ยิ่งทำ ยิ่งดี ยิ่งให้ ยิ่งได้ มุมมองความคิดของ เทวินทร์ วงศ์วานิช

ยิ่งทำ ยิ่งดี ยิ่งให้ ยิ่งได้

มุมมองความคิดของ เทวินทร์ วงศ์วานิช

ซีอีโอคนใหม่ของ ปตท.

เรื่อง ปถวิกา 

ภาพ วรวุฒิ วิชาธร 

สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

 

กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติแต่งตั้ง คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนผู้บริหารท่านก่อนที่หมดวาระไป เขานับเป็นลูกหม้อที่ทำงานกับ ปตท. มาอย่างยาวนาน

“หลังจากเรียนจบ ผมเข้าทำงานที่บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด เป็นวิศวกรทำงานออฟชอร์ (offshore) ในอ่าวไทยทำได้ 4 - 5 ปีก็ย้ายมาทำงานที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการและยังใหม่สำหรับคนไทย โดยเฉพาะด้านโอเปอเรชั่น ทำไปได้ 10 กว่าปี ทาง  ปตท.ก็มีนโยบายที่จะดึงผู้บริหารจากบริษัทในกลุ่มเข้ามาเรียนรู้งานใน ปตท. ให้มีหน้างานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น”

เป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่เขาสั่งสมความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านงานพลังงานจนก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆจนถึงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ก่อนได้รับเลือกเป็นซีอีโอ ปตท. ในปัจจุบัน

ในฐานะผู้บริหารที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาตามประสบการณ์ สายงาน และอายุงานเขามีหลักคิดในการทำงานว่า

“ช่วงทำงานแรก ๆ เวลาเจอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มักรู้สึกว่า ทำไมต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ด้วย  แต่หลังจากทำงานไปได้สักพักถึงรู้ว่าโชคดีที่ได้เจอปัญหา โชคดีที่ได้เจออุปสรรค  เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้ได้ฝึกฝน ผมมักสอนน้อง ๆ เสมอว่า เวลาเจอปัญหาอย่าไปกลัว ยิ่งเจอปัญหามากยิ่งเก่งเร็ว

“จนตอนหลังมีคนเอาคำพูดผมไปทำป้ายไฟว่า ‘งานยาก งานยุ่ง งานเยอะถือว่ามีบุญ’ ซึ่งก็จริงนะ เพราะการที่เจอแบบนี้ทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์ ช่วยให้เราเก่งขึ้น บุญก็กลับมาที่ตัวเรา และสิ่งที่ ปตท.ทำก็คือทำให้กับประเทศชาติโดยรวมจริง ๆ”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าเรื่องที่ยากที่สุดในการทำงานคือ การบริหารคน

“ถ้าเป็นปัญหาด้านเทคนิคหรือเนื้องานแล้วมองไม่เห็นทางออก ก็เข้าใจได้ว่ามันไม่มีทางออก ก็ต้องหาทางอื่น เช่น เราต้องการลงทุนในธุรกิจหนึ่ง ทั้งศึกษาหาข้อมูล ประชุมเจรจากันหลายครั้ง แต่สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ มันก็คือตกลงกันไม่ได้ หรือบริษัทต้องส่งข้อเสนอไปแข่งกับบริษัทอื่น ๆ ในการขอพื้นที่ ขอซื้อกิจการถ้าทำเต็มที่แล้วแต่ไม่ได้ก็ต้องยอมรับสภาพว่ามันเป็นไปไม่ได้ คือ ละ วาง อย่าไปยึดติดมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดทุกข์

“ในขณะที่การบริหารคน ผมเรียกว่าเป็นความท้าทาย เพราะไม่ได้มีวิธีแก้ปัญหาด้วยเหตุผลอย่างเดียว แต่ละคนก็จะมีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป และบางครั้งไม่ว่าจะใช้ความพยายามเต็มที่อย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะจบได้

“สำหรับวิธีบริหารจัดการของผมอย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่เราต้องบริหารจัดการเป็นคนอย่างไร เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเปรียบคนเหมือนบัวสี่เหล่าถ้าเป็น คนที่มีลักษณะเหมือนบัวเหนือน้ำเป็นคนมีปัญญา มีความรู้ มีเหตุผล แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรมากเลย คอยดูอยู่ห่าง ๆก็พอ ถ้าเขาเริ่มแกว่งไปนิด พลาดไปหน่อยค่อยเข้าไปเตือน

