ทำสมาธิแบบ อานาปานสติภาวนา “ลมหายใจแห่งปัจจุบันขณะ”
อานาปานสติภาวนา คือวิธีพัฒนาสติ สมาธิ ปัญญา ด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด หรืออีกนัยหนึ่งเป็นวิธีนำความจริงของธรรมชาติมาใคร่ครวญพิจารณาอยู่ทุกขณะของลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ตามพุทธประวัติ อานาปานสติเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ตลอดพระชนมชีพ แม้แต่ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ก็ทรงเจริญอานาปานสติเป็นเบื้องแรก
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถานและอาจารย์ผู้สอนอานาปานสติ ยึดหลักการสอนตามพระไตรปิฎกโดยเน้นการผสานหลักการเจริญอานาปานสติภาวนาเข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวัน
หลักสำคัญของการเจริญอานาปานสติคือ การใช้ “ลมหายใจ” เป็นเครื่องมือในการเจริญสติ นั่นคือ การหายใจเข้าและหายใจออกอย่างมีสติในทุกอิริยาบถ แม่ชีศันสนีย์ กล่าวถึงความสำคัญของอานาปานสติในชีวิตประจำวันไว้ว่า
“การเจริญอานาปานาสติต้องไม่ต้องแยกออกจากวิถีชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าไปจนหลับตาเวลานอน หากเราสามารถหายใจอย่างมีสติ ก็ถือว่าอยู่ในกระบวนการของอานาปานสติแล้ว และไม่ว่าจะเคลื่อนตัวยืน เดินนั่ง นอน ขอให้มีใจตั้งมั่น กายอยู่กับจิตจิตอยู่กับงาน หรือมีสิ่งใดมากระทบทางหูตา จมูก ลิ้น กาย หรืออารมณ์กระทบใจก็ขอให้ใจรู้ชัด มองโลกอย่างที่เป็นโดยไม่ต้องปฏิเสธ เพราะการปฏิบัติไม่ใช่เป็นการหนีแต่เป็นการอยู่กับโลกอย่างเข้าใจโลก
“อานาปานสติในวิถีชีวิตประจำวันคือรู้ลมหายใจ เฝ้าดูจิต พิจารณาการเกิดดับของสภาวธรรมนั้น ๆ”
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นฝึกอานาปานสติภาวนาสามารถฝึกกำหนดรู้ลมหายใจได้ดังนี้
หายใจเข้า ก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก ก็รู้ว่าหายใจออก
หายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว
หายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น
หายใจออกสั้น ก็รู้ว่าหายใจออกสั้น
รู้ชัดทุกลมหายใจเข้าออก
หากมีลมหายใจอย่างมีสติ จะรู้ตัวว่าลมหายใจอ่อนโยนและกายเนื้อผ่อนคลาย ขณะที่กายเคลื่อนไหวใจยังตั้งมั่น เห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เห็นความจางคลาย(วิราคะ) ความดับ (นิโรธ)ความสลัดคืนความยึดมั่นถือมั่น (โวสสัคคะ) ในทุกลมหายใจ
หากมีช่วงเวลาที่หลุดจากการกำหนดรู้ลมหายใจก็ต้องให้อภัยตัวเองและตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจอีกครั้ง
ในการดูลมหายใจเข้า - ออกนั้นสามารถพิจารณาได้ทั้ง กาย (กายานุปัสสนาภาวนา) เห็นความไม่เที่ยงของกาย เวทนา (เวทนานุปัสสนาภาวนา) เห็นความไม่เที่ยงของเวทนา จิต (จิตตานุปัสสนาภาวนา) เห็นความไม่เที่ยงของจิต ธรรม(ธัมมานุปัสสนาภาวนา) เห็นความไม่เที่ยงของธรรม ซึ่งถือเป็น 4 หมวด (รวมทั้งหมด16 ขั้น) ของอานาปานสติภาวนา
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต กล่าวถึงอานิสงส์ของอานาปานสติภาวนาว่า
“อานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติคือการอยู่กับโลกอย่างเข้าใจ อยู่กับโลกอย่างเหนือโลก และอยู่กับโลกอย่างพ้นโลก คือพ้นจากทุกข์ แม้จะมีการได้การเสีย ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขมีทุกข์ แต่ผู้ที่มีลมหายใจแห่งสติรู้ทันกายทันใจ จะทำใจเป็นอิสระจากทุกข์ได้และเป็นคนทันสมัย คือเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันขณะ รู้ทันกายรู้ทันใจ ไม่ประมาทในกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แม้ต้องเผชิญความจริงของโลกอย่างไร ใจก็ไม่เป็นทุกข์
“หากทำอานาปานสติเจริญให้มาก ก็ทำให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ โพชฌงค์ 7 ครบองค์ วิชชาและวิมุตติก็ปรากฏขึ้น”
“ลมหายใจคือเพื่อน ลมหายใจคือชีวิต ลมหายใจคืออาวุธอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้เราดำเนินชีวิตด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว”
– แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมที่สอนการปฏิบัติแนวอานาปานสติ
1. เสถียรธรรมสถาน ถนนวัชรพลรามอินทรา 55 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร โทร. 0-2519-1119, 0-2510-6697, 09-1831-2294
2. หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ(สวนโมกข์ กรุงเทพฯ) สวนวชิรเบญจทัศ(สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสายสอง แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครโทร. 0-2936-2800
3. สวนโมกขพลาราม ตำบลเลม็ดอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 0-7743-1661
4. วัดสังฆทาน ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนนทบุรี โทร. 0-2496-1240-42