของเขา
พอลได้เรียนรู้วิธีสร้างความประทับใจแรกให้กับช้างคือ ถ้าอยากเป็นเพื่อนกับช้าง ครั้งแรกที่เจอกัน เอากล้วยให้กิน ช้างจะจดจำกลิ่นของเรา และครั้งต่อไปที่เจอกันช้างจะคิดว่าเราเป็นเพื่อน
เคยมีคนบอกพอลว่า ช้างสามารถได้กลิ่นความกลัว
พอลประสบกับตัวเองในกรณีของช้างเกเรตัวใหญ่ชื่อ ชัยชนะ ซึ่งยื่นงวงข้ามเปียโนมาดมกลิ่นฟุดฟิดทั่วศีรษะของเขาขณะที่เขากำลังเล่นเปียโนให้ฟัง ทุกครั้งเวลาเล่นเปียโนให้ช้างฟังพอลจะรู้สึกสงบและมีความสุข วินาทีนั้นขณะที่งวงวนเวียนอยู่ใกล้ใบหน้า พอลก็คิดว่าชัยชนะคงรับรู้ได้ว่าเขาไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ หรือบางทีชัยชนะอาจได้กลิ่นคนอื่นที่คุ้นเคยติดอยู่บนตัวเขาก็ได้
***พอลเล่นดนตรีให้ชัยชนะฟังตอนกินมื้อเช้า***
ในความเห็นของพอล ช้างเป็นสัตว์ป่าที่เรียบง่าย เขาหวังให้ช้างทุกเชือกได้กลับไปอยู่ในป่าอย่างที่ควรจะเป็น เขายอมรับว่ายังมีช้างอีกมากในเมืองไทยที่เชื่องและถูกกักขังเอาไว้ ซึ่งเขาเข้าใจสถานการณ์ดี ทุกคนที่ศูนย์ฯพยายามทำให้ชีวิตของช้างเหล่านี้ดีขึ้นเท่าที่ทำได้ ช้างเป็นสัตว์ที่มีอารมณ์อ่อนไหว เขาเพียงแต่ใช้สัญชาตญาณบรรเลงเพลงคลาสสิกให้ช้างฟัง โดยเน้นที่ช้างตาบอด เขาพยายามทำเท่าที่ทำได้และเรียนรู้ไปพร้อมกัน ดนตรีบำบัดช้าง
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ พอลพบว่าเพลงเปียโนท่วงทำนองช้า ๆ จะช่วยให้ช้างเกเรที่อันตราย สงบได้มากที่สุด บางครั้งเพลงที่นุ่มนวลก็สามารถดึงความสนใจและช่วยให้ช้างตาบอดคลายเครียดได้
พอลบอกว่า เขามีความสุขกับช้างเหล่านี้ และจะยังใช้ดนตรีขับกล่อมช้างตาบอดต่อไป
ที่มา mnn.com, coconuts.co
เรียบเรียง ชนาฉัตร
บทความน่าสนใจ