“ส่วนคนที่มีลักษณะเป็นบัวปริ่มน้ำก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะช่วยให้เขาพ้นน้ำขึ้นมาได้ อาจต้องดูแลแนะนำใกล้ชิดกว่าคนกลุ่มแรก แต่ไม่ต้องมาก เพราะเขาพร้อมจะขึ้นมาเป็นบัวเหนือน้ำอยู่แล้ว ถ้าแนะนำมากเกินไป เขาก็จะปริ่มอยู่อย่างนั้นไม่ยอมขึ้นมาสักที เหมือนถ้าถูกจูงมือเดินจนเคยชิน เดี๋ยวก็มีคนมาบอกเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่คิดดีกว่า เพราะฉะนั้นต้องให้บัวปริ่มน้ำคิดเอง ทำเอง ลองเอง เพราะเขามีศักยภาพที่จะพัฒนาความสามารถอยู่แล้ว

“สำหรับ คนที่เป็นบัวใต้น้ำ กับ บัวในตมต้องแยกให้ดี ถ้าเป็นบัวใต้น้ำเกือบจะปริ่มน้ำอยู่แล้วก็ไม่ยาก ช่วยเขาอีกนิดเดียวก็จะเปลี่ยนเป็นบัวปริ่มน้ำหรือพ้นน้ำแล้ว แต่บัวใต้น้ำที่อยู่ใกล้ตมหรือบัวในตมอาจต้องสอนเขามากหน่อย และระหว่างนั้นก็ต้องคอยมองดูว่าเขาค่อย ๆ ขยับขึ้นมาเป็นบัวปริ่มน้ำหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องหาวิธีใหม่ ต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมาก บางครั้งต้องคอยสังเกตอารมณ์เขาด้วยว่าเป็นอย่างไรพร้อมจะรับฟังหรือไม่ ใช้เหตุผลอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะอารมณ์คนไม่มีเหตุผลแล้วบางคนก็ใช้แต่อารมณ์ตลอดเวลา

“การบริหารคนผมจะใช้ ความตรงไปตรงมา จะบอกอีกฝ่ายว่าผมรู้สึกอย่างนี้เห็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ถ้าจะหาทางออกของเรื่องด้วยกัน คิดและเปิดใจเข้าหากันดีไหม เพราะผมคิดว่าปัญหาระหว่างคนด้วยกัน หลายอย่างมาจากความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน จึงไม่เปิดใจให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราคิดอย่างไรกับคุณ กลัวคุณตรงไหน อยากให้ทำอะไรก็ไม่บอกตรง ๆ อ้อมไปอ้อมมาก็ไม่เข้าใจกันสักที วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือเปิดใจ ถ้าทำได้ ผมคิดว่ามีโอกาสจบได้”

gfhrtgfhftg

ธรรมะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของคุณเทวินทร์ไม่น้อย

“ผมเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ถ้าถามว่าเข้าวัดฟังธรรมบ่อยหรือเปล่า ต้องบอกตรง ๆ ว่าน้อย เพราะไม่ค่อยมีเวลาแต่จะใช้ปัญญาคิดเรื่องธรรมะที่เคยได้ยินได้ฟังมา อย่างเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วให้ละกิเลสเรื่องตัวกูของกู ถ้าฟังโดยไม่ได้คิด

ก็จะผ่านไป แต่ถ้าเก็บมาคิดก็ใช่เลย หากเราสามารถลดกิเลส ลดความเป็นตัวตนก็เท่ากับลดความเครียด ความทุกข์ให้น้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง

“ตั้งแต่เด็ก ผมได้รับการสั่งสอนมาว่าการได้เรียนรู้ธรรมะเป็นเรื่องดี และได้สร้างกุศลให้พ่อแม่ แต่ไม่มีโอกาสได้บวชพอเรียนจบในเมืองไทยสักพักก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาก็ทำงานแล้วก็ยุ่งมาตลอด จึงไม่ได้บวชสักที ผมก็คิดมาตลอดว่ายังไม่ได้บวชให้คุณแม่เลย”

 

