ท่าน ว. วชิรเมธี

Dhamma Daily: ศรัทธาในชีวิต…จำเป็นแค่ไหน ท่าน ว. วชิรเมธี มีคำตอบ

ศรัทธาในชีวิต…จำเป็นแค่ไหน ท่าน ว.วชิรเมธี มีคำตอบ

ถาม : คนเราจำเป็นต้องมีศรัทธาในชีวิตไหม ถ้าหากไม่มีศรัทธา แต่เป็นคนดี จะมีผลต่อชีวิตอย่างไร ท่าน ว. วชิรเมธี

ตอบ : คำว่า “ศรัทธา” ที่ถามมาในที่นี้ ไม่แน่ใจว่าคุณหมายความแค่ไหน ถ้าศรัทธา ในคำถามนี้ หมายถึง การ “เชื่อมั่น” ในอะไรสักอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่คนบางคนเชื่อมั่นในลัทธิทางการเมืองอย่างประชาธิปไตย หรือบางคนเชื่อมั่นในศิลปะอย่างอิมเพรสชั่นนิสม์ หรือเหมือนกับที่คนบางคนเชื่อมั่นพลังของวรรณกรรม เป็นต้น ศรัทธาในฐานะการเชื่อมั่นในพลังของอะไรบางอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนจำเป็นต้องมี เพราะหากไม่มีเลยชีวิตก็คงจะเคว้งคว้างและว่างเปล่า

ศรัทธาที่หมายถึงความเชื่อมั่น เปรียบเหมือนแสงดาวที่คอยส่องทางให้เราทั้ง “รู้ทิศ” (เพื่อจะได้ไม่หลง) และ “รู้ทาง” (เพื่อจะได้มุ่งตรงไปสู่เป้าหมาย)

หากขาดศรัทธา ชีวิตก็จะเปลืองเปล่าไปกับการทำอะไรก็ไม่รู้ที่ตัวเองไม่รัก ทั้งไม่มีความสุขที่จะอยู่กับมันอีกต่างหาก

หากขาดศรัทธาก็มองไม่เห็นว่าเวลาแต่ละวันที่ไหลผ่านไปนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร ชีวิตที่ไม่มีศรัทธาต่ออะไรเลยก็ไม่ต่างอะไรกับกอสวะที่ลอยคว้างไปกับน้ำ ไม่รู้ว่าจะพบกับอะไรระหว่างทาง ไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร

ชีวิตเช่นนี้ นับว่าเป็นชีวิตที่สูญเปล่าโดยแท้ แต่หากศรัทธา หมายถึง การเชื่อมั่นในศาสนาบางศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นต้น แล้วคุณรู้สึกว่าไม่ศรัทธาในศาสนาไหนเลย แต่คุณยังคง “เป็นคนดี” ถ้าเป็นเช่นนี้ ถามว่าจะมีผลลัพธ์ต่อชีวิตอย่างไร ก็คงต้องย้อนถามกลับไปว่า คำว่า “เป็นคนดี” ของคุณมีความหมายแค่ไหน

ถ้าการเป็นคนดีหมายถึง

                การคิดดี

                การพูดดี

                การทำดี

หรือการครองตนเป็นพลเมืองดี ถ้าเป็นอย่างนี้ คุณก็เป็นคนที่ดีคนหนึ่งเหมือนกัน และมองในแง่ที่เป็นเนื้อหาสาระแล้ว ก็แสดงว่าคุณเป็นคนที่มีศาสนากับเขาเหมือนกัน และคุณก็น่าจะเป็นผู้ที่บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีศาสนาอยู่ในโลกด้วย เพราะศาสนาทุกศาสนาย่อมมุ่งหมายให้ศาสนิกของตนเป็นคนดี ถ้าคุณเป็นคนดีอยู่แล้ว แม้ไม่อ้างคำสอนของศาสนาใดเลยคุณก็นับว่าเป็นคนมีศาสนา (เชิงเนื้อหา) ได้เหมือนกัน

ตอนที่ผู้เขียนจาริกเผยแผ่พุทธศาสนาอยู่ในภาคพื้นยุโรป วันหนึ่งที่เวนิส มีฝรั่งคนหนึ่งถามผู้เขียนด้วยคำถามลักษณะนี้ นั่นคือเขาถามว่า

“ผมเป็นคนไม่มีศาสนา ท่านว่าผมเป็นคนใช้ได้ไหม”

ผู้เขียนตอบไปว่า

“คุณจะเป็นคนไม่มีศาสนาก็ได้ แต่คุณจะไม่เป็นคนดีคงไม่ได้”

คำตอบนี้ทำให้ฝรั่งเจ้าของคำถามพอใจมาก กรณีของคุณก็เช่นกัน คุณอาจไม่มีศรัทธาในศาสนาที่เป็นตัวสถาบัน แต่ถ้าคุณจับแก่นของศาสนาได้ แล้วอยู่กับ “แก่น” นั้น ๆ ด้วยการเป็นคนดี คุณก็เป็นคนดีที่น่าสรรเสริญได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า “ศรัทธา” ในความหมายของคุณจะครอบคลุมความหมายแค่ไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่คุณจะต้องมีในชีวิตนี้ก็คือ “การมีชีวิตที่มีคุณค่า” ซึ่งวัดกันง่ายๆ ด้วยหลักการที่ว่า

“ตนเป็นที่พึ่งของตน” และจากนั้นจง “ให้คนอื่นเขาได้พึ่ง”

ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ มีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธาคุณก็เป็นคนที่เข้าท่าคนหนึ่งเลยทีเดียว

 

ที่มา: นิตยสาร Secret

บทความน่าสนใจ

คุณหมอผู้ยึดมั่นในความดี แม้ความตายก็ไม่อาจสั่นคลอนแรงศรัทธา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.