สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19

พระเกียรติคุณของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19

พระเกียรติคุณของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระญาณสังวร รูปที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

เมื่อยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยอยู่เสมอ คราวหนึ่งทรงป่วยหนักขนาดที่ผู้ใหญ่คิดว่าจะไม่หาย จึงได้ไปบนบานว่าหากหายป่วยจะให้บวชแก้บน แล้วพระองค์ก็หายป่วยจริง จึงทรงออกบวชเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ.2469 ต่อมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เริ่มเรียนภาษาบาลีที่วัดเสนหา จังหวัดนครปฐม ก่อนพระอาจารย์นำท่านไปฝากเรียนต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับประทานฉายาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า “สุวฑฺฒโน” เพราะได้ปฏิบัติทุกอย่างตามกฎกติกาของวัด ปีแรกที่ท่านได้ไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านได้ศึกษาปริยัติธรรมและสอบได้นักธรรมชั้นตรีเมื่อพระชนมายุเพียง 17 พรรษา สอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 3 ประโยคในปีถัดมา และเมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ก็สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค นอกจากนี้ยังทรงสอบบาลีต่อขึ้นไปอีกกระทั่งได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา

 

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีพระศาสนกิจสำคัญในต่างประเทศ เช่น จัดให้มีการเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ จัด สอนกรรมฐานแก่ชาวต่างประเทศและจัดให้มีการสนทนาธรรมแก่ชาวต่างประเทศเป็นประจำ นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ ทั้งในด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุขและด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ ทรงจัดสร้างโรงพยาบาล สถานศึกษาและประทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน

พระราชกรณียกิจครั้งสำคัญของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือทรงได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในระหว่างที่ทรงพระผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ.2499

ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเชี่ยวชาญและมีผลงานพระนิพนธ์มาตั้งแต่เป็นพระเปรียญ โดยเป็นเจ้าหน้าที่แผนกตำราของมหามกุฎราชวิทยาลัย และเป็นเจ้าหน้าที่หนังสือธรรมจักษุเป็นต้น ทรงเรียบเรียงเรื่องต่างๆ ไว้มาก บางเรื่องได้พิมพ์ออกเผยแพร่มาแล้วหลายครั้ง พระราชนิพนธ์ ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯที่สำคัญ 5 เรื่องได้แก่ หลักพระพุทธศาสนา (2502) 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า (2504) ลักษณะพระพุทธศาสนา (2526) สัมมาทิฏฐิ (2527) ชีวิตนี้สำคัญนัก (2543)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงปฏิบัติแต่คุณงามความดีมาตลอดชีวิตกระทั่งวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2556 ทรงติดเชื้อในกระแสพระโลหิตและสิ้นพระชนม์ลงท่ามกลางความโศกสลดของพุทธศาสนิกชน สิริรวมแล้วท่านดำรงตำแหน่งพระสังฆราชเป็นเวลา 24 พรรษา เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษาครบ 100 ปี

 

ติดตามอ่านเรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราชอีก 18 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ในคอลัมน์ Special Stories นิตยสาร Secret ฉบับ 179 วันที่10 ธ.ค.2558 ปกสมเด็จพระสังฆราช

Secret Magazine (Thailand)


บทคงวามน่าสนใจ

สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ๒๕๖๑

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.