แต่ในที่สุดเขาก็ได้ทำตามที่เคยตั้งใจเอาไว้

“หลักสูตรอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษาทุกปีจะพาไปสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียโดยมีผู้ช่วยผู้พิพากษาบวชด้วย ซึ่ง ปตท.สนับสนุนโครงการนี้ ตอนนั้นเป็นซีเอฟโอที่ปตท. ได้ไปพบกับท่านเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งท่านเลขาธิการฯบอกว่าคราวนี้มีผู้ช่วยผู้พิพากษาบวชถึง 130 คนถ้า ปตท. สนใจส่งคนมาบวชด้วยก็ได้ ให้ปตท. 1 คน กระทรวงพลังงาน 1 คน ผมนึกในใจว่าอยากบวชมาก เพราะอยากบวชที่พุทธคยา จึงบอกท่านไปว่า ผมอยากบวชแต่ขอไปเคลียร์เรื่องงานก่อน จึงถือเป็นบุญอย่างยิ่งในชีวิตที่อยากบวช แล้วยังได้ไปบวชในดินแดนพุทธภูมิอีกด้วย

“ผมบวชแค่ 7 วัน  ต้องบอกว่าได้ศึกษาธรรมะน้อยมาก เพราะระหว่างนั้นก็ตระเวนไปตามสังเวชนียสถานต่าง ๆแต่สวดมนต์เยอะมาก สวดบทอิติปิโสฯประมาณสองร้อยกว่าจบ อย่างไรก็ตามการได้ไปในดินแดนพุทธภูมิทำให้ได้เห็นอะไรหลายอย่าง ทั้งที่พุทธคยา สารนาถลุมพินี และกุสินารา ทุกเมืองเป็นเมืองที่มีคนยากจนเยอะมาก สารนาถอาจดีกว่าเมืองอื่นเล็กน้อย แล้วไปสึกที่เมืองสาวัตถีซึ่งเป็นเมืองเศรษฐี

“ปรกติถ้าผมอยู่เมืองไทย แล้วต้องไปตกระกำลำบากในอินเดีย มันลำบากกว่าอยู่เมืองไทยมาก ความลำบากนั้นคงจะทำให้เราทุกข์มาก เพราะเรามีความคาดหวังว่าความสบายเป็นอย่างไร เราไม่เคยลำบากแบบนั้นมาก่อน ความเป็นอยู่แบบนั้นจึงกลายเป็นความทุกข์ ในขณะที่คนอินเดียเกิดที่นั่น ผมคิดว่าเขาคงไม่สบายกายนักและในใจคงมีความทุกข์อยู่บ้าง แต่ระดับความทุกข์ของเขาคงน้อยกว่าผมซึ่งเคยสบายแล้วต้องไปอยู่ในที่ลำบาก เพราะเขาไม่ได้คาดหวังอะไร

“นั่นทำให้ผมรู้ว่า ความไม่สบายกายเป็นธรรมชาติ แต่ความทุกข์ไม่เป็นธรรมชาติความทุกข์เกิดจากใจเราเอง มันขึ้นอยู่กับว่าเราคิดกับความไม่สบายนั้นอย่างไร ในตอนบวชที่นั่น สภาพแวดล้อมลำบากกว่าตอนเป็นซีเอฟโอ หรือแม้แต่การบวชเป็นพระในเมืองไทย แต่ในใจผมกลับไม่เป็นทุกข์เลยเพราะไม่ได้คาดหวังอะไร คิดแต่ว่าดีใจที่ได้ไปบวชที่นั่น นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ทุกข์จริง ๆเกิดจากใจที่คาดหวังของเราเท่านั้นเอง ซึ่งช่วยผมได้เยอะในการดำเนินชีวิต ทำให้เข้าใจว่าทุกข์เกิดจากใจเราที่ไปคิด ไปคาดหวังทั้งนั้น”

 

016033_0080 (2)

 

แม้หน้าที่ความรับผิดชอบจะมากมายในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กร แต่การได้มีโอกาสออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่เขาพร้อมอยู่เสมอ

“เวลาออกไปทำกิจกรรมกับคนอื่นผมรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ไม่เครียดเพราะไม่ได้คาดหวังอะไร แต่รู้สึกว่าได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เห็นคนอื่นมีความสุข มันทำให้ผมรู้สึกมีความสุขไปด้วยการที่เราไปทำให้เขารื่นเริงสนุกสนาน ก็ทำให้เราอิ่มใจที่ได้ทำ ความสุขมันกลับมาเองอย่างเวลาที่ไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ ได้เห็นว่าตาเขาเป็นประกายมีความสุข เราก็มีความสุขแล้ว

“บางครั้งอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่นขณะขับรถแล้วเราหยุดให้คนข้ามถนน โดยที่เขาไม่คาดว่าเราจะหยุด แค่เขาหันมองแล้วยิ้มให้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เรื่องการบริจาคก็ทำเท่าที่เรามีกำลัง แต่ผมไม่คิดว่าเงินจะซื้อความสุขได้ ทางที่ดีที่สุดคือเวลาให้เงินอย่าไปแต่เงินอย่างเดียว ต้องมีน้ำใจไปด้วย”

 

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวิธีที่สอดคล้องกับปรัชญาของ ปตท. ที่คุณเทวินทร์อธิบายว่า

“ปตท. มีวัฒนธรรมที่สำคัญขององค์กรคือ SPIRIT

S หมายถึง Synergy  

P หมายถึง Performance Excellence  

I หมายถึง Innovation  

R คือ Responsibility  

I  คือ Integrity & Ethics  

T คือ  Trust & Respect 

 

ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยั่งยืน เรามักพูดว่า องค์กรต้องมีทั้งคนดี คนเก่ง แต่ต้องมีคำว่าความรับผิดชอบไปด้วย เก่ง ดีรับผิดชอบ คือโมเดลความยั่งยืน ซึ่งผมคิดว่าพนักงาน ปตท. มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจแล้ว

“การแสดงน้ำใจเสียสละตัวเอง เสียสละเวลาไปลงมือทำเรื่องดี ๆ ให้แก่สังคมเป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อว่า ยิ่งทำ ยิ่งดี ยิ่งให้ ยิ่งได้ยิ่งทำมาก ใจเราก็ยิ่งดี อยากให้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็จะมีความสุขมากขึ้นเรื่อย ๆทุกอย่างก็จะหมุนไปในทางที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคม เพราะทุกวันนี้เราจะเห็นแต่ความไม่ไว้วางใจกัน ความขัดแย้ง การโกหกการหาผลประโยชน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ยิ่งทำ ยิ่งเลว ยิ่งทำ ยิ่งทุกข์

“เราต้องสนับสนุนการเป็นคนดี ความโปร่งใส ไม่ทุจริต ไม่โกง มีน้ำใจ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความไว้วางใจ และไว้วางใจคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น เรื่องพวกนี้ต้องทำกันจริงจัง”

 

ทุกวันนี้หลายคนเริ่มสงสัยว่า กฎแห่งกรรมตามหลักพุทธศาสนาที่ว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ เพราะเห็นบางคนทำดีแทบตาย แต่ไม่ก้าวหน้าไปไหน เพื่อนอีกคนวัน ๆ ไม่ทำงาน วิ่งหาคนโน้นคนนี้ ทำไมโตเร็วนัก

“ผมเชื่อในแนวคิดว่า ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎแห่งกรรม มันไม่ได้มีแค่ชาตินี้มันมีชาติที่แล้วและชาติหน้า เพราะเรายังเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเราตั้งใจทำดีแล้ว อย่าไปหวังผลตอบแทนว่าเราต้องได้ดี ถ้าได้ผลดีในชาตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ถ้าไม่ได้ในชาตินี้ก็สบายใจได้ว่าชาติหน้าเราสบายแล้ว ถ้าชาตินี้ทำดีไปตั้งมากมาย ทำไมมีแต่ความทุกข์แสดงว่าชาติที่แล้วคงทำอะไรไว้และยังใช้กรรมไม่หมด จึงต้องมาใช้ต่อในชาตินี้ถ้าคิดแบบนี้ อย่างน้อยสามารถเดินต่อไปได้โดยไม่ท้อถอยเกินไป จงทำดีต่อไป

“ส่วนคนที่ไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้สังคม แต่ยังได้ดี แสดงว่าเขาทำบุญมาเยอะ ถ้าคิดได้แบบนี้ จะทำให้เราไม่ท้อแท้หรืออิจฉากัน และช่วยให้มีเมตตากับคนอื่นอีกด้วย”

 

ไม่ว่าบุคคลหรือองค์กร หากมีธรรมนำทาง ย่อมนำพาใจเราไปยังจุดหมายปลายทางที่ดีที่เจริญเสมอ 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.